ไทยบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน ‘ดร.สมคิด’ ชี้ปฏิรูปจะไม่เกิดผล หากคนไร้ศีลธรรม
“สหรัฐฯ เจริญได้เพราะการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์...แต่ของไทยบอกแค่ว่าใครประสบความสำเร็จในชีวิต รวยแค่ไหน เราไปบูชาในสิ่งเหล่านั้น แต่บุคลิกการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ และชาติสำคัญกว่าพรรคควรปลูกฝังตั้งแต่วันนี้..."
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานวันครบรอบ 45 ปี วันพระราชทานนาม ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยในการปาฐกถาเกียรติยศ ศ.นพ.ชัชวาล โอสถานนท์ ครั้งที่ 8 ซึ่งมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาฐกถาพิเศษ ‘ประเทศไทยบนเส้นทางเปลี่ยนผ่าน’
ดร.สมคิด กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ของเมืองไทยขณะนี้คงต้องพูดเรื่องประเทศไทย ในหลายปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับคนไทย บ้างมาจากปัจจัยภายนอก บ้างมาจากปัจจัยภายใน เลยถามตัวเราเองว่าถ้าผมจะบรรยายสภาพประเทศไทยภายใต้ประโยคเพียงประโยคเดียว ผมคิดถึงประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ผมใช้คำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ เพราะว่าโดยปกติแล้วเวลาเรามีการเปลี่ยนแปลง เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งมันจะหยุดนิ่งชั่วระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไป แต่ที่ผมเห็นช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานั้น มันยังไม่ถึงจุดที่จะหยุดนิ่ง แต่มันเป็นช่วงแห่งเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกจุดหนึ่ง
“ในความรู้สึกผมต่อคำว่า ‘เปลี่ยนผ่าน’ ผมมีความรู้สึกว่าในช่วงเวลาเฉพาะทศวรรษที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก ในบางมิติความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะมีมากเกินกว่าความเปลี่ยนแปลง 30-40 ปีที่ผ่านมารวมกัน แต่ภายใต้การเปลี่ยนผ่านอันนี้มีอยู่หลายสิ่ง ซึ่งผมสังเกตเองจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมีความรู้สึกกังวลพอสมควร และใคร่ขออนุญาตหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมากล่าว เผื่อว่าในอนาคตข้างหน้ามหาวิทยาลัยมหิดลอาจจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขในสิ่งที่ผมวิตกกังวลอยู่ขณะนี้”
มิติที่ 1 ด้านเศรษฐกิจ ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และผมมีโอกาสไปร่วมในคณะรัฐบาลและพยายามแก้ไขเหตุการณ์ในขณะนั้น ประเทศเราโชคดีที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจช่วงนั้นมาได้ แต่ประสบการณ์ 6 ปี ในการเมืองขณะนั้น การได้สัมผัสกับกระทรวง ทบวง กรม การที่ได้สัมผัสกับเอกชนที่ค่อนข้างหลากหลาย ผมรู้สึกว่าประเทศไทยในขณะนั้นถึงแม้จะผ่านพ้นวิกฤติมาแล้ว แต่เรามีจุดอ่อนเต็มไปหมดเลย “เหมือนบ้านที่ก่อสร้างมาอย่างดี แต่เสาต่าง ๆ ที่ค้ำจุนมันเริ่มผุกร่อน”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หลายประเทศที่เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจขณะนั้น เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เขาสามารถใช้โอกาสนั้นปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ จนทำให้เกาหลีใต้ก้าวสู่อีกระดับหนึ่งแล้ว หรืออินโดนีเซียจากประเทศที่ยากจนกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของอาเซียน เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงมากที่ต่างชาติมองด้วยความทึ่ง
แต่ประเทศไทยในช่วงนั้นมีวิบากกรรมหลายอย่างที่ตามมา หลังจากฟื้นคืนสภาพเดิมได้ไม่นานก็ต้องเผชิญโรคไข้หวัดนก สึนามิ ตากใบ และในที่สุดก็พบกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2549 ภายหลังการเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนแปลง ความรุนแรงทางการเมืองที่มุ่งเอาชนะทำให้โอกาสที่ประเทศจะมีโอกาสแก้ไขสิทธิปกครองหายไป
โอกาสที่มีนโยบายดี ๆ วางรากฐานเพื่อประเทศในอนาคตเบาบางไปมาก ไม่ว่าพรรคใดที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในขณะนั้น สภาพการเมืองไม่เอื้อให้เกิดการสร้างนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเรากลับพยายามปรับปรุงตนเอง จนเราตกชั้นไป
“เหตุการณ์อย่างนี้พัฒนามาเรื่อยตลอด 7-8 ปี และเมื่อประมาณ 3-4 เดือนมาแล้ว ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่ตนเองเป็นประธาน ได้จัดงานหนึ่งขึ้นมาชื่อ ‘จับชีพจรประเทศไทย’ ในงานนั้นผมได้มีโอกาสกล่าวบรรยาย และได้เตือนเหตุการณ์ขณะนั้นว่าเศรษฐกิจเราเริ่มถดถอย ในขณะที่สังคมโต้เถียงกันว่าถดถอยจริงหรือไม่” ดร.สมคิด กล่าว และว่าผมจำได้ว่ากล่าวไว้ว่า จริง ๆ แล้วไทยไม่เพียงถดถอย แต่เศรษฐกิจของเรากำลังทรุด และการทรุดของเศรษฐกิจไทยขณะนั้น การอ่อนแรงของปัจจัยการส่งออกก็ดี การบริโภคก็ดี การลงทุนก็ดี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่เกิดขึ้นจากความอ่อนแอปัจจัยภายในของเราที่ไม่ได้รับการแก้ไขตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ในเมื่อสถานะโครงสร้างเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกอนาคต ทำให้แข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น อำนาจซื้อในประเทศลดต่ำลง ซึ่งไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้ประกาศว่าจะมีการปฏิรูป แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปของไทยเหมือนเราจะเล่นลิเกบนเวที ตั้งคณะกรรมการ มีประธานปฏิรูป และหยุดเท่านั้นพร้อมข้อเสนออันหลากหลาย แต่ไม่มีโอกาสเห็นการปฏิรูปจริง ๆ
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างกรณีการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาของเราขณะนี้ได้ย่ำแย่จนไม่รู้จะว่าอย่างไร แต่เราไม่เคยเห็นการปฏิรูปจริง ๆ เลยที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทย ในปัจจุบันได้ยินแต่ข่าวเรื่องแท็บเล็ต ผมนั่งคิดอยู่ในใจว่าประเทศไทยเรามีปัญญาเพียงเท่านี้เองหรือ
“ในวันที่ผมกล่าวบรรยายในวันนั้น ผมบอกว่าสิ่งที่เราต้องดูเป็นตัวอย่างคือกรณีประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่ง 50 ปี ที่แล้วเขาเป็นผู้นำของเอเชีย แต่เขาทำบาปไว้ 3 ประการ คือ 1.การบริหารงานผิดพลาด 2.ปัญหาคอร์รัปชั่น และ 3.รู้ว่าอ่อนแอแล้วไม่ปฏิรูป”
3 สิ่งนี้เกิดขึ้นมาในยุค 40-50 ปีที่แล้ว สมัยประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส แต่ไม่เคยมีความจริงจังกับการปฏิรูปอะไรเลย ทำให้ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ที่เคยยิ่งใหญ่กว่าเกาหลีใต้กลายเป็นผู้ตามในอาเซียน ประชาชนต้องอยู่ในต่างประเทศเพื่อขายแรงงาน เพราะอยู่ภายในประเทศโอกาสในชีวิตไม่ดี
กลางคืนยิงกันว่าเล่นเหมือนหนังคาวบอย ใครจะกล้ามาลงทุน
ดร.สมคิด ยังกล่าวว่า เมื่อไม่กี่วันสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุตัวเลขเศรษฐกิจต่อการเติบโตไตรมาสสุดท้าย ปี 2556 ไทยเติบโตเพียง 0.6% ติดลบต่อเนื่องมาเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้งปีเติบโตเพียง 2.9% เทียบกับปีก่อนหน้านั้นประมาณ 6.5% ถ้าเราสังเกตให้ดี ๆ ในหลายปีมานี้เศรษฐกิจไทยเราแม้จะเติบโต แต่ไม่สม่ำเสมอ และโดยมากเติบโตขึ้นมาโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภค แต่ไม่ได้มาจากฐานที่มั่นคงในการสร้างฐานอนาคต
จนถึงวันนี้สถานการณ์หนักไปกว่าที่ผมบรรยายในวันนั้นอีก วันนี้การเมืองที่ชะงักชะงัน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาในประเทศ มีผลทำให้เศรษฐกิจของเราคิดว่าหากปล่อยไปจะมีอันตราย การผลิตในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา วันนี้ลองเดินไปดูตามห้างร้านจะรู้ว่าเป็นอย่างไร สินค้าตามโรงงานที่ผลิตมาขายไม่ได้ตามเป้า ไม่ว่าอาหาร สิ่งทอ เครื่องใช้ และแนะนำให้ดูยอดขายจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นตัววัดที่ดีที่สุด วันนี้เป็นอย่างไร
ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัญหาเรื่องข้าวที่เกิดขึ้นมา เรามีเกษตรกรประมาณ 30-40 ล้านคน เมื่อเกษตรกรไม่มีรายได้ ผลเชิงทวีคูณซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจมีมหาศาล พ่อค้าเคยพูดบอกว่าชาวนาและเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน วันนี้ชาวนาไม่มีเงิน พ่อค้าผลิตสินค้าแล้วจะไปขายใคร สภาพบ้านเมืองที่ไม่ปกติ อารมณ์ซื้อของคนเราอยู่ตรงไหน
“การที่ไม่มีรัฐบาลที่แน่นอนและไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีรัฐบาล ทำให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐบาลขยับไม่ออก สภาพบ้านเมืองที่วุ่นวาย กลางคืนยิงกันเป็นว่าเล่นเหมือนหนังคาวบอย นักลงทุนหน้าไหนอยากเข้ามาลงทุนในประเทศนี้ นักท่องเที่ยวที่ไหนอยากเข้ามาในประเทศนี้ ฉะนั้นเศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในสภาพที่กำลังหดตัว และเปราะบาง”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงสิ่งที่น่ากังวล คือ ถ้าเรายังปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ดำเนินต่อไป ไม่ยุติ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคมโลกที่มีต่อประเทศไทย ถ้าเกิดหายจริงแปลว่าจะเกิดการเอาทุนซึ่งควรจะเข้ามาในไทยไปประเทศอื่นแน่นอน คู่แข่งของเราอย่างอินโดนีเซียในขณะนี้พัฒนาเร็วมาก เวียดนามกำลังกระโดด
คนที่จะลงทุนในเมืองไทยบอกว่าจะเอาเงินเป็นแสนล้านมาลงทุนในเมืองไทย ประเทศซึ่งเป็นอย่างนี้กับไปลงทุนในอินโดนีเซียหรือเวียดนามนั้นจะไปที่ไหน สินค้าไฮเทคไปที่เวียดนามแล้ว การผลิตโทรศัพท์มือถือนั้นอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก
โตโยต้าเตือนไทยแล้วว่าหากสถานการณ์ไม่สงบอาจต้องลงทุนที่อื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าโยกจากที่นี่ไปที่นั่น แต่หมายถึงระลอกใหม่การลงทุนไปแน่ หากโตโยต้าไป ฝูงนกญี่ปุ่นจะแห่ตามกันไป ตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเขย่าฐานเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทยแน่นอน
“ทั้งหมดเกิดขึ้น โลกกำลังดีขึ้น และถ้าตามข่าวสหภาพยุโรป (อียู) ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีของเยอรมันพูดด้วยความมั่นใจว่าจะทำให้อียูเข้มแข็งขึ้น สหรัฐฯ กำลังดีขึ้น ญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความมั่นใจ จีนไม่ต้องพูดถึง จะเลวจะร้ายเติบโต 7-8% แน่นอน อาเซียนกำลังฮึกเหิม แต่เรากำลังเป็นอย่างนี้” ดร.สมคิด กล่าว
พร้อมชี้ให้เห็นว่าภาวะอย่างนี้บวกกับการไม่ได้มีโอกาสปฏิรูปไทยเลย ถ้าเปรียบกับการแข่งขันฟุตบอล เหมือนจากดิวิชั่น 1 มาดิวิชั่น 2 และกำลังจะไปอยู่ดิวิชั่น 3 เรามีแต่สิ่งเก่า ๆ ที่เราเห็น โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ซึ่งต้องชมวิสัยทัศน์ของคนในอดีตที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงให้อยู่ได้จนถึงขณะนี้ แต่แรงลมเหล่านั้นกำลังจะหมด เรากำลังจะเจอมรสุม พื้นฐานนั้นไม่แข็งแรง อนาคตแข่งขันกันด้วยความรู้ แต่เราเล่นอะไรกันอยู่
จี้รัฐไทยเตรียมพร้อมรับมือเออีซี ก่อนถูกจีน-ญี่ปุ่นรุกประเทศ
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุต่อว่า แต่สิ่งที่รู้สึกกังวลมากที่สุด คือ การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) จริง ๆ แล้วเป็นโอกาสมหาศาลของไทย แต่เราจะมีโอกาสอย่างนั้น เราต้องมีการขับเคลื่อนพอสมควร
“ผมมีโอกาสไปลาวก่อน ผมไปที่แขวงสะหวันเขต ได้เห็นความเจริญของสะหวันเขต ได้เห็นความเจริญของอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยที่ไทยเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มันเติบโตขึ้นมาเอง เศรษฐกิจที่ถดถอยในหลายปีที่ผ่านไม่มีผลอะไรต่ออุดรธานีเลย เพราะความเจริญจากลาว รายได้ที่สูงขึ้น คนของลาวเข้ามาซื้อของในจังหวัดที่อยู่ติดกัน เราเห็นทันทีว่าเมื่อลาวยิ่งเจริญ จังหวัดฝั่งนั้นจะเหมือนชลบุรี ส่วนอุดรธานีจะเหมือนกรุงเทพ เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย”
และมองไปที่มุกดาหาร อุบลราชธานี ก่อนข้ามไปแขวงจำปาศักดิ์ จะเห็นทันทีว่าทางนั้นกำลังเติบโต เวียดนามกำลังข้ามมาที่ลาว และข้ามมาที่ไทย จีนเข้ามาเช่าที่ดินเพื่อเพาะปลูกยางพาราในแขวงสะหวันเขตเต็มไปหมด เพื่อนำผลผลิตเหล่านั้นกลับไปที่จีน
ดร.สมคิด บอกเล่าต่อว่า ผมขึ้นไปเที่ยวในเส้นทาง R3 นั่งเครื่องบินไปลงเชียงราย แล้วนั่งรถต่อไปยังเชียงของ ข้ามไปห้วยทราย นั่งรถไปหลวงน้ำทา และตรงไปที่สิบสองปันนา ถนนดีเหลือเกิน ที่ไม่ดีคือฝั่งไทย นั่งไปถึงแต่ละที่ ๆ สิ่งทีเห็นกับตาทำให้ต้องคิดหนัก ผมไปที่ห้วยทรายและหลวงน้ำทา โดยพักที่โรงแรมจีน เดินเป็นตลาดมีร้านค้าเต็มไปหมด ชื่อลาวแต่ภายในแขวนรูปเหมา เจ๋อ ตุง
ที่ดินสองข้างทางมีสวนกล้วยเต็มไปหมด เป็นสวนกล้วยของคนจีนที่มาเช่าพื้นที่ปลูก และบรรจุส่งกลับไปที่จีน เป็นการลงทุนมหาศาลสำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่หลวงน้ำทา ผมถามเจ้าหน้าที่ว่ามาลงทุนอะไรด้านการท่องเที่ยว เขาบอกว่ามาทำคาสิโน ซึ่งหมายความว่าการรุกของจีนที่เข้ามานั้นเป็นระบบมาก รถที่ขนสินค้าจากจีนเป็นระลอก ยังโชคดีเวลาข้ามฝั่งไทยพวงมาลัยคนละข้าง เขายังไม่สามารถปรับส่วนนี้ได้ จึงต้องใช้ระบบการขนส่งสินค้าของไทยแทน
แต่ดูว่าสินค้าไทยอะไรที่สามารถขายกับจีนได้ มีอย่างเดียวคืออาหาร แต่พอผมเห็นสวนที่จีนมาปลูก เวลาที่ไปสิบสองปันนามีสวนกล้วยหอมเป็น 10 กิโลเมตร รักษาอย่างดี และตอนที่ผมบินจากสิบสองปันนาไปคุณหมิง ผมมองดูว่าเหมือนหลังคาสังกะสี พอบินลงมาใกล้แท้จริงคือการดูแลผลผลิตการเกษตรอย่างดีของจีน ปลอดสารพิษ หมายความว่าอาหารของไทยที่จะขายได้นั้นต้องเป็นอาหารชั้นดีในอนาคต เพราะคนจีนที่มีรายได้มากขึ้นนั้นจะไม่กินอาหารที่ผลิตจากจีน เพราะไม่มั่นใจ จึงต้องมาเช่าที่ดินของทางใต้จีนปลูกและส่งกลับไป
“ดังนั้นหากการเกษตรกรรมไทยเป็นแบบนี้อนาคตคุณจะขายอะไรให้จีน ฉะนั้นการที่จะลงทุนทำรถไฟไปจอดติด ถามว่าถ้าลงทุนมหาศาลเป็นล้านบาท ใครได้ประโยชน์” อดีตรองนายกรัฐมนตรีตั้งคำถาม ก่อนตอบว่าจีนได้ประโยชน์ จึงเป็นเหตุผลที่จีนยอมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกับประเทศในอาเซียน เพราะจีนเตรียมพร้อมอย่างเป็นระบบ
ลาวเคยหลงดีใจว่าจีนเข้ามาเยอะ วันนี้เริ่มพลิกตัวแล้ว เพราะลาวสิ่งที่ได้ประโยชน์เพียงค่าเช่าสถานที่ ค่าแรงงาน ที่เหลือจีนนั้นเก็บหมด ดูได้จากหลวงน้ำทาหรือห้วยทรายมีคนจีนเต็มไปหมด ถ้าเดินดูสิบสองปันนาซึ่งผมมีภาพจำสุด เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น พอไปถึงต้องตีลังกากลับ เพราะได้กลายเป็นมหานคร ซึ่งคนสิบสองปันนาบอกว่าคนฮั่นโยกย้ายลงมาอยู่ในพื้นที่
นโยบายของรัฐบาลมุ่งสร้างความเจริญให้สิบสองปันนา โดยโยกย้ายคนจีนจากทางเหนือลงมาอยู่ที่สิบสองปันนา คอนโดเป็นแท่ง ๆ เต็มไปหมด ยังไม่มีคนอยู่ด้วยซ้ำ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายประชากรจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นที่ลาว และกำลังเกิดขึ้นที่เชียงราย บางส่วนที่เชียงใหม่
สิ่งเหล่านี้ทำให้หากจะมีเออีซี คุณจะต้านไม่ได้เลย ฉะนั้นคุณต้องเตรียมพร้อมว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น มิเช่นนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ไทย เส้นเหนือใต้คือจีนแน่นอน เส้นออกตกคือญี่ปุ่นกับเวียดนาม
“ถามว่าเรารู้ในสิ่งเหล่านี้หรือไม่และได้เตรียมการกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่...ต้องหาคำตอบ ฉะนั้นประเทศไทยที่ผ่านมา 10 ปีนี้ จากประเทศที่มีความมั่นคั่งพอสมควร มันกำลังปรับเปลี่ยน ซึ่งจะดีขึ้นหรือเลวลงนั้นอยู่ที่ตัวเราขณะนี้ว่าคุณจะทำอะไร” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ปฏิรูปอย่างไรก็ไม่เกิดผล หากคนไทยไร้ ‘ศีลธรรม’
มิติที่ 2 ด้านสังคม สิ่งที่เราเป็นห่วงมากคือโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงประชากรไทย คนชรามีมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังสร้างผลกระทบ ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจสิ่งผลิตด้วยแรงงานราคาถูกอนาคตจะมีน้อย ถ้าค่าแรงแพง หากผู้ประกอบการไทยไปอยู่ลาวหรือกัมพูชา เช่น ผู้ประกอบการสิ่งทอเพื่อความอยู่รอด แปลว่าจะมีแรงงานทดแทนแรงงานไทย จากที่หายากอยู่แล้ว หากยกระดับเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด แปลว่าคนงานที่มีอยู่นั้นจะไม่มีงานทำ เพราะตลาดแรงงานต้องการแรงงานอีกประเภทหนึ่ง ฉะนั้นต้องไม่ปฏิรูปเรื่องแรงงาน
“อนาคตคนแก่ที่มีมากขึ้นไทยไม่เคยมีระบบสวัสดิการที่แท้จริงเลย โดยเฉพาะเกษตรกร งบประมาณในการหาสวัสดิการเหล่านี้เพื่อดูแลจะนำมาจากที่ไหน วันนี้หนี้สาธารณะเกือบ 50% แล้ว หากไม่ปฏิรูปเรื่องการคลังตั้งแต่วันนี้ และเรายังใช้จ่ายแบบนี้อนาคตจะเป็นอย่างไร บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คนแก่จะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบ”
แต่สิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ สังคมซึ่งไขว้เขว บางครั้งสับสน เรารู้ดีทุกวันนี้การเชื่อมโยงโซเซียลมีเดียรุนแรงมาก แต่การเชื่อมโยงนี้ถ้าเราตามไม่ทัน ไม่มีสติ กำลังก่อให้เกิดอะไรหลายอย่างในเมืองไทย สุดแล้วแต่ใครจะพูดอะไร
เมืองไทยที่มีความสมานฉันท์อย่างดี แต่ตอนนี้เราจะเห็นการใช้คำสร้างความเกลียดชัง ซึ่งไม่ทันเห็นกันเลยก็เกลียดกันแล้ว เห็นข่าวอีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต เกิดความยินดี ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่คนไทยในอดีต แต่เกิดผลจากการใช้โซเซียลมีเดียที่ขาดการดูแลและควบคุมที่ดี
ดร.สมคิด กล่าวว่า มีประเทศไหนบ้างที่ปล่อยให้มีโทรทัศน์เกิดขึ้นตามสบาย ยกเว้นประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมชิ้นเอก จะเกลียดใครก็ด่าผ่านสถานี ทำให้ประเทศไทยแยกเป็นเสี่ยง ๆ โดยไม่ต้องรู้จักกันเลย ส่วนนี้เราจะดูแลอย่างไร และหากดูในเฟซบุ๊ก จากจุดหนึ่งผ่านไปจุดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่ง ไม่ต้องคิดเลย เชื่อตามกันหมด ไม่ว่าใครจะเขียนว่าอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ ไม่มีประเทศไหนที่มีวิทยุชุมชนเยอะไปหมด จะให้โรงพยาบาลรามาธิบดีทำโทรทัศน์รามา ยังไม่ง่ายเลย แต่วิทยุชุมชนออกมาเต็มประเทศ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อมา คือ ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ศีลธรรม’ ซึ่งเราทราบว่าศีลธรรมเป็นหลักสำคัญของชีวิตเรา จะเป็นตัวกำกับว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควรทำ ไม่ควรทำ แต่ในระหว่างที่ประเทศเราพัฒนาไปศีลธรรมได้จางหาย
ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยกล่าวไว้ว่า “สังคมจะวิปริต เพราะเราเคลื่อนออกจากหลักธรรมไปสู่เรื่องวัตถุนิยม” สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายอย่างไขว้เขว เราบูชายกย่องคนรวย ซึ่งมีการจัดอันดับคนรวยสูงสุด หากใครรวย มีเสน่ห์ถือมีเกียรติ แต่เราไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับคนดีเลย
“ในอดีตไม่ว่าครอบครัว ไม่ว่าโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือองค์กรเอกชน ต้องให้ความสำคัญกับศีลธรรม แต่สิ่งเหล่านี้จางหายไปตามกาลเวลา”
‘ปัญหาคอร์รัปชั่น’หลายคนรับได้ไม่สนใจ ถ้าดูวิกฤติทั้งหมด เริ่มจากเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพราะความโลภ ตั้งแต่ปี 2540 ล้วนเกิดจากความโลภ รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกก็ยังทำ เรื่องคอร์รัปชั่น ให้สินบน รู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังทำ เพราะความร่ำรวยผลประโยชน์ที่ได้นั้นคุ้มค่ากว่าการเป็นคนดี
การเมืองเปลี่ยนเพราะอะไร ทำไมตั้งคนทั้งหลายเข้ามาโดยไม่มีระบบคุณธรรม เพราะจะเอาชนะ ต้องการคนสั่งได้มากกว่าคนใช้การได้ ทำให้ความสามารถของประเทศจึงอ่อนด้อยลง
แต่ที่ร้ายที่สุด สังคมขาดคุณภาพ รู้ว่าผิดแต่ไม่กล้าฝืน ขาดความกล้าในการยืน ต่อสู้ในสิ่งที่ผิด สิ่งเหล่านี้คิดว่าสำคัญ ควรจะปฏิรูปอย่างไรก็ไม่เกิดผล ปฏิรูปเชิงอักษรในรูปกฎหมายก็ไม่เกิดผล หากคนไม่มีศีลธรรม ถ้าไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ คนโบราณจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร สมัยนี้ไม่สนใจขอให้บรรลุในสิ่งที่ต้องการ เราไม่อยากให้ลูกหลานของเราเติบโตขึ้นมาในสังคมทุกวันนี้
ค้านดึงเลขาฯ ยูเอ็นยุติขัดแย้งไทย-หนุนมหาวิทยาลัยเป็นผู้นำความคิด
มิติที่ 3 ด้านการเมือง ไม่รู้ว่าการเมืองไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จุดซึ่งชะงักชะงัน ผมมองเมืองไทยตอนนี้อยู่บนทางแพร่ง หากเรานิ่งปล่อยต่อไป เราจะเห็นเศรษฐกิจของเราค่อย ๆ หลอมละลาย ความเดือดร้อนเต็มไปหมด หากเราเดินแยกซ้ายไปสู่ความรุนแรง ตอนนั้นไทยจะกลายเป็นประเทศล้มละลายด้านรัฐ
แต่หากเบี่ยงไปอีกทาง พยายามหาทางออกยุติ รู้จักเสียสละกันบ้าง หารัฐบาลมาคั่นตรงกลางผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และปฏิรูปพอสมควร ผมเชื่อว่าฐานการเมืองไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือให้คนไทยนั้นมีความสมานฉันท์มากกว่านี้
ดร.สมคิด ระบุต่อว่า สิ่งที่เป็นข่าวในวันนี้ว่าไทยไปเชิญนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) มาเป็นกรรมการห้ามมวย เกิดมาจนผมอายุ 61 ปี อายที่เกิดเป็นคนไทย ตั้งแต่เกิดมาผมภูมิใจว่าเราไม่เคยเป็นขี้ข้าใคร เรามีคนเก่งของเราคุยกันรู้เรื่อง แต่ทำไมเดี๋ยวนี้คุยกันไม่ได้ แล้วเลขาธิการยูเอ็นเป็นใคร
เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทันทีที่มีคนกลางจากต่างประเทศเข้ามา หมายความว่า ไทยล้มเหลวทางการเมือง ประเทศนั้นในภาพลักษณ์ของโลกจะกลายเป็นประเทศที่แก้ปัญหาตนเองไม่ได้ เอาอำนาจไปให้คนภายนอก สิ่งเหล่านี้ผลกระทบจะรุนแรงมากโดยที่คุณนึกไม่ถึง และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่เราจะสร้างขึ้นมาใหม่ในฐานะประเทศที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี
“คุณดูประเทศอย่างซีเรีย โซมาเลีย หรือประเทศที่กำลังรบกันขณะนี้ เราไม่ถึงขนาดนั้นเลย ผมเรียกร้องให้คิดใหม่ และพยายามให้ยุติให้ได้โดยเร็วด้วยคนไทยกันเอง”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ไทยกำลังเปลี่ยน ซึ่งจะไปอยู่ที่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับตัวเรา ผมเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ แปลว่าทุกคนนั้นจะต้องมีส่วนร่วม โดยมหาวิทยาลัยเป็นประเด็นสำคัญ สถานการณ์เหล่านี้มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำ ต้องถามว่าเราจะมีบทบาทอะไรบ้างที่ควรทำ ซึ่งการเป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านวิชาการเพียงพอหรือไม่ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเป็นเช่นนี้
ผมคิดว่าบทบาทสำคัญ คือ ผู้นำทางความคิด ในสภาวะความวุ่นวายหรือสับสนไม่รู้จะฟังใครดี มหาวิทยาลัยเป็นที่รวมของคนที่มีการศึกษาสูงสุด มีความคิดที่ดีเลิศ จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย สิ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยตอนนี้ต้องพูดและต้องคิด จากวันนี้เป็นต้นไปบทบาทของมหาวิทยาลัยคืออะไร ควรชี้นำให้มีสติหรือไม่ เราเป็นคนที่ข้างนอกให้ความเคารพนับถือ
นอกจากนี้เรารู้ว่าอย่างไรก็ตาม บ้านเมืองจะต้องปฏิรูป แต่การปฏิรูปต้องมีความรู้และข้อมูล ซึ่งตอนนี้เริ่มทำไปแล้วถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดล แต่จะต้องให้ทุกมหาวิทยาลัยร่วมกัน กำลังคนกำลังสมองของเรากระจายไปตามมหาวิทยาลัย เราต้องพยายามเชื่อมโยงข้อมูลตามวาระร่วมกัน ถ้าสามารถคุยได้แล้วนำสิ่งเหล่านี้ให้กับรัฐบาลในอนาคตข้างหน้าเพื่อการปฏิรูป
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า การเมืองจากวันนี้จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การเมืองเชิงดิ่ง แต่จะเป็นการเมืองเชิงระนาบ ประชาชนตื่นตัว ต้องการมีส่วนร่วม และต้องการแสดงความคิดเห็นและจะไม่ร่วมมือและต่อต้านหากไม่เห็นด้วย ลักษณะเช่นนี้มองว่าการตื่นขึ้นมาของประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตื่นขึ้นมาอย่างมีความรู้ และบทบาทมหาวิทยาลัยไม่ใช่การตั้งบนฐานที่มั่น การปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ ยอมรับอย่างมีส่วนร่วม
การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยการแก้กฎหมายไม่สำเร็จ แต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกระตุ้นจนเกิดภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง คอร์รัปชั่นก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ บทบาทเหล่านี้ในอดีตเรามีน้อย เรามีโครงการนักศึกษาออกสู่ชนบท สิ่งเหล่านี้ในอนาคตควรทำเพื่อเป็นกาวเชื่อมโยงสังคม ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องทำร่วมกันด้วย
นอกจากนี้จะต้องทำอย่างไรให้ศีลธรรมกลับคืนมา ตลอดเวลาที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยมาถึงวันนี้ ทิศทางการศึกษามักเน้นในเรื่องความสามารถและแข่งขัน แต่เราไม่เคยปลูกฝังสิ่งที่เคยมีในอดีต คือ อีกด้านที่มีการสร้างคนขึ้นมา สิงคโปร์เริ่มปลูกฝังเรื่องของค่านิยม ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ และครอบครัว เข้าไปอยู่ในระบอบการศึกษา ฉะนั้นจึงถามว่าบทบาทของมหาวิทยาลัย ควรจะมีอะไรในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งหากไม่ปลูกฝัง เขาก็จะวิ่งออกไปทำมาหากิน กอบโกย และอาจเข้าสู่การคอร์รัปชั่น
“สหรัฐฯ เจริญได้เพราะการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความซื่อสัตย์ ผมไปดูตำรามีการเล่าเรื่องของจอร์จ วอชิงตัน ว่าไม่เคยโกหก แต่ของไทยบอกแค่ว่าใครประสบความสำเร็จในชีวิต รวยแค่ไหน เราไปบูชาในสิ่งเหล่านั้น แต่บุคลิกการเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ และชาติสำคัญกว่าพรรคควรปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ ฉะนั้นผมไม่ฝากความหวังกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่ฝากความหวังกับมหาวิทยาลัย”
ท้ายที่สุด ดร.สมคิด เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่ต้องรอราชการ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้นำได้ เราต้องปฏิรูปตัวเราเองก่อน ก่อนที่เราจะปฏิรูปคนอื่นได้ คุณพร้อมที่สุด มีทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์.
ภาพประกอบ:http://www.cityvariety.com/