43 องค์กรด้านเด็ก เรียกร้องทุกฝ่ายยุติความรุนแรง จี้ตร.หาคนผิดมาลงโทษ
เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กทุก รูปแบบในพื้นที่ชุมนุม พร้อมวิงวอนผู้ปกครองไม่นำเด็กเข้าร่วมชุมนุม
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กรจัดอภิปราย และอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กทุกรูปแบบในพื้นที่ชุมนุม
นางสุธาทิพย์ ธัชยพงษ์ ประธานคณะทำงานด้านเด็ก และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติในฐานะตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก 43 องค์กร กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะของมวลชนกลุ่มใดในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง และนำไปสู่การสูญเสียต่อชีวิตร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้เปราะบางต่อสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าว
สำหรับเหตุการณ์การขว้างระเบิดและกราดยิงผู้ชุมนุมในเวที กปปส.ตลาดยิ่งเจริญ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราดนั้น ในคืนวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และเหตุการณ์ยิงระเบิด M-79 ในพื้นที่ราชประสงค์ ในช่วงเย็นของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 4 คน มีผู้บาดเจ็บสาหัส และบาดเจ็บทั่วไปอีกจำนวนมาก นับเป็นการกระทำที่โหดร้าย และมุ่งเป้าผู้บริสุทธิ์อย่างจงใจ
เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก อันประกอบไปด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน สมาคม มูลนิธิฯ จำนวนกว่า 43 องค์กร ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเด็ก เยาวชน ผู้สูญเสียชีวิต และมั่นใจว่า เด็กเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการดูแลทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานการรักษาที่ดีที่สุด และเพื่อไม่ให้มีสถานการณ์และความรุนแรงที่นำไปสู่การสูญเสียที่มากขึ้น
|
เครือข่ายองค์การทำงานด้านเด็ก จึงขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.เครือข่ายองค์กร ทำงานด้านเด็ก ขอประณามผู้กระทำความรุนแรงจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต ร่างกาย จิตใจและทรัพย์สินต่อประชาชนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะไม่อาจยอมรับการกระทำที่ทำให้เยาวชน เสียชีวิตหรือได้รับอันตราย ทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม หรือบุคคลอื่นใด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
2.เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็กขอให้เจ้าหน้าที่รัฐเร่งหาตัวผู้กระทำความผิดเพื่อรับโทษในทางกฎหมาย อีกทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้จัดการชุมนุม และผู้เกี่ยวข้องเร่งเยียวความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กและครอบครัว ทั้งกรณีที่เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บ และได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ หรือความสูญเสียอื่นใดอันจะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว
3.เนื่องจากเด็กเป็นบุคคลที่เปราะบางและตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดในสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอวิงวอนให้ผู้ปกครองไม่นำเด็กเข้าร่วมการชุมนุม หรือพาเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงที่ยากจะประเมินความปลอดภัยได้
4.ในกรณีที่พบกว่ามีเด็กในสถานที่ชุมนุม เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็กขอให้ผู้จัดการชุมนุม และผู้ปกครอง คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นอันดับแรก โดยแนะนำให้ผู้ปกครองนำเด็กออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยทันที
นอกจากนี้แล้ว เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ของตนเองในการปกป้องคุ้มครองเด็กเพื่อความปลอดภัยจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก อันนำมาซึ่งความสูญเสีย และความเสียใจอย่างสุดซึ้งในสังคมไทย
ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรทำงานด้านเด็ก 43 องค์กรที่เข้าร่วมการอ่านแถลงการณ์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย มูลนิธิรักษ์เด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก มูลนิธิสายเด็ก 1387 องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) Save the Children องค์การเฟรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิเด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก สหทัยมูลนิธิ มูลนิธิคุ้มครองเด็ก มูลนิธิสิกขาเอเชีย สมาคมศูนย์พัฒนาเยาวชน สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เด็ก โสสะมูลนิธิ สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านครูน้อย
มูลนิธิมิตรมวลเด็ก สถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กปัญโญทัย มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล เสถียรธรรมสถาน มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก มูลนิธิบ้านชนะใจ มูลนิธิผู้หญิง มูลนิธิ Right to play ละครชุมชนกั๊บไฟ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมสุขภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เครือข่ายตาสับปะรด