“ประธานทีดีอาร์ไอ” เปิด “หลุมพรางพรรคเพื่อไทย” ปูทางสู่ “การเมืองพรรคเดียว”
เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 11 กรกฎาคม 2554 เวลา 09:00 น.
เขียนโดย
ธิดามนต์ พิมพาชัย ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน
หมวดหมู่
สัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยให้ไว้โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ล้วนเป็นประชานิยมที่จะใช้เม็ดเงินมหาศาล ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เชื่อว่าเป็น “หลุมพราง” ที่นำไปสู่การครอบงำการเมืองพรรคเดียว โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจนำ เอาใจชนชั้นกลาง
จากประชานิยมรากหญ้า... สู่นโยบายมัดใจชนชั้นกลาง
จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า พรรคเพื่อไทยได้ใจคนภาคอีสาน และภาคเหนือแล้ว แต่ภาคกลาง กรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางจำนวนมาก ยังขาดอยู่ นโยบายประชานิยมหลายข้อจากรัฐบาลชุดนี้ จึงเป็นการเอาใจชนชั้นกลางในเมือง ทั้งเรื่องการคืนภาษีบ้าน และรถยนต์ ค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ทั้งนี้เพื่อหวังผลทางการเมือง
“ชนะใจคนฐานล่างแล้ว ก็มาชนะใจชนชั้นกลางในเมืองบ้าง เป็นความต้องการครอบงำการเมืองไทย” อ.นิพนธ์กล่าว
ทำตามวาระหาเสียง ปัญหาค่อยตามแก้ : เอาประเทศเป็นตัวประกัน
ประธานทีดีอาร์ไอ บอกว่านโยบายต่างๆ ที่ประกาศไปแล้ว รัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงต้องเดินหน้าทำให้ได้ ส่วนผลกระทบจะเป็นอย่างไรนั้นเขายังไม่สนใจ เพราะต้องเอาฐานเสียงก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาในภายหลัง โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงที่หลายฝ่ายกังวล รัฐบาลอาจกำหนดเป็นนโยบาย ถ้าภาคธุรกิจไม่เห็นด้วย หรือโรงงานขนาดเล็กจ่ายไม่ไหว ก็ผิดกฎหมาย และเป็นข้ออ้างได้ว่า “ทำแล้ว แต่ธุรกิจไม่เอาด้วย” แม้ทำไม่ได้จริง แต่ได้ใจ
“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นอันตรายมาก เพราะเป็นการเอาประเทศเป็นตัวประกัน ทั้งการคลัง และภาคธุรกิจ” อ.นิพนธ์กล่าว พร้อมอธิบายในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า
นโยบายประชานิยมที่ใช้เงินของรัฐ เป็นการผลักภาระให้ประชาชนในอนาคต เรียกว่า การใช้งบกึ่งคลัง โดยให้สถาบันการเงินของรัฐจัดการ เช่น นโยบายจำนำข้าว ใช้วงเงินสูงถึง 6 แสนล้านบาท นับว่าลงทุนสูงมาก นโยบายประชานิยมหลายๆ ข้อนี้ ถ้าเป็นนักธุรกิจก็เป็นการลงทุนที่เสี่ยง และเป็นความเสี่ยงที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ไม่ใช่แค่การคลัง แต่เกิดกับภาคธุรกิจด้วย เพราะการลงทุนครั้งนี้ไม่ได้ควักกระเป๋าตัวเอง เป็นเงินของรัฐบาล และกลุ่มธุรกิจ อย่างไรก็ตามเขามองว่ายิ่งเสี่ยง ยิ่งผลตอบแทนสูง (High Risk High Return)
“นโยบายแบบนี้จะทำให้รัฐบาลปิดฉากเร็วไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ถึงตอนนั้นฐานเสียงก็พร้อม บ้านเลขที่ 111 พ้นโทษ และจะมีการกลับมาของคุณทักษิณ แต่จะมีอำนาจอีกครั้งหรือไม่ ไม่ทราบ”
ปูทางสู่ระบบ “การเมืองพรรคเดียว”
จากบทเรียนที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมครั้งนี้มีความแนบเนียนกว่าเดิม เห็นได้ชัดเจนว่าคุณยิ่งลักษณ์ ชูนโยบาย "ไม่คอรัปชั่น" ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีการตั้งบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ และฉากหน้าจะไม่มีการคอรัปชั่นแต่อย่างใด แต่อาจมีในกลยุทธ์อื่นๆ เช่น การปั่นหุ้น ฯลฯ
ในสถานการณ์นี้ พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคเดียวครอบงำประเทศไทย ประชาธิปปัตย์ จะเล็กลงเรื่อยๆกลายเป็นพรรคขนาดกลาง
“เมื่อมีเสียงข้างมากเกิน 300 เสียง พรรคอื่นๆ ก็มีไว้แค่ประดับรัฐสภา อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติและอำนาจอื่นๆ ก็ถูกครอบงำ”
ถ้าทฤษฎีที่กล่าวมาถูกต้อง ก็จะมีเหตุการณ์มีสองทางภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่ ทางแรก คือ มีนักการเมืองที่ใสสะอาด ไร้การทุจริต มีเศรษฐกิจเติบโตเหมือนสิงคโปร์ แต่สิ่งเดียวที่ประเทศไทยจะเสียคือ เสรีภาพทางทางความคิดของสื่อ ประชาชน และนักวิชาการ
ทางที่สอง คือ มีการครอบงำประเทศแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งเศรษฐกิจการเมือง การปกครอง และกระบวนการยุติธรรม แล้วกลายเป็นระบบที่นักการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ ประชาชน คนชั้นกลาง นักวิชาการไม่มีสิทธิ์พูดจา อย่างเช่นประเทศในลาตินอเมริกา
เตือนประชาชนต้อง “เท่าทัน” - ฝ่ายค้านต้องปรับตัว
เมื่อถามถึงทางออกของปัญหา ประชาชนต้องทำอย่างไร ประธานทีดีอาร์ไอเสนอว่า ประชาชนต้องรู้เท่าทันก่อน ต้องรับรู้ว่า “ของที่รัฐบาลหยิบยื่นให้นั้นไม่ใช่ของฟรี แต่เป็นการล้วงประเป๋าประชาชนแล้วเอามาแจก” ประชาชนต้องผ่านบทเรียนเอง แต่บทเรียนนี้อาจช้าเกินไป และที่สำคัญฝ่ายค้านที่มีอำนาจถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลต้องปรับตัว
“พรรคการเมืองที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความล้มเหลวทางการตลาด แต่เป็นความล้มเหลวเรื่องการบริหารพรรค การบริหารประเทศ
แต่ระบบประชาธิปไตยที่แข็งแรง ระบบสองพรรคต้องสูสีกัน ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ในบางช่วงพรรคหนึ่งอาจมีนโยบายในการบริหารประเทศที่ดีกว่า ไม่ใช่พรรคเดียวแบบครอบงำ จะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเข้มแข็ง แต่เป็นประชาธิปไตยเผด็จการ”
……………………………
“แต่ถึงวันนั้น คนจำนวนมากอาจไม่ใส่ใจประชาธิปไตยแล้ว ตราบใดที่การเมืองสงบสุข ไม่มีคนออกมาขัดแย้งบนท้องถนน”
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ทิ้งท้ายอย่างกังวล
............................................
(ล้อมกรอบ)
สัญญาประชาคมของพรรคเพื่อไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง
|