เอ็นจีโอหนุนปฏิรูปเน้นแก้การเมืองถูกซื้อ หวั่นทำชุมชนล่มสลาย
“หมอบรรลุ” ย้ำปฏิิรูป 2 เรื่องหลัก การเมือง-เศรษฐกิจ ห่วงสังคมเเย่ ปัญหารุมเร้า เอ็นจีโอชี้ต้องขับเคลื่อนให้ชุมชนเข้มเเข็ง เน้นกระจายอำนาจท้องถิ่นเเท้จริง ประธานชมรมผอ.รพ.ชุมชนฯ ระบุเป้าหมายไม่ยืนข้างรัฐบาลคอร์รัปชั่น บ่อเกิดทำลายประเทศ
เร็ว ๆ นี้ ที่ห้องประชุมแซฟไฟซ์ อิมแพค เมืองทองธานี สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และองค์กรภาคเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “จากปฏิรูประบบสุขภาพ สู่ปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อพิจารณาข้อเสนอในการปฏิรูประบบสุขภาพสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย
นพ.บรรลุ ศิริพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโส อดีตกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (คปรส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมสุขภาวะระดับประเทศยังถือว่าไม่ดี ซึ่งทำให้ชีวิตคนไม่เป็นสุขเท่าทีควร ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปให้ดีขึ้น แต่การปฏิรูปคงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยนั้น ในความเห็นส่วนตัว ควรทำเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ เพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ การปฏิรูปการเมืองการปกครอง และ การปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองเรื่องก็มีความเกี่ยวข้องกัน
โดยระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นระบบทุนนิยม ที่มีหลัก 3 ข้อ คือ 1.คนรวยได้เปรียบคนจน 2.คนฉลาดได้เปรียบคนโง่ และ 3.คนแข็งแรงได้เปรียบคนอ่อนแอ ทำให้สังคมยิ่งแย่ โดยคนรวยยิ่งรวยมากขึ้น คนจนก็ยิ่งจน หรือที่เรียกว่า รวยกระจุกจนกระจาย แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นคือคนรวยนอกจากจะได้เปรียบแล้วยังเอาเปรียบคนจน เช่น หนีภาษี
ดังนั้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะส่งผลเสียอย่างมากในระยะยาว และทุนนิยมยังทำให้เกิดการใช้อำนาจเงินเป็นตัวชี้นำ และมีการใช้อำนาจเงินซื้อระบบการปกครอง ซึ่งยิ่งทำให้ส่งผลเสีย ดังนั้นหากยังไม่แก้ไขก็จะส่งผลให้ภาวะทางสังคมยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามนอกจากจะต้องปฏิรูปสังคมแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องปฏิรูปคือ จิตปัญญา คือต้องรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ
จากนั้นในเวทีเสวนาหัวข้อ “ต่อยอดปฏิรูประบบสุขภาพสู่ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ
นางปรีดา คงแป้น อดีตกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.)และผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า เราพบโครงสร้างของการปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยนั้นยังไปไม่ถึงไหน ในยุคสมัยหนึ่งของการต่อสู้ในเรื่องของการปฏิรูปเรามีกลุ่มเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมอย่างกลุ่มสมัชชาคนจน แต่การเรียกร้องก็ยังติดขัดเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในเชิงโครงสร้าง ต่อมารูปแบบของการปฏิรูปได้มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นโดยนพ.ประเวศ วะสี ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ได้มีการดึงข้าราชการและภาคองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมด้วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกร่วมกัน และเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตเช่นนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ร่วมกันหาทางออกเพื่อให้บ้านเมืองเดินไปสู่ทางออกที่ดีขึ้น
"พวกเราต้องช่วยกันผลักดันและต้องช่วยกันทำเรื่องนี้เพราะประเด็นของการปฏิรูปประเทศไทยในตอนนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยสิ่งที่เราจะสามารถทำได้ในขณะนี้คือ ใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพที่รวมเครือข่ายที่หลากหลายทั้งประชาชนองค์กรเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคราชการ มาเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป และหามาตรการที่จะทำให้การปฏิรูปชัดเจนขึ้นเพิ่มเข้าไปเพื่อช่วยในการขับเคลื่อน โดยการปฏิรูปจะต้องสนับสนุนให้มีการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดขึ้น" ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าว
ด้านนางศิริพร ปัญญาเสน อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิชัยจังหวัดลำปางและกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดการปฏิรูปนั้นเราจะต้องทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งวันนี้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองและปฏิรูปตนเองไปได้ไกลว่าจังหวัดที่ยังจัดการตนเองได้ช้า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้จังหวัดจัดการตนเองได้ช้านั้นเป็นเพราะยุทธศาสตร์ของส่วนกลางที่ไปกดทับให้ยุทธศาสตร์ของท้องถิ่นอ่อนด้อยลง
สิ่งที่สำคัญคือส่วนกลางจะต้องปรับแนวคิดในเรื่องของการกระจายอำนาจและหนุนเสริมการกระจายอำนาจในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง หนุนเสริมให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้มากโดยเฉพาะกระบวนการของสมัชชาสุขภาพที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและฟังเสียงของประชาชนจากทุกภาคส่วนนั้นเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ได้จริงในการปฏิรูปและการกระจายอำนาจ
"สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนตอนนี้คือประชาชนกำลังเดินไปข้างหน้า แต่รัฐบาลกับถอยห่างประชาชนออกไป นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการเมืองคือ การเมืองที่ยังใช้ระบบของเงินซื้อมานั้นเราจะต้องปรับเปลี่ยน เพราะระบบนี้จะทำให้ชุมชนล่มสลาย เราจะต้องสร้างการตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกร่วมกับทั้งนักการเมืองและทุกภาคส่วนให้เห็นว่าสิ่งที่จำเป็นอย่างแท้จริงในการปฏิรูปคืออะไร" กรรมการสมัชชาสุขภาพจ.ลำปาง กล่าว
ขณะที่นพ.พรเจริญ เจียมบุญศรี ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปฏิรูปในส่วนระบบสุขภาพของประชาชนในประเทศไทย ตนมองว่าบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมักมองในเชิงปฏิบัติ ซึ่งการมองในเชิงปฏิบัติเพียงอย่างเดียวนั้นมีผลกระทบต่อประชาชนซึ่งเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน การที่เราจะปฏิรูปในเรื่องสุขภาพที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขนั้นเราจะต้องมองการแก้ไขปัญหาให้มากกว่าคำว่าสุขภาพและมากกว่าคำว่าปฏิบัติทีมุ่งเน้นในเรื่องของวิชาการเพียงอย่างเดียว
"สิ่งสำคัญที่จะทำให้การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้นั้นเราจะต้องเข้มแข็งและและยึดมั่นในยุทธศาสตร์และความเชื่อของเราที่จะสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคประชาสังคม นอกจากนี้เป้าหมายในการปฏิรูปของเรานั้นจะต้องชัดเจนว่าเราต้องการปฏิรูปไปเพื่อสิ่งใด" นพ.พรเจริญ กล่าว เเละว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดำเนินการในการขับเคลื่อนของเราจะต้องดำเนินการไปพร้อมกันทุกภาคส่วน เครือข่ายองค์กรสาธารณสุขเองก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปให้มากโดยจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือไม่ยืนข้างรัฐบาลที่เอาเปรียบประชาชนและโกงประชาชนเพราะการเอาเปรียบคอร์รัปชั่นหรือการโกงจะทำลายทุกระบบที่จะเกิดขึ้นในการปฏิรูป .