เลิกใส่เกียร์ว่าง ‘ดร.พิรงรอง’ จี้ กสทช. คุมสื่อหยุดใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง
นักวิชาการจุฬาฯ ชงข้อเสนอปฏิรูปประเทศ 5 ด้าน แนะยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ตั้งระบบตรวจสอบภาคปชช.ขจัดคอร์รัปชั่น ‘ดร.พิรงรอง’ จี้สื่อหยุดใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง ติงกสทช.ไม่ทำหน้าที่ “ใส่เกียร์ว่าง” เป็นรัฐบาลรักษาการ
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว ‘ข้อเสนอจากนักวิชาการจุฬาฯ เพื่อการปฏิรูปประเทศ’ ใน 5 เรื่อง ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติเศรษฐศาสตร์, การจำนำข้าว, การปฏิรูปพลังงาน, สถานการณ์ความรุนแรง และการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวเปิดงาน
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงทางทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติเศรษฐศาสตร์ว่า ไทยมีมูลค่าการคอร์รัปชั่นตลอด 15 ปี ที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึงไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่การที่อันดับของไทยแย่ลงเรื่อย ๆ เพราะประเทศอื่นมีการคอร์รัปชั่นลดน้อยลง จนไทยหล่นมาอยู่อันดับ 102 ของโลก ฉะนั้นการจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้จะต้องสร้างระบบตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจที่เข้มแข็งจากภาคประชาชน โดยให้ดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและเอกชน นอกจากนี้จะต้องมีส่วนในการผลักดันร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตนกับส่วนร่วมที่ค้างในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
“เราต้องแบ่งอำนาจรัฐมาอยู่กับภาคประชาชน โดยเฉพาะการตรวจสอบและการสร้างนโยบาย ตลอดจนถึงการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะผ่านพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ที่ยังทำหน้าที่ไม่ได้ดี” ดร.ธานี กล่าว
ด้านผศ.ดร.สุกานดา (เหลืองอ่อน) ลูวิส คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความสูญเสียจากโครงการรับจำนำข้าวว่า เป็นโครงการที่มีผลการขาดทุนสูงมาก โดยทั้ง 3 โครงการรับจำนำที่ผ่านมา พบสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 มีผลขาดทุน 332,372.32 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมผลขาดทุนจากการดำเนินการตั้งแต่มิถุนายน 2556 ถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การเก็บข้าวไว้ในโกดังที่ถือเป็นสินทรัพย์ของรัฐบาลจะทำให้มีคุณภาพเสื่อมตามกาลเวลา โดยเฉพาะข้าวที่เก็บไว้ 2-3 ปี ก็จะมีราคาตกต่ำกว่าราคาในตลาดปัจจุบันด้วย
“ยิ่งเก็บข้าวไว้นานเท่าไหร่ โครงการรับจำนำข้าวจะมีผลขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น แต่เมื่อใดที่ขายข้าวออกมา รัฐบาลจะต้องรับภาระการขาดทุนทันที” ผศ.ดร.สุกานดา กล่าว และว่า ยิ่งขายข้าวช้าเท่าไหร่ ภาระการขาดทุนที่คนไทยต้องแบกรับในรูปของหนี้สาธารณะจะยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะต้องขายข้าวในราคาที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
นอกจากนี้โครงการรับจำนำข้าวยังทำลายตลาดการส่งออกของข้าวไทย ซึ่งลดลงทุกปีตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยในปี 2555 มูลค่าการส่งออกข้าวลดลง 23.8% และในปี 2556 ลดลง 6.4% อีกทั้ง การดำเนินนโยบายดังกล่าวได้สร้างแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องให้ชาวนา เพราะราคาประกันสูงกว่าตลาด 40-50% ทำให้ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวหรือทำนาเพิ่มขึ้นปีละ 3 ครั้ง โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว แต่จะมุ่งให้ได้ผลผลิตสูง ที่สำคัญ ยังเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นในทุกระดับด้วย
ผศ.ดร.สุกานดา จึงเสนอทางออกให้รัฐบาลเร่งขายข้าว เพื่อชำระหนี้ให้ชาวนา พร้อมทั้งยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากเป็นโครงการที่ขาดทุนหลายแสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณและจะไม่มีเงินเพียงพอในการลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐาน และควรส่งเสริมให้ชาวนามีรายได้เสริมจากแหล่งอื่น ส่งเสริมการวิจัยภาคการเกษตร ปรับปรุงระบบชลประทาน กำหนดโซนในการปลูกพืช ประกันภัยพืชผล และเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน รวมถึงสร้าง Social Protection Systems ที่ได้ผลเพื่อลดความยากจนจากความร่วมมือจากภาครัฐและชุมชน
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการปฏิรูปพลังงานว่า ต้องปรับองค์ประกอบคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายพลังงานให้มีสัดส่วนขององค์กรอิสระ ประชาชน และนักวิชาการเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและข้าราชการ เพื่อเกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบได้ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายเพราะอยู่ในประกาศไม่ใช่กฎหมาย
นอกจากนี้ต้องสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้แก่หน่วยงานกำกับดูแล พร้อมทั้งขยายขอบเขตเพิ่มเติบให้ครอบคลุมกิจการปิโตรเลียม รวมถึงสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้ง ปรับโครงสร้างให้มีการแข่งขันมากขึ้น โดยเปิดให้บุคคลที่สามใช้บริการ โดยเฉพาะกิจการที่มีการผูกขาด เช่น ก๊าซ และระบบไฟฟ้า
ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานพลังงานไทยยังต้องเป็นผู้นำในการสร้างรายได้จากการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานในต่างประเทศสร้างรายได้ชดเชยการนำเข้าพลังงานอย่างสมดุล และกระจายส่วนแบ่งของธุรกิจพลังงานสู่ภาคประชาชนมากขึ้น ผ่านธุรกิจใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน รวมถึงจัดตั้ง ‘ศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ’ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลพลังงานอย่างเป็นทางการของประเทศ
ขณะที่ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) พบในสื่อออนไลน์มีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองและศาสนา ซึ่งตอบโจทย์สถานการณ์สังคมในปัจจุบัน โดยเป็นการยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง เช่น การประณาม การดูหมิ่น
สำหรับในสื่อวิทยุโทรทัศน์กระแสหลักพบประเด็นความเกลียดชังเกิดจากคำพูดของผู้ดำเนินรายการ การเล่าข่าว การแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นข่าว รองลงมาในสื่อกระแสรองพบเกิดจากการปล่อยคลิป อ่านเอสเอ็มเอสจากทางบ้านหรือเปิดสายหน้าไมค์ โดยขาดการกำกับดูแลจากองค์กร
“กสทช.เหลือวาระการทำงานอีก 4 ปี จึงไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ดังนั้นขอให้เลิกใส่เกียร์ว่างเสียที แล้วหันมาดำเนินการบางอย่างกับสื่อที่สร้างความเกลียดชัง โดยเฉพาะวิทยุโทรทัศน์ แต่ทั้งนี้ไม่ควรใช้อำนาจเพียงลำพัง หากต้องร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องด้วย” ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการยุติสถานการณ์ความรุนแรงว่าทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอันดับแรก ซึ่งศูนย์ข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมืองรู้สึกวิตกกังวล เนื่องจากเป้าหมายความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรงนั้นกลายเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วไป ดังนั้นหากจะดำเนินการใด ๆ จะต้องคำนึงให้มาก ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายสามารถร่วมกันทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้ารัฐหรือผู้ชุมนุมฝ่ายเดียว .