‘ดร.บัณฑูร’ แนะสร้างระบบประเมินยุทธศาสตร์แก้สิ่งแวดล้อมเเทนอีไอเอ-อีเอชไอเอ
‘ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์’ ยกมติสมัชชาสุขภาพ 4 ข้อ ทางออกปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ชี้ปัญหาความขัดแย้งเกิดจากระดับนโยบาย ระบุควรสร้างระบบประเมินสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์แทนอีไอเอ-อีเอชไอเอ
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา ‘ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปสิ่งแวล้อม...ปฏิรูปอะไร’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันชาวนา นักวิชาการ และนักธุรกิจ ต่างไม่ยอมรับเครื่องมือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) จึงเสนอให้มีการรื้อสร้างระบบดังกล่าวใหม่ ซึ่งตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 ได้เสนอแนวทาง 4 ข้อ คือ
1.การแยกเจ้าของโครงการออกจากผู้ทำ EIA ยกตัวอย่างโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ให้บริษัทผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ทำเอง นำมาสู่การไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าเมื่อบริษัทได้สิทธิ์ในโครงการแล้วก็ควรไปว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอื่นทำแทน ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาคอร์รัปชั่นที่ตามมาได้ด้วย
2.การกำหนดอายุของ EIA ปัจจุบันมีรายงานหลายฉบับได้รับการอนุมัติแล้วไม่มีอายุ เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี หยิบรายงานฉบับนั้นมาพิจารณายังได้อยู่อีก จึงไม่ควรทำได้
3.การกำหนดให้ EIA มีผลต่อการตัดสินใจยุติโครงการ ไม่ใช่รายงานที่แก้ 5-6 รอบ จนผ่านและสามารถทำให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พอใจ แต่อย่าลืมว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยระบุว่าไม่มีการส่งรายงาน EIA ให้ตรวจสอบกว่า 70%
“หากเห็นว่าในการศึกษา EIA ที่มีการแยกเป็นอิสระจากบริษัทเจ้าของโครงการ แล้วมีการระบุว่าโครงการนี้หากดำเนินการไปจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูง มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสูง จนนำไปสู่ข้อเสนอให้ยุติโครงการ ไม่ใช่ข้อเสนอให้ไปเพิ่มมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม”
4.การปฏิรูปองค์กรต้าน EIA ของรัฐเป็นองค์กรมหาชน เพื่อให้เป็นอิสระจากภาคการเมือง ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือสั่งได้
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญจะต้องสร้าง ‘การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์’ (Strategy Environmental Assessment: SEA) ส่วน EIA หรือ EHIA นั้นให้ครอบคลุมระดับโครงการ แต่ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากระดับนโยบาย เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ดังนั้นนโยบายเหล่านี้ต้องหยุด EIA ในปัจจุบัน แล้วรื้อสร้างใหม่โดยเริ่มจากนำ SEA มาใช้ให้ได้ผลจริง .
ภาพประกอบ:http://www.siamintelligence.com/