จำนำข้าวทำพิษ! ชาวนาชี้กู้ธนาคารเพิ่มไม่ช่วยอยู่รอด -หนี้สะสมมากขึ้น
ปัญหาเรื้อรังรุมเร้าเกษตรกรไทย “หนี้สิน-ระบบชลประทาน” ชาวนาระบุยิ่งเพิ่มวงเงินกู้ ยิ่งก่อหนี้ หลัง “จำนำข้าว” ซ้ำเติมชาวนา ทำลายกลไกตลาดค้าข้าวสิ้นเชิง ชี้ปฏิรูปเกษตรกรรมโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งสู่ “เกษตรกรรมยั่งยืน” เชื่อเกษตรกรอยู่รอด มีคุณภาพชีวิต-สุขภาพดี
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 เกษตรกรเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม่ข่ายทั่วประเทศ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูประบบเกษตรกรรมโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง” โดยมีเกษตรกรเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม่ข่ายทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม
นายภาคภูมิ อินทร์แป้น แกนนำชุมชน ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเรื้อรังที่ชาวนาต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือ หนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ในระบบ จากเดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อนเป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 50,000 บาท แต่ปัจจุบันเป็นหนี้ราวครัวเรือนละ 1 แสนบาท เพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ยิ่งสถาบันการเงินเพิ่มวงเงินกู้ให้เกษตรกรมากเท่าไหร่ก็จะเป็นหนี้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่กู้เต็มเพดาน
การเป็นหนี้สะสมส่วนใหญ่เกิดจากการไม่พึ่งตนเองคือ ต้องการเร่งผลผลิต โดยซื้อยากำจัดวัชพืช หรือฮอร์โมนเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีคำโฆษณาว่าได้ผลผลิตสูง ทั้งๆ ที่เกษตรกรสามารถจัดการเมล็ดพันธุ์และเพิ่มผลผลิตให้สูงได้ด้วยการปรับปรุงดิน เอาใจใส่ในการจัดการดูแล ไม่ต้องเสียเงินค่าต้นทุนเหล่านี้
“โครงการรับจำนำข้าวได้ทำลายตลาดข้าวและการค้าขายข้าวโดยสิ้นเชิง และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะส่งผลอย่างไรกับเกษตรกร ชาวนาจึงต้องหาทางเลือกใหม่ ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดของของชาวนาคือ การทำเกษตรยั่งยืน/เกษตรพอเพียง ที่เน้นการพึ่งตนเอง ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย แม้ผลผลิตจะขายได้ในราคาไม่สูงแต่ต้นทุนต่ำ อย่างตนเองทำนาเกษตรอินทรีย์มีผลผลิตเฉลี่ย 20 ตันต่อแปลงนา ขายได้ราคา 21 บาทต่อกิโลกรัม รวม 21,000 บาทต่อตัน สูงกว่าราคารับจำนำ 15,000 บาท” นายภาคภูมิ กล่าว
ด้านนายทวีป จูมั่น อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวไผ่ ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ระบบการจัดการน้ำแม้จะอยู่ในเขตชลประทาน แต่ก็มีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ต้องประสบมาตลอด เนื่องจากการจัดระบบชลประทานไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของพื้นที่ การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ควรใช้ระบบชลประทานจากข้างล่าง ให้ระดับพื้นที่เป็นคนตัดสินใจในการเปิด-ปิดน้ำในระบบชลประทานของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้จริง ตรงเวลา และควบคุมให้มีการทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง
ขณะที่น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้จัดการแผนงานส่งเสริมการพัฒนาระบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีการเปลี่ยนระบบเกษตรจากแบบพึ่งตนเองกลายเป็นแบบการตลาด เพื่อให้อาหารและผลผลิตการเกษตรมีราคาถูก ขณะที่เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรต้องพึ่งธรรมชาติอย่างมาก จึงเกิดความไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีและไม่มีสุขภาวะ
ส่วนโครงการรับจำนำข้าว ไม่ใช่มีเงินสำรองเพียงพอหรือไม่ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการงบประมาณที่ไม่ดีพอ เมื่อชาวนาแห่ไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวแบบเทหมดหน้าตักเพราะเชื่อถือรัฐบาล แต่ทันทีที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้ชาวนาไม่มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพียงพอ การแก้ปัญหาต้องใช้ระบบ CSA (Community Support Agriculture) ให้ชุมชนมาเป็นผู้ลงทุนการเกษตรและแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน โดยประกันความเสี่ยงให้กับชาวนา
“แนวทางการช่วยเกษตรกรอย่างได้ผลคือ แนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด จากทำการเกษตรเพื่อขาย แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและตนเอง โดยเปลี่ยนปัจจัยการผลิตให้เกื้อกูลของระบบการผลิต ปลูกพืชหลากหลายและสร้างอาหารให้ครัวเรือนและชุมชน และเปลี่ยนตลาด ให้ผู้ผลิตเชื่อมโยงกับผู้บริโภค สร้างความเข้าใจในกันและกัน ราคาขายสมเหตุผล ขณะเดียวกันสินค้ามีคุณภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายรัฐ หากชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนชุมชน รับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม ช่วยให้เกิดการพึ่งตนเอง” น.ส.ทัศนีย์ กล่าว .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ M Thai