ตอบโจทย์ ทำไมคนยังเชื่อว่า “เอไอเอส –ชินคอร์ป” เป็นของ”ชินวัตร”
หลังจากที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(กปปส.)ออกมาเคลื่อนไหวให้แซงก์ชั่นธุรกิจของครอบครัวชินวัตร รวมถึง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในเครือชินคอร์ปอเรชั่นหรือชินคอร์ป
มีผู้ถามเสมอว่า เอไอเอสยังเป็นของครอบครัวชินวัตรอยู่หรือไม่?
เป็นที่ทราบกันดีว่า ครอบครัวชินวัตรขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 มูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท เพราะเป็นข่าวอื้อฉาวระดับโลกเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว ใช้กระบวนการขายหุ้นซับซ้อนหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว ทำให้การต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนั้นลุกลามขยายตัวจนเกิดการรัฐประหารขึ้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตามนั่นหมายความว่า ธุรกิจในเครือชินคอร์ปทั้งหมด อาทิ บริษัทไทยคม เอไอเอส ย่อมเป็นของกลุ่มเทมาเส็กด้วย
เมื่อตรวจดูรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับของบริษัทเอไอเอส ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2556 พบว่า ชินคอร์ปยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 1,202,712,000 หุ้นหรือ 40.45% ตามด้วยกลุ่มสิงเทลของสิงคโปร์ 693,039,000 หุ้น หรือ 23.31 % ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน
สำหรับบริษัทชินคอร์ป รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรก ณ 27 สิงหาคม 2556 พบว่า บริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เครือเทมาเส็ก ถืออยู่ 1,334,354,825 หุ้น หรือ 41.62% ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน
เป็นบุคคลธรรมดา มี 2 คนคือ นาย ประชา ดำรงสุทธิพงศ์ 21,090,200 หุ้น หรือ 0.66% และ นายบำรุง ศรีงาน 20,900,001หุ้น หรือ 0.65 %
จากหลักฐานการถือหุ้นไม่พบว่า ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นทั้งในชินคอร์ปและเอไอเอส
แต่ทำไมคนยังเชื่อว่า ธุรกิจในเครือชินคอร์ป เกี่ยวโยงและ/หรือ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับครอบครัวชินวัตร จนถึงยังคงเป็นเจ้าของยู่
ประการแรก กระบวนการขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก เป็นไปอย่างซับซ้อน มีการถือหุ้นอย่างน้อย 3 ชั้นโดยใช้ “นอมินี” เพื่อหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวที่ห้ามคนต่างด้าวถือหุ้นใหญ่ในกิจการโทรคมนาคม
นอกจากนั้น ยังมีกระบวนการโอนหุ้นจากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนต์ให้กับคนในครอบครัวชินวัตรก่อนขายให้เทมาเส็กเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี
ในขณะนั้นมีกระแสข่าวว่า การขายหุ้นดังกล่าวมีสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เป็นสัญญาว่า ทางเทมาเส็กจะให้ พ..ต.ท.ทักษิณสามารถซื้อหุ้นคืน ได้ แต่มีมีการยืนยันกระแสข่าวนี้
ประการที่สอง นับแต่มีการขายหุ้นให้แก่เทมาเส็ก ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลางจำนวนมากในเครือชินคอร์ปอยู่มาตั้งแต่สมัยครอบครัวชินวัตรเป็นเจ้าของ(เป็นเรื่องปกติ) ในฐานะปุถุชน แน่นอนว่าย่อมมีความภักดี หรือนิยมชมชอบ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานอยู่ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด
แต่พฤติกรรมที่แสดงออกจนถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจ เช่น การสนับสนุนธุรกิจ(โฆษณา)ในเครือชินวัตรอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะตามความเชื่อของคนใน กปปส. จึงทำให้ถูกหยิบยกไปโจมตีได้
ประการที่สาม ผู้บริหารของกลุ่มชินคอร์ปไม่มีความพยายามหรือไม่เคยคิดอย่างจริงจังที่จะสลัดภาพธุรกิจของในเครือให้พ้นร่มเงาของครอบครัวชินวัตรเพราะภาพลักษณ์ยังคงผูกโยงกันอย่างแนบแน่นซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก อย่าลืมว่า ชื่อ “ชินคอร์ป” เปลี่ยนชื่อมา “ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์” เพื่อให้จดจำง่ายและมีลักษณะเป็น สากล
ดังนั้น ชื่อ “ชิน” คือ การเรียกตระกูล “ชินวัตร”อย่างย่อๆนั่นเอง
แม้จะขายหุ้นให้แก่กลุ่มเทมาเส็กมานาน 7 ปีแล้ว แต่ผู้บริหารไม่เคยคิดที่จะสร้าง “แบรนด์”ใหม่ขึ้นมาแทน “แบรนด์” ชินคอร์ปเลย จนกระทั่งเกิดการต่อต้านธุรกิจในเครือชินวัตร ในราวปี 2553 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม INTUCH(อินทัช)
อย่างไรก็ตามในทางการตลาดแล้ว แทบไม่เห็นความพยายามของผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปที่จะสร้างแบรนด์ “อินทัช”ขึ้น แทน “ชินคอร์ป” แต่อย่างใด มิหนำซ้ำในทางทะเบียน ยังคงใช้ชื่อบริษัท ชินคอร์ป เช่นเดิม
ส่วนที่สอง กลุ่มชินคอร์ปยังคงเช่าอาคารชินของครอบครัวชินวัตรอยู่ อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า กลุ่มชินคอร์ป สนับสนุนหรือเป็นของครอบครัวชินวัตร
ในผลตอบแทนทางธุรกิจรวมทั้งทำเลที่ตั้งอาคารชิน 1-3 อาจมีความเหมาะสม แต่เมื่อคิดถึงผลกระทบในทางการเมืองที่มีความขัดแย้งกันอย่างมากในขณะนี้ ผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปควรหรือไม่ที่จะต้องหาทำเลที่ตั้งที่มีความเหมาะสม ปลอดจากกลิ่นอายทางการเมือง
ประการที่สี่ บริษัทไทยคอมซึ่งได้รับสัมปทานดาวเทียมจากรัฐบาลไทย แม้จะเป็นธุรกิจในเครือชินคอร์ป แต่มูลนิธิไทยคมชื่อเดียวกัน(ก่อตั้งช่วงครอบครัวชินวัตรเป็นเจ้าของบริษัทไทยคม) มีครอบครัวชินวัตรเป็นกรรมการและมีอำนาจในการตัดสินใจ
จากเหตุผล 4 ประการข้างต้น แม้ในทางข้อเท็จจริง ครอบครัวชินวัตรมิได้ถือหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปแล้วก็ตาม แต่ในทางภาพลักษณ์ ทางกายภาพกลุ่มชินคอร์ปไม่สามารถสลัดภาพครอบครัวชินวัตรออกไปได้