ถอดบทเรียนปฏิรูป กูรูชี้ไม่มีทางลัด ต้องอดทน ทำทันทีไม่ต้องรอสถานการณ์นิ่ง
ผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปบนความขัดแย้งระดับโลกย้ำไทยปฏิรูปได้ ขอให้อดทน ยันไม่มีเส้นทางลัด ชี้ทำได้ทันทีไม่ต้องรอสถานการณ์นิ่ง ระบุควรคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการเจรจา
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 3 “เรียนรู้ประสบการณ์ บทเรียน-กระบวนการปฏิรูปของต่างประเทศ” ณ ห้องกมลทิพย์ 3 ชั้น 2 โรงแรมเดอะ สุโกศล
ดร.ไมเคิล วาติคิโอติส ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชีย Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังยึดติดและเชื่อมโยงอยู่กับวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ชนชั้นนำหรือฝ่ายถืออำนาจทางการเมืองที่มักถูกกดดันให้ต้องปฏิรูปจากการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามคือวิธีการเกิดขึ้นของวิกฤตว่าจะมีส่วนในการกำหนดการปฏิรูปอย่างไร
"ในส่วนของประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงแรกของการปฏิรูปนั้นใช้ระยะเวลาค่อนข้างเร็วและเป็นการปฏิรูปโดยชนชั้นนำของประเทศ ทั้งนี้อินโดนีเซียได้ใช้ระยะเวลาในการปฏิรูปช่วงปี 1998-1999 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งในระยะนี้มีการกำหนดกรอบของกฏหมายใน 3 ประเด็น คือกระบวนการการผลักดันโดยราชการ การปรึกษาหารือกับประชาชน และสุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบกฎหมาย"
ดร.ไมคิล กล่าวถึงการแก้ไขวิกฤตด้วยการปฏิรูปภายหลังจากประธานาธิบดีฮาบีบีเข้ามาแทนซูฮาร์โต ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 7 คน ที่เป็นข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมาขับเคลื่อนโดยใช้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาฉันทามติของตัวแทนทั้งประเทศ แต่การปฏิรูปดังกล่าวทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้สังคมสัมผัสได้ว่าประชาชนทั่วไปได้ประโยชน์อย่างไรกับการปฏิรูป แต่ก็ถือว่าครั้งนั้นเป็นการวางรากฐานเพื่อก่อให้เกิดการปฏิรูปและเป็นการพยายามที่จะสร้างบรรยากาศให้เกิดทางออกจากวิกฤตการเมือง
“ประเด็นสำคัญของประเทศไทยขณะนี้คือจะสร้างบรรยากาศในการพูดคุยอย่างไร เนื่องจากตอนนี้คนในประเทศส่วนใหญ่เลือกข้างไปแล้ว ดังนั้นต้องหาเวทีกลางให้คนทั้งสองฝ่ายได้พูดและจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์”
ด้านดร.คาเทีย พาพาจิอานนี่ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการทำหน้าที่ผู้ไกล่เกลี่ยและฝ่ายนโยบายของ Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) กล่าวว่า ระยะที่มีการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ไม่ว่าจะเป็น อัฟกานิสถาน เยเมน หรืออิรัก จะมีการใช้กระบวนการเสวนาแห่งชาติเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนจากทุกระดับและทุกภาคส่วนเข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมปรึกษาหารือในเรื่องการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นการคัดเลือกตัวแทนจากกลุ่มการเมือง สาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปด้วย โดยจะมีการเชื่อมโยงเนื้อหาและสรุปผลเพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นวิสัยทัศน์ร่วมของคนในประเทศ และนำไปสู่การทำประชามติ หรือการแก้ไขกฎหมายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนต่อไป
ดร.คาเทีย กล่าวถึงกระบวนการเจรจาว่า ต้องมีเป้าหมายของการมีส่วนร่วม นอกเหนือจากคนที่เกี่ยวข้องทางการเมือง และต้องออกแบบวงเสวนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และจะต้องมีการเจรจา สร้างหลักการกันล่วงหน้า
"ในบางกรณีเราอาจต้องมีการสร้างความเชื่อใจให้เกิดขึ้น โดยต้องสร้างหลักการขึ้นมาก่อนเจรจา เช่นที่ เยนเมน ออกแบบระบบก่อนเริ่มเจรจาโดยที่ฝ่ายการเมืองต้องตอบคำถาม 5 ข้อนี้ 1.จะเริ่มต้นอย่างไร คำถามนี้เป็นคำถามที่ง่ายแต่ตอบยาก เพราะถ้าตอบไม่ดีเริ่มต้นผิดก็ผิดพลาดหมด 2.อำนาจหน้าที่ของคนที่มีส่วนร่วม 3.ผู้ที่มีส่วนร่วมคือใครบ้าง 4.มีความตื่นตัวทางการเมืองของสาธารณะหรือไม่ และ5.อะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่ากระบวนการเจรจานั้นเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ"
อย่างไรก็ตาม ดร.คาเทีย กล่าวถึงประเทศไทยด้วยว่า ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีการพูดคุยเพื่อให้ผู้นำทุกฝ่ายได้มีจุดร่วมเพื่อที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะชน รวมทั้งภาคประชาชนจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวด้วย
ขณะที่นายอดัม คาเฮน นักออกแบบกระบวนการจัดการปัญหาสังคมที่ซับซ้อน กล่าวถึงประสบการณ์จากการทำงาน 20 ปี กับ 25 ประเทศทั่วโลก ว่า เมื่อสังคมเผชิญกับปัญหาที่มีความขัดแย้งสูงและซับซ้อนมาก ทางออกจากปัญหามีทางเดียวคือ ต้องคิดอย่างเป็นระบบและเป็นความคิดที่มาจากส่วนรวม และการแก้ไขปัญหาไม่สามารถแก้ไขด้วยการบังคับหรือการใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ
“การปฏิรูปจะต้องมีมากกว่าข้อเสนอเพื่อให้เกิดการปฏิรูป แต่ต้องลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง และต้องเป็นการมีส่วนร่วมของทั้งฝ่ายรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ”
สำหรับคำถามที่ว่าการปฏิรูปควรจะเดินหน้าจากการปรองดองก่อนหรือหลังนั้น นายอดัม มองว่า คำถามเหล่านี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ การถามแบบนี้เหมือนถามว่าจะทำอะไรก่อนทำอะไรหลัง ซึ่ง ณ วันนี้เป็นเวลาที่ไทยควรจะต้องลงมือทำได้แล้ว ลำดับไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความสำคัญอยู่ที่การลงมือทำ
ทั้งนี้ นายอดัม กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตอนนี้ยังเชื่อว่าความโชคดีในความโชคร้ายนั้นเราคงไม่อาจรอคำตอบจากสวรรค์ เทวดาหรือนางฟ้าได้เลย ความมหัศจรรย์อยู่ที่การร่วมกันหาทางออก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องทำอะไรก่อนอะไรหลัง
“จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาอยากบอกคนไทยทุกคนว่า หลายประเทศพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า การปฏิรูปโครงสร้างบนสถานการณ์ความขัดแย้งที่สูงและซับซ้อนเกิดขึ้นได้จริง แต่เส้นทางการปฏิรูปนั้นจะต้องใช้ความอดทน ซึ่งเส้นทางสายนั้นไม่มีทางลัด ดังนั้นวันนี้พวกคุณต้องไม่รอและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สถานการณ์นิ่งแล้วจึงเริ่มปฏิรูป เพราะการปฏิรูปต้องทำเดี๋ยวนี้ ทันที”