'ไพโรจน์' ชี้ความรุนแรงไทยเดินไปไกลมาก มองคู่ต่อสู้ไม่ใช่คน 2ฝ่ายยินดีกับการสูญเสีย
กก.ปฏิรูปกฎหมาย เศร้าใจเหตุความรุนแรงผู้นำทั้งสองฝ่ายเฉยเมยต่อสถานการณ์ ระบุทุกวันนี้ต่างฝ่ายต่างเห็นคู่ต่อสู้ไม่ใช่คน อยากจะกำจัดโดยไม่สนใจวิธีการ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยกย่องกองกำลังนอกกฎหมาย
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาสาธารณะ “ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ถึงข่าวการเสียชีวิตของเด็ก และขณะนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 700 คน เสียชีวิต 17 คน ซึ่งแท้จริงแล้วเราเกิดความสูญเสียชีวิตมาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายร้อยคนท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
“ความรุนแรงที่น่ากลัวและเจ็บปวดที่สุด คือ การที่มีเด็กเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 3 คน ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีมากกว่านี้อีกหรือไม่ นี่เป็นความรุนแรงที่ไม่เลือกแบบไม่เลือกหน้า ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย และเป็นความรุนแรงเกินที่จะรับได้ ถ้าใครรับได้กับการฆ่าคนให้ตาย นั่นหมายความว่าความเป็นมนุษย์ของคุณลดลงไปแล้ว”
นายไพโรจน์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงนั้น 1.เกิดการบ่มเพาะความเกลียดชังโดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น 2.ความรุนแรงที่ดำรงในจิตใจ ไม่ได้อยู่แค่จิตใจ แต่กลายมาเป็นทัศนคติ ความเชื่อ โดยเชื่อว่า คู่ต่อสู้ไม่สมควรเป็นมนุษย์ ควรกำจัดทิ้งด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เป็นความรุนแรงที่ยินดีกับการสูญเสีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายกำลังเป็นกันอยู่ในขณะนี้ และการที่เห็นคู่ต่อสู้ไม่ใช่คน นอกจากลดทอนความเป็นคนของคนอื่นแล้วก็ยังลดทอนความเป็นคนของตัวเองด้วย และ3.มีการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ต่อสู้ซึ่งก็ใช้กันทั้งสองฝ่าย
“ตอนนี้สิ่งที่เห็นคือเห็นมีคนทำเสื้อกองทัพป๊อบคอร์น เลยเกิดคำถามว่า เราจะยกย่องผู้ใช้อาวุธใช่หรือไม่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่ต้องไม่ใช่กับฝ่ายตัวเองด้วย เมื่อก่อนรัฐใช้กับประชาชนเราอาจจะโกรธเกี้ยว แต่ตอนนี้คือประชาชนใช้กับประชาชน ความรุนแรงไปไกลมาก”
สิ่งที่น่ากลัวอีกเรื่องนั้น นายไพโรจน์ กล่าวว่า การมีกองกำลังนอกกฎหมายกระทำรุนแรงแต่ไม่มีความผิดและก่อให้เกิดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องและรัฐบาลไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ ที่สำคัญคือคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยกย่องกองกำลังนอกกฎหมาย เป็นความเกลียดชังนอกกฎหมายและหากเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนี้อย่างต่อเนื่องใครจะจัดการ เพราะกลไกของรัฐเลือกข้างไปแล้ว ไม่เป็นกลไกรัฐ แต่เป็นกลไกของรัฐบาล และตัวรัฐบาลก็จัดการไม่ได้
“ผู้นำประเทศไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ แกนนำทั้งสองฝ่ายเฉยเมย นอกจากเฉยเมยบางทีก็แอบสนับสนุน หรือบางทีผู้นำอีกฝ่ายเห็นว่า ความสูญเสียเป็นเรื่องดีไปกล่าวขอบคุณก็มี นี่คือภาวะความน่ากลัวของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และความจริงก็เป็นความจริงเฉพาะฝ่ายตนเอง”