‘ดร.สมคิด’ ชี้ปฏิรูปประเทศได้ผู้นำต้องกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลง
‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ หวั่นการเมืองทำไทยเดินสู่รัฐล้มเหลว ชง 5 เงื่อนไขเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ระบุต้องสร้างผู้นำที่กล้าเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่เป็นเเค่ประธานคณะกรรมการ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ ‘ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป’ ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘สิ่งที่ต้องปฏิรูป...ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร เริ่มต้นตรงไหน?’
ดร.สมคิด กล่าวว่า ในฐานะที่เคยอยู่ในกลไกของภาครัฐ และเคยทำงานกับภาคประชาชนและเอกชน และในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอายุเริ่มเข้าสู่เกณฑ์พลเมืองผู้สูงอายุ ฉะนั้นกรุณาอย่าพูดถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะพลเมืองผู้สูงอายุจะต้องรอเลี้ยงหลานที่บ้าน ปล่อยให้คนที่อายุ 80 ปี ดูแลกันไป เพราะลูกหลานโตหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปได้นั้น ต้องอาศัยเงื่อนไข 4 ประการ คือ
1. ด้านสถานการณ์ เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ช่วงปลายปีที่แล้ว ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาจัดสัมมนาขึ้น ครั้งนั้นเคยเรียนว่าในขณะที่คนกำลังเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยหรือไม่ ผมก็เรียนให้ทราบว่าเศรษฐกิจไทยไม่เพียงถดถอย แต่มันกำลังทรุด เพราะเสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจ 4 เสาสำคัญอยู่ ไม่ว่าการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาล ระบบการบริโภค การลงทุน มันเริ่มผุกร่อน และไม่มีแรงผลักดันที่เพียงพอ
นอกจากนี้ตัวเลขสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังเผยแพร่ออกมาว่า ไตรมาสสุดท้ายเติบโตเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 เติบโตประมาณ 2.7% ทั้งปี เติบโตเพียง 2.9% เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับปีก่อนหน้านั้นประมาณ 6.5%
“สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าย่ำแย่แล้ว แต่กราบเรียนตรง ๆ ว่า ขณะนี้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 เศรษฐกิจของไทยกำลังหดตัวลึกไปกว่านั้นอีก หากไม่เชื่อก็คอยดูผลประกอบการของบริษัท ยอดขายธุรกิจประมาณ 2-3 เดือนนี้” อดีตรองนายกฯ กล่าว และว่าวันนี้ยอดขายสินค้าซึ่งตามปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี มักจะขายดี เช่น สินค้าประเภทยาชูกำลัง บะหมี่ แม้แต่ยอดขายวันนี้ยังทรุดเลย หมายความว่าความเดือดร้อนรายได้ทั้งหลายไม่ใช่แค่ชั้นบน ชั้นกลาง มันลงมาถึงชั้นล่าง ที่พยายามกระเสือกกระสนให้ชีวิตอยู่รอดได้
ดร.สมคิด มองว่า ภาวะเช่นนี้เมื่อดูถึงอารมณ์แห่งการจับจ่ายคนชั้นกลางและคนทั่วประเทศมันหายไป ฉะนั้นตัวนี้พลังขับเคลื่อนที่ว่ามันอ่อนอยู่แล้วอ่อนลงไปอีก เมื่อเราดูที่ตัวรัฐบาล การที่ไม่มีรัฐบาลจริง ๆ ตัดสินใจหลักไม่ได้ อำนาจการสั่งการงบประมาณจำกัด แรงผลักดันตรงนี้หายไปและหายไปเรื่อย ๆ
ภายใต้ภาวะอย่างนี้และถ้าเรามองรอบตัวของเรา การลงทุนชะงักแน่นอน ที่ฝันว่าจะมีการลงทุน 4 แสนล้านบาท นั้นเรียกว่าฝันกลางวัน คนไทยเราทำไมฝันไม่ดูความเป็นจริง ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนยอมลงทุนเพิ่ม ปฎิกิริยาลูกโซ่ของปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ จมดิ่งลึกลงไป เหมือนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย
"เป็นห่วงมาก ๆ คือ ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นมา สภาพประชาชนที่แตกแยก สภาพต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อออกไปสู่สายตาชาวโลกมีผลกระทบอย่างแรงต่อความเชื่อใจที่มีให้เมืองไทยจะหายไปเรื่อย ๆ ยิ่งในช่วงที่มีการเซ็นสัญญาส่งออกประเทศจะไม่มีใครเชื่อมั่นเมืองไทยอีกต่อไปเลย เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาลที่แน่นอน ไม่รู้จะจบกันเมื่อไหร่ สถานการณ์เรียกว่าเปิดประตูและเดินไปสู่ประเทศที่เริ่มล้มเหลว" อดีตรองนายกฯ กล่าว เเละว่าเราเปิดประตูเดินเข้าไปแล้ว อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้บรรยากาศแบบนี้คิดว่าจะสามารถปฏิรูปอะไรได้ แทนที่จะปฏิรูปเดินหน้ามันกลับกำลังผลักเมืองไทยให้ทำอะไรไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าถ้ามันเข้าถึงเมื่อไหร่ มันกำลังสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคตที่รัฐบาลข้างหน้าต้องมาตามแก้ไขและถูกบดบังไม่ให้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเฉพาะหน้าเต็มไปหมดเลย ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญหากต้องการเห็นการปฏิรูปจริง ๆ คือ สภาพการเมืองที่รุนแรงชะงักงันต้องหาทางยุติโดยเร็ว
2. ผู้นำและสภาวะผู้นำ การปฏิรูปเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงประเทศ กระทบต่ออนาคตต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ฉะนั้นจะต้องมีผู้นำที่ไม่ได้เป็นแค่ประธานคณะกรรมการ แต่ต้องลงมากำกับ ผลักดัน ขับเคลื่อน ให้กำลังใจกับทุกฝ่าย ให้สามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้
ยกตัวอย่างเพียงแค่เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเดียว ถ้าผู้นำไม่ลงมาขับเคลื่อนด้วยตนเองแล้วจะไม่มีทางเกิดขึ้น ฉะนั้นเรื่องผู้นำเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่สามารถนำความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ
“ผู้นำประเภทนี้คือผู้ที่รู้ปัญหา มีวิสัยทัศน์เพียงพอ และสามารถสื่อความวิสัยทัศน์เหล่านั้นให้ประชาชนเห็นต่าง เห็นคล้อย และเข้าใจ สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นให้ทุกคนร่วมกันปฏิรูป เวลาเจออุปสรรคก็ยังมีความมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า รู้จักใช้คนต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการจะก้าวเดิน ไม่ใช่ผู้นำที่ตั้งเป็นแค่ประธานอนุกรรมการ นั่นแหละจึงจะเห็นเรื่องการปฏิรูปเดินหน้าได้จริง ๆ เราต้องอย่าหลอกตนเอง” ดร.สมคิด กล่าว
3.การบริหารจัดการ โดยปกติเวลาที่ปฏิรูปต้องมีจุดมุ่งหมายว่าการปฏิรูปคืออะไร สมมติหากต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม คุณต้องการยกระดับความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ หรือต้องการขจัดคอร์รัปชั่น การปฏิรูปต้องพยายามแตกจุดมุ่งหมายใหญ่ที่เป็นนามธรรมให้เป็นวาระที่ชัดเจน พอที่จะสามารถระดมพลังเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้
“ เมื่อมีแต่ละวาระแล้ว จะต้องมีบุคคลที่รับผิดชอบเป็นผู้นำขับเคลื่อน ซึ่งบุคคลนี้ที่จะมาดูแต่ละวาระต้องเป็นคนที่มีความรู้ในสิ่งเหล่านั้น อาจจะเป็นรัฐมนตรีอาวุโสหรือผู้นำภายนอก แต่ละท่านที่จะมากำกับบริหารงานควบคู่ไปกับบุคลากรฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” อดีตรองนายกฯ กล่าว และว่า เครือข่ายขณะนี้มีการถกเรื่องการปฏิรูปมากมาย ทำอย่างไรที่จะให้ต่อยอดได้ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ ส่วนที่คิดว่าถูกต้องผู้นำต้องนำมาใช้ สิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ก็อย่านำมาใช้ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเสนอ 100 อย่าง ต้องนำมาใช้ 100 อย่าง
ทั้งนี้ ผู้นำต้องรู้ว่าอะไรเหมาะสม แต่หากเลือกคนผิดก็จะไม่เห็นความคืบหน้าเลย เมื่อคุณเห็นอย่างนี้ คุณต้องมีผู้บัญญัติกฎหมาย เพื่อทุกอย่างจะนำไปสู่การออกกฎหมายในตัวกติกา ฉะนั้นหากมีตัวแทนที่ไม่ประสีประสามุ่งการเมืองมากกว่าปฏิรูป คุณจะไม่มีโอกาสเห็นเลย ฉะนั้นเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในแง่ของการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถมีเป้าหมาย
4. การขับเคลื่อนสังคม การปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคม จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งที่ดีกว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนสังคม ทัศนคติ พฤติกรรม ถ้าไม่สามารถเกี่ยวข้องกับประชาชนได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเขา หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมให้รู้สึกอย่างนั้น ไม่มีทางเลย มันก็จะลอยบนอากาศ และเกิดการต่อต้าน
นอกจากนี้เชื่อว่าการเมืองไทยเปลี่ยนไม่ใช่แนวดิ่ง เพราะความตื่นตัวของประชาชน เริ่มรู้ว่าเสียงเขามีความหมาย ชนชั้นกลางเริ่มดีขึ้น เขาอยากพูดว่าประเทศนี้อย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ ฉะนั้นภายใต้กรอบเช่นนี้ การปฏิรูปคือการให้เข้ามาร่วม ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน โดยใช้พลังพลเมืองขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง
"สุดท้ายหากไม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการปฏิรูปในบางครั้งอาจหยุดชะงักด้วยเหตุการณ์บางอย่าง บางกรณีจะจางหายไปเมื่อมีเรื่องอื่นขึ้นมาในสังคม ในบางครั้งอาจเผชิญอำนาจนอกระบบ แต่หากภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งไม่มีพลังไหนจะสามารถต่อต้านได้ การปฏิรูปจะต่อเนื่อง จะไม่มีรัฐบาลชุดไหนมาเล่นลิเกตั้งคณะกรรมการแล้วก็เลิก" ดร.สมคิด กล่าว