นักวิชาการชี้เดินหน้าปฏิรูปไม่ต้องเริ่มใหม่ ย้ำตอนนี้ต้องประณามความรุนแรงก่อน
ถกเวทีปฏิรูป 'บัณฑูร' ยันปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่าน เสนอมีรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป ด้าน 'เศรษฐพุฒิ' แนะประเด็นปฏิรูป ไม่ต้องไปเริ่ม-คิดใหม่ ให้เอาของที่ทำมาแล้วมาทำต่อ ส่วน 'ไพโรจน์' ระบุชัดกระบวนการค้นหาความจริงคือสิ่งที่ต้องเร่งทำ วอนทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ ‘ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป’ ณ ชั้น 6 ห้องกมลมาศ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
เริ่มต้นปฏิรูปควรทำ 3 เรื่อง
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวถึง “สิ่งที่ต้องปฏิรูป…ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร เริ่มต้นตรงไหน?” ว่า หากต้องการเห็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปนั้น ส่วนแรกต้องมองดูเรื่องกลไกและ กระบวนการ ซึ่งเรื่องที่สองต้องมองดูเนื้อหาและแนวทางการปฏิรูป โดยขณะนี้หลายองค์กรมีความเห็นตรงกันว่า ต้องมีการปฏิรูป ดังนั้นให้หยิบประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันขึ้นมาเนื่องจากเรามีทุนเดิมในแง่ความรู้ ผู้ปฏิบัติการในการจับประเด็นเหล่านั้นอยู่แล้ว
สำหรับเรื่องที่ต้องปฏิรูปนั้น ดร.บัณฑูร กล่าวว่า มี3 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องการคอร์รัปชั่น การกระจายอำนาจ และเรื่องการเมือง สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้นจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการเข้าสู่อำนาจทาง การเมืองในการเลือกตั้ง และประเด็นต่อมาที่ต้องปฏิรูปหลังการเลือกตั้งคือการควบคุมอำนาจทั้งอำนาจ บริหารและอำนาจอธิปไตยทางตรง เชื่อว่าหากสามารปฏิรูปเรื่องนี้ได้จะส่งผลให้การปฏิรูปด้านอื่นๆก้าวกระโดดไปได้ เพราะที่ผ่านมามีการใช้อำนาจผ่านคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นโครงการที่มีปัญหา ต่างๆ ทั้งจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากคณะกรรมการระดับชาติ และคณะกรรมการในนโยบายต่างๆ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็จะเน้นไปที่ความเห็นของกฤษฎีกาเป็นส่วนใหญ่ทำให้กฎหมายก้าวหน้าของภาคประชาชนไม่สามารถผ่านพ้นไปได้
“เรามีบทเรียนในการเรียนรู้เรื่องปฏิรูป เห็นความตื่นตัวในการปฏิรูปที่ตรงกัน แต่โจทย์สำคัญวันนี้คือจะมีรูปแบบอย่างไรที่จะให้พลเมืองที่ออกมาตื่นตัวได้ มีส่วนร่วมที่แท้จริงกับการปฏิรูป”
ดร.บัณฑูร กล่าวอีกว่า เราอยากเห็นการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นเสนอไปยังภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่ต้องรู้ร้อนรู้หนาวกับคนในสังคม ต้องทำงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์ให้กับสังคม ภาคธุรกิจต้องไม่ต้องสนองต่อการคอร์รัปชั่น การเสนอการปฏิรูปไม่ใช่แค่การเสนอให้กับฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียวเท่านั้นสุด ท้ายเงื่อนไขของการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จากแรงขับเคลื่อนของภาคประชาชน
“การปฏิรูปจะเกิดขึ้นโดยจะต้องมีผู้นำในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน หรือที่เรียกว่ารัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป เป็นรัฐบาลที่มาจากระบบการเลือกตั้งเพื่อขึ้นมาบริหารประเทศและมาทำภาระกิจ เพื่อการปฏิรูป ไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต”
3 ประตูทางออกสะท้อนอนาคตปฏิรูป
ด้านนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูป กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศที่จะเกิดขึ้นคงไม่ใช่การปฏิรูปแบบฉาบฉวยแล้วเสร็จไปได้ ง่ายๆ เชื่อว่าอีก 10 ปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปและทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ 3 ระยะ คือ ระยะแรก การเปลี่ยนผ่านอำนาจว่าจะเปลี่ยนผ่านไปแบบไหนและจะมีผลต่อการปฏิรูปอย่างไร ซึ่งในขั้นตอนการเปลี่ยนนั้นมีความสำคัญว่าจะออกประตูไหน ประตูแรกคือได้รัฐบาลและสภาที่มาจากกระบวนการการเลือกตั้งแบบเดิม เป็นรัฐบาลเฉพาะกิจอาจจะทำงานสัก 2 ปี ประตูที่ 2 แบบประชาภิวัฒน์หรือการปฏิวัติโดยสันติของประชาชน ถ้าเป็นแบบนี้คือเขามีข้อเสนอว่าต้องมีรัฐบาลเฉพาะกาลว่าด้วยการปฏิรูป ประเทศเป็นเวลา 12-18 เดือน และมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลและสภานิติในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องบริหารจัดการได้ โดยมีกลไกในการออกกฎหมาย หรือประตูที่ 3 คือจากเหตุการณ์ที่เด็กถูกฆ่าตายติดต่อกัน และมีการก่อความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้า อาจจะก่อนให้เกิดการบีบคั้นและทำให้เกิดการรัฐประหารซึ่งจะไปซ้ำวงจรเดิม
“ไม่ว่าจะออกประตูไหนก็จะมีผลต่อกระบวนการปฏิรูปในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้ท้าทายขีดความสามารถของประเทศไทยว่าสังคมจะจัดการอย่างไร เพราะต้องมีทางออกอยู่หนึ่งประตู และต้องรีบหาทางออกให้เร็วคือไม่ควรให้เกิน 3เดือน เพราะหากเกินนี้จะมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น”
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า ในระยะที่2 การปฏิรูปเฉพาะหน้าควรเลือกเรื่องที่จะนำมาปฏิรูปสัก3-4 เช่นปรับปรุงแก้ไขประชาธิปไตยตัวแทนก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้ง การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลต้องมีนโยบายเอาจริงเอาจัง หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่หมักหมม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ เรื่องจำนำข้าว หรือโครงการเมกกะโปรเจคใหญ่ๆ และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องการกระจายอำนาจ
"ส่วนระยะที่ 3 นั้นก็เน้นเป็นเรื่องของที่ดิน ระบบภาษี การเกษตร เรื่องของพลังงาน ซึ่งมีคนศึกษาไว้พอสมควร แต่ที่ผ่านมาการปฏิรูปของเมืองไทยไม่เคยสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การปฏิรูปที่พอเป็นรูปร่างและดูประสบความสำเร็จมากที่สุดดังนั้นบทเรียนของ การปฏิรูปสุขภาพจะมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อกระแสความตื่นตัวที่เกิดขึ้น
ขณะที่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวทางของการปฏิรูปคือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานที่ต่อต้านคอรัปชั่น กระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกว่าเห็นการทุจริตและเดือดร้อนพอที่จะออกมาต่อต้าน เกิดการสังเกตและบอกกล่าวการทุจริตที่เกิดขึ้นในประเทศ แก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และให้รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน เปิดเผยข้อมูลการบริหาร จัดการด้านการเงินให้ได้มาตรฐานเหมือนบริษัทที่จดทะเบียนใน ที่สำคัญคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เรายังต้องกระตุ้นนักการเมืองไม่ให้แสวงหาอำนาจและโอกาสในการทุจริต
ปฏิรูปกระบวนการค้นหาความจริง
ส่วน นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงกระบวนการค้นหาความจริง เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องปฏิรูป เพราะตอนนี้ความจริงถูกเลือกข้างไปแล้ว และต่อไปจะเป็นความจริงของฝ่ายชนะ ดังนั้นจะเห็นว่ารัฐบาลชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอป.) นำหลักการสำคัญเรื่องความยุติธรรมเชิงเปลี่ยนผ่านเพื่อมาจัดการความขัดแย้ง ซึ่งทาง คปก.พยายามศึกษาความขัดแย้งหลักยุติธรรมเชิงเปลี่ยนผ่านว่า ใช้ได้หรือไม่ในสังคมไทย
สำหรับกระบวนการค้นหาความจริงนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า 1.จะต้องไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล ทำได้ไหมสังคมไทย ฆ่าคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 2.ต้องค้นหาความจริง ไต่สวนความจริงซึ่งความจริงต้องไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องเป็นความจริงของสังคม ซึ่งในอดีตเราไม่เคยได้ความจริงเลย ยิ่งถ้าค้นหาความจริงตอนนี้แต่ละฝ่ายก็มีความจริงกันคนละด้าน และ 3. หลักยุติธรรมต้องชดเชยเยียวยา แต่ขณะนี้กลายเป็นแต่ละฝ่ายเยียวยาฝ่ายตัวเอง รัฐมีหน้าที่ต้องเยียวยาทั้ง 2 ฝ่ายไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวอีกว่า การปฏิรูปเรื่องสถาบันก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นของตำรวจ เพราะเป็นขั้นต้นของการค้นหาความจริง ถ้าบิดเบี้ยวแต่ต้นกระบวนการก็จะบิดเบี้ยวทั้งหมด หลังจากค้นหาความจริงได้แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม ไม่ใช่นิรโทษกรรมก่อนแล้วค่อยมาค้นหาความจริง นี่เป็นการปฏิรูปที่เราจะต้องทำแต่อาจจะต้องใช้เวลา
“การปฏิรูปเฉพาะหน้าที่ต้องทำขณะนี้คือต้องประณามคนที่ใช้ความรุนแรงทุกคน ทุกฝ่าย ไม่เลือกข้าง ถ้าเลือกข้างเมื่อไหร่เท่ากับสนับสนุนให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรง เราต้องไม่สนับสนุน หรือไปขอบคุณผู้ใช้อาวุธ และยังยืนยันว่าผู้นำทั้งสองฝ่ายต้องพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น และไม่ใช่ทำเป็นปากว่าตาขยิบไม่ใช่ว่าประโยชน์แล้วไม่พูด อย่าดีใจกับการเสียชีวิตของอีกฝ่าย เราไม่ควรจะเป็นเช่นนี้”
ทั้งนี้ นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปจะเกิดเป็นรูปธรรมก็ต่อเมื่อเรามีกลไกให้การปฏิรูปเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่ทิ้งให้การปฏิรูปเป็นภาระกิจของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ต้องมีองค์กรระดมผู้คนให้เข้าสู่การปฏิรูปเพื่อรักษาความต่อเนื่อง
ปฏิรูปที่ดินทำมานานยังไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวว่าสิ่งที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากนั่นคือการปฏิรูปที่ดินที่ทำมายาวนานแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในขณะนี้ที่เรานึกถึงคนตายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนที่ตายทั้งเป็นนับล้านคนที่ยังคงไร้ที่ทำกินและหอบผ้าหอบผ่อนมาอยู่ข้างถนนและไม่สามารถที่จะดูแลครอบครัวตัวเองได้ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความลำบากยากจน และเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาถูกพรากออกไปจากสังคม
สำหรับสาเหตุที่ทำให้กลุ่มเกษตรกรหรือคนไร้ที่ทำกิน ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า 1.เกิดจากนโยบายที่ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพารัฐ และนโยบายส่วนใหญ่ที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้กลุ่มเกษตรกรมีส่วนร่วมและเข้าไม่ถึงการจัดสรรทรัพยากร และต้องกลายเป็น "ม้า" ที่ต้องเดินตามทางที่รัฐบาลกำหนด ไม่มีโอกาสและไม่มีทางเลือก 2.เกิดจากระบบความไม่เป็นธรรมด้านการผลิตทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง และ3.คือกลไกโครงสร้างทำให้เกษตรกรไม่มีอำนานในการต่อรอง
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้เรื่องการปฏิรูปที่ดินจะถูกหยิบยกและพยายามที่ทำให้เกิดกระบวนการปฏิรูป แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลขาดเจตจำนงในการแก้ปัญหา มีทัศนคติเชิงลบกับเกษตรกร เวลาออกกฎหมายไม่สนใจให้ประชาชนมีส่วนร่วม แล้วที่ผ่านมาหลายนโยบายประชาชนไม่ได้ต้องการ เลิกยัดเหยียดแล้วหยุดโทษชาวนาได้แล้ว”
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว และว่า การแก้ปัญหาง่ายๆ เพียงแค่กระจายที่ดินให้เป็นของชาวนาเขาก็จะเกิดแรงจูงใจในการปรับปรุงพื้นที่ทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จริงๆแล้วเราทำได้ ไม่ต้องไปจำนำ ประกันราคา ไม่ต้องแทรกแซงตลาด ให้ตลาดทำการค้าแบบเสรี อย่าให้เกิดอำนาจผูกขาดเท่านั้นเอง
สุดท้ายดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวถึงประเด็นการปฏิรูปอย่างไรนั้น จะต้องเลือกประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันขึ้นมาเพียงหนึ่งประเด็น แล้วอย่าไปเริ่มใหม่ อย่าไปคิดใหม่ แต่เอาของที่ทำมาแล้วมาทำต่อ เพราะหากเราเริ่มใหม่ เอาคนกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาร่วมคุยกันอีกเชื่อว่าคุยจบแล้วก็ได้มาเหมือนที่เคยได้มา จึงไม่ควรไป set กระบวนการใหม่ รวมถึงเราต้องมีความชัดเจนกับสิ่งที่จะปฏิรูปและการวัดผลที่ชัดเจนกว่าที่ผ่านมา
ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า การที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อที่จะให้แต่ละฝ่ายนำเรื่องเหล่านี้ไปปฏิบัติได้จริงนั้น ไม่ได้มีทางออกวิเศษอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าช่วยได้ คือ การทำแผนให้อยู่ในรูปแบบของข้อตกลงร่วมกัน คล้าย ๆ กับเอ็มโอยู ที่หลายฝ่ายหรือรัฐบาลเองบางคนก็นำไปปฏิบัติหรือฝ่ายที่จะมาประเมินหรือตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือภาคประชาชนต่าง ๆ นักวิชาการต่าง ๆ มาร่วมกันดู เพราะว่าเราบอกว่าเราจะร่วมกันติดตามเรื่องนี้ และสามารถทำได้ไม่ยากเย็นอะไรและจะไม่ทำให้การปฏิรูปของเรากลับไปซ้ำรอยเดิม
|
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'ดร.สมคิด' :เรากำลังเปิดประตูและเดินสู่รัฐล้มเหลว "อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย"
'ไพโรจน์' ชี้ความรุนแรงไทยเดินไปไกลมาก มองคู่ต่อสู้ไม่ใช่คน 2ฝ่ายยินดีกับการสูญเสีย