'ดร.เพิ่มศักดิ์' จี้สื่อเลิกใช้คำสร้างความเกลียดชัง หวั่นบานปลายสงครามกลางเมือง
ดร.เพิ่มศักดิ์’ ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง 2 องค์กรวิชาชีพสื่อ จี้ทบทวนนำเสนอถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง หวั่นบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติวิทยา ม.มหิดล ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง ขอให้ทบทวนการนำเสนอสื่อและข่าวสารที่มีความรุนแรงในช่วงวิกฤตการเมือง
โดยผ่านการรณรงค์รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนผ่านเว็บไซต์ change.org ซึ่งผ่านไป 2 วัน มีผู้ร่วมลงชื่อ 11 คน จากทั้งหมด 10,000 คน
ทั้งนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ ระบุถึงรายละเอียดในจดหมายเปิดผนึกว่า นับจากนี้จนถึงเดือนเมษายนซึ่งจะมีการเลือกตั้งซ่อมนั้น คาดว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงหลายประการ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปะทะกันของมวลชนทั้งสองฝ่ายในระดับที่รุนแรงถึงกับบาดเจ็บล้มตายได้ ถ้าไม่มีการทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาและหาทางป้องกันไว้ก่อน
จากการที่มีผู้วิเคราะห์เรื่องถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (Hate Speech) ในช่วงความขัดแย้งสังคมการเมืองไทยที่ผ่านมานั้นพบว่ามีลักษณะที่รุนแรงหลายประการ อาทิ การบิดเบือนและปกปิดข้อเท็จจริง การให้ร้ายหรือประณามฝ่ายตรงข้าม การแสดงความเกลียดชัง แบ่งเขาแบ่งเรา ปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน การปลุกระดม ยุยง ปลุกปั่น ข่มขู่คุกคาม และไล่ล่า ชักนำให้สังคมมองความรุนแรงเป็นสิ่งที่เหมาะสมและชอบธรรม รวมทั้งการเห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของคู่ขัดแย้งเป็นชัยชนะของตน ข้อความเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
บัดนี้ ความขัดแย้งรุนแรงที่ได้สะสมมานานทำให้อารมณ์ของมวลชนคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายได้ปะทุขึ้นถึงระดับสูงสุดพร้อมที่จะแตกหักแล้ว จึงเชื่อว่า หากมีการสื่อสารด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชังใด ๆ เพิ่มขึ้นอีก ก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการเร่งระดมมวลชนและอาวุธเข้าเผชิญหน้าทำร้ายกันด้วยความรุนแรงถึงชีวิต หรืออาจขยายวงเป็นสงครามกลางเมืองก็เป็นได้
ดังนั้น สื่อจึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อการขยายความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันใกล้นี้
ดร.เพิ่มศักดิ์ จึงขอใช้โอกาสนี้ เรียกร้องให้หน่วยงาน องค์กร และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนทุกกลุ่มทุกประเภทโปรดทำหน้าที่ในการช่วยเฝ้าระวัง ลดทอน ยับยั้งสื่อและการสื่อสารที่มีโอกาสก่อให้เกิดความรุนแรงและทำลายสันติสุขของสังคม ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.องค์กรและหน่วยงานด้านสื่อสารมวลชน ขอให้ทบทวนเป้าหมายและวิธีการการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ว่าได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคมหรือไม่อย่างไร และได้ทำหน้าที่ด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมเต็มที่แล้วหรือยัง
2.การสื่อสารนับจากนี้ไป เรียกร้องให้องค์กร/บุคลากรสื่อ/ประชาชน ควบคุมถ้อยคำที่แสดงความเกลียดชังด้วยวิธีการต่อไปนี้
2.1 สื่อมวลชนวิชาชีพ ขอให้บุคลากรสื่อได้มีจิตสำนึกและความตระหนักว่าการผลิตสื่อที่มีถ้อยคำแห่งความเกลียดชังและเผยแพร่สื่อสู่สาธารณะนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมมากเกินพอแล้ว หากสามารถลดละเลิกการผลิตซ้ำถ้อยคำแห่งความเกลียดชังสู่สาธารณะได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเป็นคุณูปการต่อบ้านเมืองและสังคมโดยรวมมากเท่านั้น
2.2 ประชาชนผู้ใช้สื่อ ในการแสดงความคิดเห็นหรือการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารในระบบออนไลน์และพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ขอให้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่สื่อสารด้วยถ้อยคำรุนแรง ให้ความเคารพต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และพิจารณาอย่างรอบคอบในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร บนฐานความสามัคคีและความสงบสุขของสังคมเป็นสำคัญ
2.3 ประชาชนผู้บริโภคสื่อ ขอให้เลือกรับสื่อและข้อมูลข่าวสารจากสื่ออย่างหลากหลาย รอบด้าน และใช้สติในการพิจารณาข่าวสารที่จะก่อให้ความรุนแรงอย่างเท่าทัน และไม่ตกเป็นเครื่องมือของสื่อที่ยั่วยุด้วยถ้อยคำแห่งความเกลียดชังไปสร้างความรุนแรงต่อสังคม .