คำฝากจากปลายขวานถึงว่าที่นายกฯใหม่
การเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และท้าทายขึ้นในบ้านเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการมีว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ด้วยวัยเพียง 44 ปี และทำงานการเมืองจริงๆ แค่ไม่ถึง 8 สัปดาห์ แต่กลับต้องเข้ามาแบกรับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศ
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีประเด็นท้าทายที่กำลังพูดกันมาก กล่าวคือพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งและกวาดที่นั่ง ส.ส.ทั่วประเทศเกินครึ่งสภานั้น กลับไม่มี ส.ส.ในดินแดนปลายสุดด้ามขวานเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่ปัญหาภาคใต้ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องการพลังในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขสูงมาก
แต่ถึงกระนั้น เมื่อได้สอบถามทัศนะ ความรู้สึก และความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งพุทธและมุสลิมแทบทุกสาขาอาชีพในพื้นที่แล้ว พบว่าแทบทุกคนยังตั้งความหวังและให้โอกาสกับรัฐบาลชุดใหม่ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ทั้งยังมีคำฝากจากพี่น้องปลายสุดด้ามขวานส่งถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ โดยเฉพาะเรื่องความเดือดร้อนเฉพาะหน้าซึ่งแต่ละคน แต่ละสาขาอาชีพ ต้องเผชิญปัญหาแตกต่างกันไปด้วย
แนะเร่งแก้ปัญหาปากท้องลำดับแรก
นายสุไลมาน บือราเฮง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกชอบที่ประเทศไทยกำลังจะมีนายกฯหญิงคนแรกซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในโลกด้วย ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทยเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันหมดทุกเรื่อง หากทำได้จริงตามที่หาเสียงไว้จะเป็นผลดีกับประเทศชาติมาก
“อยากให้นายกฯคนใหม่จัดทีมงานเข้ามาช่วยบริหารและทำงานกับประชาชนคนรากหญ้าอย่างจริงใจ จริงจัง สิ่งสำคัญคือปัญหาปากท้องที่ส่งกระทบถึงทุกคน ขอให้เร่งทำเป็นวาระเร่งด่วนวาระแรก”
จี้กวาดล้างยาเสพติด-ทบทวน พ.ร.ก.
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิทนายความมุสลิม กล่าวว่า ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้พิสูจน์ฝีมือในการทำงาน ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศเพื่อพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องบอกว่าโดนใจ โดยเฉพาะเรื่องเขตปกครองพิเศษ อยู่ที่ว่าจะฝ่าด่านทหารไปได้หรือไม่
เรื่องความเป็นผู้หญิงในฐานะผู้นำคนใหม่นั้น ส่วนตัวมองว่ามีความสำคัญมากต่อการสร้างความปรองดอง เพราะคุณสมบัติของผู้หญิงมีความละมุนละม่อม จึงน่าจะสามารถกระตุ้นให้การปรองดองเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้
สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่อยากให้แก้ไขโดยเร็ว คือปัญหายาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งมีเยอะมาก อีกเรื่องคืออยากให้ทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) รวมทั้งการลดกำลังทหาร
“ในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้ตำรวจปรับการทำงานดีขึ้นอย่างมาก เหลือแต่บทบาทของทหารเท่านั้นที่ยังมีปัญหาอยู่ ส่วนหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องปรับทั้งหมด เมื่อตำรวจเป็นหน่วยเริ่มต้น หากดำเนินคดีไปแล้วไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ อัยการต้องทบทวน ไม่ใช่ปล่อยเลยไป อีกเรื่องคือค่าชดเชยแก่จำเลยหากศาลยกฟ้อง เพราะในปัจจุบันจำเลยกว่า 90% ที่ศาลยกฟ้องคดีแล้ว ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐได้ เนื่องจากในคำพิพากษาระบุว่ามีเหตุอันควรสงสัย แต่ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ด้วยเหตุนี้ประชาชนที่พิสูจน์ตัวเองในชั้นศาลว่าบริสุทธิ์จึงไม่ได้รับการชดเชย อยากให้รัฐบาลใหม่ดูแลอย่างจริงจังและรวดเร็ว”
สร้างความเชื่อมั่น-อย่ามองปัญหาเหมารวม
นายสนิท พรมเจียม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางขุนทอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า รัฐบาลชุดไหนๆ ก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืนหากไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและคนในพื้นที่เอง
ปัญหาหลักๆ ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ คือ ปัญหาการว่างงาน เพราะเมื่อทุกคนมีงานทำ ท้องอิ่ม ความคิดที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีงานทำ ปัญหาจะเกิดขึ้นมากมาย เช่น ปัญหาอาชญากรรม เด็กๆ จะถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ดี เป็นแนวร่วมบ้าง ค้ายาเสพติดบ้าง กลายเป็นเรื่องแย่ๆ ที่ทับถมอยู่ในพื้นที่ขณะนี้
“รัฐบาลชุดใหม่ควรทำการบ้านให้ละเอียด และมองปัญหาสามจังหวัดในมุมแคบ อย่ามองภาพกว้างเหมารวมทั้งหมด เพราะแต่ละพื้นที่ในสามจังหวัดก็มีบริบท ปัญหา ประเพณี และวัฒนธรรมแตกต่างกัน”
“โจทย์แรกต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ เพราะปัจจุบันความเชื่อมั่นไม่มี เนื่องจากไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนจะเข้ามาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ กลายเป็นเรื่องที่ถูกชาวบ้านมองว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจ จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ก่อน บางครั้งเรื่องเล็กๆ บางเรื่องก็อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้ เช่น เจ้าหน้าที่ทีเข้ามาทำหน้าที่ ควรรู้จักภาษาและวัฒนธรรมบ้าง ผมเองในฐานะคนพุทธ อยู่ในพื้นที่นี้ยังต้องทำความเข้าใจ เพราะคนมุสลิมมีมากกว่า อีกอย่างคนแก่ๆ อายุ 50 ปีขึ้นไปเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เมื่อสื่อสารไม่รู้เรื่อง ความเข้าใจย่อมไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นอย่ามองข้ามจุดเล็กๆ เหล่านี้”
ลงพื้นที่ถามชาวบ้านก่อนดัน “นครปัตตานี”
ส่วนประเด็นนครปัตตานีที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบายหาเสียงนั้น นายสนิท บอกว่า คนพื้นที่ยังมองไม่ออกว่านครปัตตานีคืออะไร เพราะยังไม่มีความชัดเจน ฉะนั้นหากจะขับเคลื่อนต่อไป รัฐบาลต้องทำให้คำว่านครปัตตานีกระจ่างเสียก่อน
“คนในพื้นที่บางส่วนมองว่านครปัตตานีไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับพวกเขา หลายคนบอกว่าพื้นที่นี้มีแต่คนคิดให้และพูดแทนเขาตลอด ทั้งที่เขาต้องการแค่งานทำ ท้องอิ่ม อยู่ดีมีความสุข ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยถามชาวบ้าน เอาแต่คิดแทน ไม่เคยลงพื้นที่จริงว่าชาวบ้านต้องการอะไร”
หวั่นเพิ่มปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัตินายหนึ่ง กล่าวว่า เท่าที่ได้สัมผัสชาวบ้าน คิดว่าแรงศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ต่อรัฐบาลชุดใหม่มีน้อยมาก หลายนโยบายที่พี่น้องในพื้นที่ไม่เห็นด้วย เช่น นครปัตตานี ชาวบ้านมองว่าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับชาวบ้าน แถมยังเพิ่มปัญหามากกว่าแก้ปัญหา
“เขากลัวกันว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนที่ชาวบ้านต้องการจริงๆ จะไม่ได้รับเลือก กลายเป็นการเลือกเพราะความเป็นพรรคพวกกัน ขอกัน ซื้อเสียง ใช้อิทธิพล จึงไม่เชื่อว่าจะได้คนดีเข้ามาทำงาน”
ทหารรายนี้ยังบอกด้วยว่า ปัญหาในพื้นที่ตอนนี้ลึกและซับซ้อนมากกว่าคำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ มีอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในที่มืด ชาวบ้านมองเห็น แต่ไม่สามารถพูดได้ สิ่งเหล่านี้ต้องมาทำความเข้าใจ มิฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ก็ไม่มีทางแก้ได้สำเร็จ
ยึดหลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา
น.ส.ซูวัยบะ มะแระปะแต ครูอัตราจ้างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ กับการเมือง เพราะคิดว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยคงไม่มีอะไรต่างจากยุคที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เพราะถึงอย่างไรการทำงานของพรรคเพื่อไทยก็ต้องถูกควบคุมโดย พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่แล้ว
“ฉันไม่ได้คิดถึงขั้นให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาในพื้นที่จนเกิดสันติสุขให้ได้ เพราะปัญหามันลึกเกินกว่าจะมองเพียงภาพกว้างแล้ว ต้องมองให้ลึกและมองอย่างเป็นพิเศษ มองให้ถึงแก่นของปัญหาจริงๆ ทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ปัญหาแบ่งแยกดินแดนหรือความไม่เข้าใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ แต่มันมีการต่อยอดของปัญหาจนเกิดกิ่งก้านมากมาย และไม่ใช่อย่างที่รัฐเข้าใจอยู่ขณะนี้ด้วย แน่นอนว่าทางออกคือการยึดหลัก เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา แต่ที่ผ่านมาฝ่ายปฏิบัติทำสำเร็จหรือยัง ขณะที่ฝ่ายนโยบายก็อาจจะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงด้วย”
นายแวนาเซ อุเซ็ง ชาวบ้านจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า อยากให้ว่าที่นายกฯคนใหม่ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนให้ทั่วถึง และดูแลเศรษฐกิจให้ดีกว่านี้
“ชาวบ้านไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการอยู่ดีกินดี ข้าวของไม่แพงอย่างทุกวันนี้ มีงานทำและมีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ถ้ารัฐบาลชุดใหม่ทำได้ อยากให้ทำเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก แล้วเรื่องอื่นก็จะดีไปเอง ขอให้ทำได้ตามที่พูดไว้ตอนหาเสียงเกิน 50% ก็พอแล้ว”
ขณะที่ น.ส.มารีนี สแลแม พยาบาลวิชาชีพ กลุ่มงานสุขภาพจิตและยาเสพติด ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต โรงพยาบาลกะพ้อ จ.ปัตตานี กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยดูแลการจัดสรรตำแหน่งพยาบาลและบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ให้ลงตัว ส่วนพยาบาลที่บรรจุทำงานอยู่แล้ว ก็อยากให้ช่วยดูเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเข้าเวรที่นิ่งมานาน น่าจะขยับขึ้นบ้าง ที่สำคัญคืออย่าละเลยปัญหาผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในพื้นที่ด้วย
และทั้งหมดนี้คือเสียงจากชายแดนใต้ที่ส่งถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ ด้วยหวังให้ช่วยปลดชนวนปัญหาอันหลากหลายที่พวกเขาจำต้องเผชิญ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งลงพื้นที่หาเสียงที่ จ.ยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)