'ดร.สมคิด' :เรากำลังเปิดประตูและเดินสู่รัฐล้มเหลว "อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย"
"ไทยขณะนี้มีสภาพของวิกฤตการณ์ แต่วิกฤตการณ์ก็สร้างโอกาสของการปฏิรูปมาเช่นกัน เราคงต้องถามตนเองว่าต้องการประเทศแบบไหน เราคงไม่ต้องการประเทศที่แต่ละฝ่ายเกลียดชังโดยไม่รู้จักกันด้วยซ้ำไป เป็นประเทศที่เราเกลียดชัง สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือปัญญาให้พาพวกเราไปสู่วังวนนี้ ซึ่งการไปสู่ปฏิรูปที่ดีขึ้นจะไปสู่จุดนั้นได้ เรื่องของจิตสำนึกและการเสียสละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด"
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะ ‘ก้าวใหม่ประเทศไทย เดินหน้าสู่โหมด (Mode) ปฏิรูป’ โดยมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘สิ่งที่ต้องปฏิรูป...ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร เริ่มต้นตรงไหน?’ ใจความว่า...
ทันที่ที่ได้รับจดหมายเชิญรู้สึกว่า ‘สถาบันอิศรา’ คงเป็นกังวลในสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่กังวล คือ การปฏิรูปจะมีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ เพราะเราพูดเรื่องการปฏิรูปบ่อยครั้งมากในอดีต และทุกครั้งที่มีกระแสผลักดันให้ปฏิรูป มักออกมาในการตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการชุดแล้วชุดเล่าก่อตั้งขึ้นมา และจบลงตรงนั้น พร้อมข้อเสนอแนะเต็มไปหมด
แต่ไม่มีสักครั้งหนึ่งที่เราจะเห็นว่า การปฏิรูปเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง
ครั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองของเรา เริ่มจุดปะทุให้กระแสการปฏิรูปเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นความตื่นตัวขนานใหญ่ เราเห็นความพยายามของทุก ๆ ภาคที่จะออกมาแสดงความเห็นอันหลากหลายว่า จะปฏิรูปประเทศอย่างไร และปฏิรูปอะไรบ้าง ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดี
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ภายใต้เงื่อนไขใดสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะไม่สูญเปล่า และถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง
ในฐานะที่เคยอยู่ในกลไกอำนาจรัฐ และเคยทำงานกับภาคประชาชนและเอกชน และในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอายุเริ่มเข้าสู่เกณฑ์ Senior citizen (ผู้สูงอายุ) ฉะนั้นกรุณาอย่าพูดถึงนายกรัฐมนตรีแคนดิเดต เพราะ Senior citizen จะต้องรอเลี้ยงหลานที่บ้าน ปล่อยให้คนที่อายุ 80 ปี ดูแลกันไป เพราะลูกหลานโตหมดแล้ว
ผมคิดว่า เงื่อนไขสำคัญที่พอจะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้
ประการแรก คือ เงื่อนไขด้านสถานการณ์ เมื่อเช้านี้พอเปิดหนังสือพิมพ์อ่านขึ้นมาเห็นข่าวเด็กเสียชีวิต กราบเรียนตรง ๆ ว่า หมดอารมณ์ที่จะมาพูดเรื่องปฏิรูป
"ผมรู้สึกว่า หากจะให้การปฏิรูปเดินหน้าจริง ๆ สถานการณ์การเมืองที่กำลังพัฒนาไปสู่ความรุนแรง และสภาพการณ์ความชะงักงันของอำนาจรัฐที่ไม่สามารถกำกับหรือบริหารจัดการบ้านเมืองได้ ต้องพยายามหาทางยุติ และควรให้ยุติด้วยดีโดยเร็ว"
เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ช่วงปลายปีที่แล้ว ทางสถาบันอนาคตไทยศึกษาจัดสัมมนาขึ้น ครั้งนั้นผมเคยเรียนว่า ในขณะที่คนกำลังเถียงกันว่า เศรษฐกิจไทยถดถอยหรือไม่ ผมก็เรียนให้ทราบว่า เศรษฐกิจไทยไม่เพียงถดถอย แต่มันกำลังทรุด เพราะเสาหลักที่ค้ำจุนเศรษฐกิจ 4 เสาสำคัญอยู่ ไม่ว่าการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาล ระบบการบริโภค การลงทุน เริ่มผุกร่อน และไม่มีแรงผลักดันที่เพียงพอ”
ตัวเลขสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยแพร่ออกมาว่า ไตรมาสสุดท้ายเติบโตเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 เติบโตประมาณ 2.7% ทั้งปี เติบโตเพียง 2.9% เมื่อปีที่แล้ว เทียบกับปีก่อนหน้านั้นประมาณ 6.5%
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถือว่า ย่ำแย่แล้ว
แต่กราบเรียนตรง ๆ ว่า ขณะนี้เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 เศรษฐกิจของไทยกำลังหดตัวลึกไปกว่านั้นอีก หากไม่เชื่อก็คอยดูผลประกอบการของบริษัท ยอดขายธุรกิจประมาณ 2-3 เดือนนี้
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ประการแรก เรื่องของชาวนาเป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาข้าว ชาวนาในเมืองไทยอย่างน้อย 30-40 ล้านคนแน่นอนเวลาไม่มีเงินใช้จ่ายผลกระทบมหาศาล
"ในอดีตสมัยที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ปี 2540 เรารอดมาได้ เพราะภาคเกษตรกรรม ชาวนาไม่กระทบเลย มีคำกล่าวว่าถ้าชาวนาตาย 1 คน พ่อค้าตาย 100 คน มันเป็นเรื่องจริง พอชาวนาไม่มีรายได้ อำนาจการซื้อทั้งประเทศทรุดหายไปทันที"
วันนี้ยอดขายสินค้าซึ่งตามปกติแล้วเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี มักจะขายดี เช่น สินค้าประเภทยาชูกำลัง บะหมี่ แม้แต่ยอดขายวันนี้ยังทรุดเลย หมายความว่า ความเดือดร้อนรายได้ทั้งหลายไม่ใช่แค่ชั้นบน ชั้นกลาง มันลงมาถึงชั้นล่าง ที่พยายามกระเสือกกระสนให้ชีวิตอยู่รอดได้
ภาวะเช่นนี้เมื่อดูถึงอารมณ์แห่งการจับจ่ายคนชั้นกลางและคนทั่วประเทศมันหายไป ฉะนั้นตัวนี้พลังขับเคลื่อนที่ว่ามันอ่อนอยู่แล้วอ่อนลงไปอีก
เมื่อเราดูที่ตัวรัฐบาล การที่เราไม่มีรัฐบาลจริง ๆ ตัดสินใจหลักๆ ไม่ได้ อำนาจการสั่งการงบประมาณมีจำกัด แรงผลักดันตรงนี้หายไป และยิ่งจะหายไปมากเรื่อย ๆ
อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุต่อว่า ภายใต้ภาวะอย่างนี้และถ้าเรามองรอบตัวของเรา การลงทุนชะงักแน่นอน ที่ฝันว่าจะมีการลงทุน 4 แสนล้านบาทนั้น เรียกว่าฝันกลางวัน
"คนไทยเราทำไมฝันไม่ดูความเป็นจริง ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนยอมลงทุนเพิ่ม การท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้นักธุรกิจญี่ปุ่นเมื่อมาเมืองไทยจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ให้นักธุรกิจไทยไปพบแถวนั้น ปฎิกิริยาลูกโซ่ของปัจจัยเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ จมดิ่งลึกลงไป เหมือนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย"
แต่ที่เป็นห่วงมาก ๆ ไม่ใช่แค่นั้น ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นมา สภาพประชาชนที่แตกแยก ความชุลมุนวุ่นวาย สภาพต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อออกไปสู่สายตาชาวโลก มีผลกระทบอย่างแรงต่อความเชื่อใจในระดับสากลที่มีต่อเมืองไทยจะหายไปเรื่อย ๆ
ยิ่งในช่วงที่มีการเซ็นสัญญาระหว่างประเทศจะไม่มีใครเชื่อมั่นเมืองไทยอีกต่อไปเลย เพราะเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐบาลที่แน่นอน ไม่รู้จะจบกันเมื่อไหร่
สถานการณ์เเบบนี้เรียกว่า เปิดประตูและเดินไปในโซนที่เรียกว่า Failed State (รัฐล้มเหลว) เรียบร้อยแล้ว และเรากำลังเปิดประตูเดินเข้าไปแล้ว อย่าเดินลึกเข้าไปกว่านี้อีกเลย เพราะเพียงเท่านี้บรรยากาศแบบนี้ ท่านคิดหรือว่าจะสามารถปฏิรูปอะไรได้ แทนที่จะปฏิรูปเดินหน้ามันกลับกำลังผลักเมืองไทยให้เข้าสู่ "มุมอับ" ทำอะไรไม่ได้
สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่า ถ้ามันเข้าถึงมุมอับเมื่อไหร่ มันกำลังสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคตที่รัฐบาลข้างหน้าต้องมาตามแก้ไข และถูกบดบังไม่ให้มีมีโอกาสทำการปฏิรูปอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเฉพาะหน้าเต็มไปหมดเลย
ฉะนั้นเงื่อนไขสำคัญหากต้องการเห็นการปฏิรูปจริง ๆ คือ สภาพการเมืองที่รุนแรงชะงักงันต้องหาทางยุติโดยเร็ว
ประการที่ 2 ผู้นำและสภาวะผู้นำ การปฏิรูปเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงประเทศ กระทบต่ออนาคตต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศในอนาคตข้างหน้า เกี่ยวข้องกับการเลือกเส้นทางเดิน การจัดสรรทรัพยากร ความพยายามระดมพลังทั้งมวลให้มีเอกภาพในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง
และยิ่งถ้าปฏิรูปกระทบคนหมู่มาก กระทบธรรมเนียมปฏิบัติ กระทบสิ่งที่ประชาชนเคยชินหรือคุ้นเคย การปฏิรูปปฏิบัติยิงยากเย็นยิ่งขึ้น
"คุณจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีผู้นำที่ไม่ได้เป็นแค่ประธานคณะกรรมการ แต่ต้องลงมากำกับ ผลักดัน ขับเคลื่อน ให้กำลังใจกับทุกฝ่าย ให้สามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นได้
แค่เรื่องคอร์รัปชั่นอย่างเดียว ถ้าผู้นำไม่ลงมาขับเคลื่อนด้วยตนเองแล้วจะไม่มีทางเกิดขึ้น ฉะนั้นเรื่องผู้นำเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำที่สามารถนำความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ (Transformational leader) ผู้นำประเภทนี้ คือ คนที่รู้ปัญหา มีวิสัยทัศน์เพียงพอ และสามารถสื่อความวิสัยทัศน์เหล่านั้นให้ประชาชนเห็นต่าง เห็นคล้อย และเข้าใจ สามารถกระตุ้นให้ทุกคนร่วมกันปฏิรูป เวลาเจออุปสรรคก็ยังมีความมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า รู้จักใช้คนต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการจะก้าวเดิน รู้จักใช้คน
"ไม่ใช่ผู้นำที่ตั้งเป็นแค่ประธานอนุกรรมการ หรือคณะกรรมการ นั่นแหละจึงจะเห็นเรื่องการปฏิรูปเดินหน้าได้จริง ๆ เราต้องอย่าหลอกตนเอง"
"ในอดีตเราเคยเห็นผู้นำที่แล้วแต่ว่าราชการเสนอความเห็นว่าอย่างไร (Bureaucratic style) เราเคยเห็นผู้นำแบบตัวแทนแล้วแต่จะแนะนำหรือบอกให้ทำอะไร เราเคยเห็นผู้นำที่คิดค้นวิธีการต่าง ๆ ที่ถูกใจประชาชนและได้คะแนนเสียง
บ่อยครั้งที่เราเห็นผู้นำประเภท ผู้นำตามสถานการณ์ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้น แต่บางครั้งอยู่ได้ไม่นานพอ เทอมก็หมด ไม่มีโอกาสแตะเรื่องปฏิรูปได้อีกเลย"
แต่เราไม่เคยเห็นได้เห็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ ในประเทศนี้
ในอดีตเราเคยเห็นสมัยพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านเป็น Transformational ที่แท้จริง เราเห็นเติ่น เสี่ยว ผิง หรือลี กวน ยู ฉะนั้นหากท่านอยากเห็นการปฏิรูปเดินไปข้างหน้าหาให้พบค้นให้เจอก็แล้วกัน!!
ประการที่ 3 การบริหารจัดการ ที่มุ่งหวังผลจริง ๆ โดยปกติเวลาที่ปฏิรูปต้องมีจุดมุ่งหมายว่า การปฏิรูปคืออะไร สมมติหากต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม คุณต้องการยกระดับความสามารถเชิงแข่งขันของประเทศ หรือต้องการขจัดคอร์รัปชั่น
การปฏิรูปต้องพยายาม "แตก" จุดมุ่งหมายใหญ่ที่เป็นนามธรรมให้เป็น "วาระ" ที่ชัดเจน พอที่จะสามารถระดมพลังเพื่อแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้
เช่น เรื่องของการศึกษา การปฏิรูปเกษตร การปฏิรูปการคลัง การปฏิรูปงบประมาณ
แต่ละวาระจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการผลักดันได้ เมื่อมีแต่ละวาระแล้ว จะต้องมีบุคคลที่รับผิดชอบเป็นผู้นำขับเคลื่อน ในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งบุคคลนี้ที่จะมาดูแต่ละวาระนั้น ต้องเป็นคนที่มีความรู้ในสิ่งเหล่านั้น อาจจะเป็นรัฐมนตรีอาวุโส หรือผู้นำอยู่ภายนอก แต่ละท่านที่จะมากำกับและบริหารงานควบคู่ไปกับบุคลากรฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
"ใครจะเป็นหัวโจกดูแลในสิ่งเหล่านั้น เช่น คนหนึ่งที่ดูแลการศึกษา จะต้องเกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายและทำงานร่วมกัน ขับเคลื่อน และมีการรายงานความก้าวหน้านั้นสู่สาธารณะเป็นประจำ คุณมีวาระเสร็จ คุณไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เครือข่ายขณะนี้มีการถกเรื่องการปฏิรูปมากมาย ทำอย่างไรที่จะให้ต่อยอดได้ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
ส่วนที่คิดว่าถูกต้องผู้นำเหล่านั้นต้องนำมาใช้ สิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ ก็อย่านำมาใช้ ผมไม่ได้หมายความว่าเสนอ 100 อย่าง ต้องนำมาใช้ 100 อย่าง เช่นนั้นเละแน่นอน"
คนที่นำต้องรู้ว่า อะไรเหมาะสม แต่หากเลือกคนผิดก็จะไม่เห็นความคืบหน้าเลย ที่แน่นนอนเมื่อคุณเห็นอย่างนี้ คุณต้องมี “lawmaker” หรือ “ผู้ออกกฎหมาย” มาสนับสนุน เพื่อทุกอย่างจะนำไปสู่การออกกฎหมายในตัวกติกา
ฉะนั้น หากมีตัวแทนที่ไม่ประสีประสา มุ่งเรื่องการเมืองมากกว่าเรื่องปฏิรูป คุณจะไม่มีโอกาสเห็นเลย
ฉะนั้นเงื่อนไขต่าง ๆเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในแง่ของการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถมีเป้าหมาย
ประการที่ 4 การขับเคลื่อนสังคม เหตุผล คือ จริง ๆ แล้วการปฏิรูปไม่ใช่การแก้กฎหมาย แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในสังคม จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งที่ดีกว่า ถ้าเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนสังคม ทัศนคติ พฤติกรรม ถ้าไม่สามารถเกี่ยวข้องกับประชาชนได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องของเขา หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมให้รู้สึกอย่างนั้น ไม่มีทางเลย มันก็จะลอยบนอากาศ และเกิดการต่อต้าน ขับเคลื่อนได้ช้า
ยกตัวอย่างเรื่องคอร์รัปชั่น ถ้าไม่สามารถให้ซึมไปถึงความรู้สึกของประชาชน ให้สามารถช่วยกันคิดค้นวิธีการ ก็จะไม่มีทางขับเคลื่อนได้เลย
ผมคิดว่า ขณะนี้การเมืองไทยเปลี่ยนไม่ใช่แนวดิ่ง เพราะความตื่นตัวของประชาชน เขาเริ่มรู้ว่า เสียงเขามีความหมาย ชนชั้นกลางเริ่มดีขึ้น เขาอยากพูดว่า ประเทศนี้อย่างนี้ ต้องการอย่างนี้ ฉะนั้นภายใต้กรอบเช่นนี้ การปฏิรูปคือการให้เข้ามาร่วม การขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ให้เข้าใจ โดยใช้พลังพลเมืองขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง
ฉะนั้นจะแตกต่างกับที่เขียนไว้ในหนังสือว่าปฏิรูปอย่างไร จึงเกี่ยวข้องกับ ผู้นำและคนที่แต่งตั้ง ว่าแต่ละคนที่แต่งตั้งมาจะทำงานอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับประชาชน สื่อมวลชนอย่างไร
เงื่อนไขสุดท้าย สำคัญที่สุด
"ถ้าคุณไม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการปฏิรูปในบางครั้งอาจหยุดชะงักด้วยเหตุการณ์บางอย่าง บางกรณีจะจางหายไปเมื่อมีเรื่องอื่นขึ้นมาในสังคม"
ในบางครั้งอาจเผชิญอำนาจนอกระบบ แต่หากภาคประชาสังคม (ประชาชน เอกชน สื่อมวลชน) หากมีความเข้มแข็ง ไม่มีพลังไหนจะสามารถต่อต้านได้ การปฏิรูปจะต่อเนื่อง จะไม่มีรัฐบาลชุดไหนมาเล่นลิเกตั้งคณะกรรมการแล้วก็เลิก เพราะเมื่อประชาชนตื่นขึ้นมาแล้วมีส่วนร่วม คิดว่า ส่วนนี้สำคัญที่สุด
"ไทยขณะนี้มีสภาพของวิกฤตการณ์ แต่วิกฤตการณ์ก็สร้างโอกาสของการปฏิรูปมาเช่นกัน เราคงต้องถามตนเองว่า ต้องการประเทศแบบไหน เราคงไม่ต้องการประเทศที่แต่ละฝ่ายเกลียดชังโดยไม่รู้จักกันด้วยซ้ำไป เป็นประเทศที่เราเกลียดชัง สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือปัญญาให้พาพวกเราไปสู่วังวนนี้ ซึ่งการไปสู่ปฏิรูปที่ดีขึ้นจะไปสู่จุดนั้นได้ เรื่องของจิตสำนึกและการเสียสละเป็นสิ่งสำคัญที่สุด" อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด .