เปิดคมคิดปฏิรูปเกษตรไทย:ประชานิยม ‘จำนำข้าว’ บทเรียนราคาแพง
เปิดเวทีถกความคิดหาแนวทางปฏิรูปเกษตรกรรมไทย หลังประชานิยม ‘จำนำข้าว’ ทำพิษสร้างบทเรียนราคาแพง จี้รัฐบาลหนุนเสริมชาวนาพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนการผลิต ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หวังเสริมรายได้เลี้ยงชีพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าวและการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย โดยมีนักวิชาการ เกษตรกร สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมฟังคับคั่งแน่นหอประชุมอาคารวิทยบริการ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงรวบรวมความคิดเห็นบางช่วงบางตอนจากผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมไว้ เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาล ชาวนา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป
อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เริ่มต้นสนทนาถึงความยากแค้นของชาวนาในปัจจุบันว่า ชาวนาใกล้จะตายด้วยโรคพิษจำนำข้าว ดังนั้นจึงต้องให้กินยา ซึ่งบางคนอาจไม่ชอบเพราะขม แต่หากไม่กินก็จะต้องตายแน่นอน
ซึ่ง ปี 2557 ชาวนากำลังจะถูก ‘เผาหลอก’ ด้วยมีถึง 11 คนที่ฆ่าตัวตายและหลายคนกำลังร้องไห้ ดังนั้นหากไม่ปรับตัวก็จะตายหมด และจะทำให้ปี 2558 ต้อง ‘เผาจริง’ สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มาถึงในปีหน้า จะทำให้ข้าวจากเมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม เข้ามาในไทยโดยไม่มีกำแพงภาษี
จึงอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตในการทำนาสูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งปี 2556 กรมการข้าวเปิดเผยตัวเลขอยู่ที่ 8,711 บาท/ตัน ในขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 4,960 บาท/ตัน ฉะนั้นเมื่อมีการเปิดเออีซีหากข้าวมีราคา 6,000 บาท/ตัน ชาวนาเวียดนามจะได้กำไร แต่ชาวนาไทยตายตั้งแต่ยังไม่ได้ขาย ทั้งนี้ คงไม่น่ากลัวเท่าเมียนม่าร์และกัมพูชาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามาก มิหนำซ้ำยังมีชายแดนติดกับไทยอีก
“น่ากลัวที่สุด คือ ข้าวกัมพูชาและเมียนมาร์มีคุณภาพสูงกว่าไทยมาก เพราะเต็มไปด้วยข้าวพื้นบ้าน ประกอบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ไทยเสียแชมป์ประกวดข้าวโลกให้อีก” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าว และคาดการณ์ว่าอีก 10 ปี ชาวนาไทยจะเหลือไม่ถึง 5% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวนากลุ่มผลิตข้าวคุณภาพสูง ข้าวอินทรีย์ และข้าวต้นทุนต่ำ ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้เตรียมตัวเผาจริง
อ.เดชา จึงเสนอทางออกอย่างยั่งยืนให้รัฐบาลนำข้าวขึ้นบัญชีเป็นสินค้าอ่อนไหวอย่างน้อย 5 ปี พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มต้นที่การปฏิรูปที่ดินให้ชาวนามีที่ดินทำกินของตนเอง เพราะการเช่านาจะทำให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มอย่างน้อย 1,000 บาท/ตัน อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีการจัดสรรให้คนจนแล้ว แต่สุดท้ายก็มักผ่านไปตกอยู่ในมือคนรวย เช่น ที่ดินวังน้ำเขียว ฉะนั้นหากปฏิรูปที่ดินไม่สำเร็จชาวนาต้องตายอยู่ดี
นอกจากนี้ควรพัฒนาแหล่งชลประทานที่มีไม่ถึง 25% ในขณะที่เวียดนามมีมากกว่า 50% แต่ในที่นี้มิได้เรียกร้องให้สร้างเขื่อน หากจะต้องหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ให้ได้ ส่วนพื้นที่มีเขื่อนอยู่แล้วจะต้องจัดสรรให้ชาวนามากกว่านี้
สำหรับเรื่องเมล็ดพันธุ์ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ มองว่า ในเมื่อไทยมีงบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยเมล็ดพันธุ์ข้าวน้อยควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการสนับสนุนให้ชาวนาผสมพันธุ์เอง มีกรมการข้าวคอยดูแล ไทยก็จะมีนักผสมพันธุ์ขึ้นเป็นล้านคน
“ทุกวันนี้ชาวนาร้องไห้เพราะผลพวงจากการปฏิวัติเขียว โดยให้มีพันธุ์ข้าวหลายเบอร์ ‘พันธุ์ข้าวหมอนวด’ ซึ่งผมได้บอกกับกรมการข้าวทุกครั้งว่าจะนำชื่อพระแม่โพสพไปติดเบอร์เหมือนหมอนวดไม่ได้ ขนาดข้าวโบราณของไทยที่มีราว 6,000 สายพันธุ์ยังตั้งได้ แล้วข้าวกข.มีไม่ถึง 100 สายพันธุ์ ทำไมจะตั้งไม่ได้”
อ.เดชา ยังระบุสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิต แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ทำ เพราะบริษัทสารเคมีกับรัฐบาลเป็นพวกเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นควรให้ยก ‘บุหรี่โมเดล’ มาใช้ โดยการเก็บภาษีนำเข้า ตั้งกองทุน และห้ามโฆษณาสินค้า รวมถึงสร้างตลาดขายอย่างมีคุณธรรม ดังเช่นสหกรณ์ในญี่ปุ่นและเกาหลี ไม่ใช่สหกรณ์เล่น ๆ เหมือนไทย สุดท้ายชาวนาจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่แบมือขออย่างเดียว
“การที่ชาวนาจะไปรอดหรือไม่รอด ใครก็ช่วยไม่ได้ นอกจากช่วยตนเอง และหากยังบีบให้รัฐบาลช่วยเหลือไม่ได้ เชื่อว่าคงต้อง ‘เผาจริง’ ซึ่งผมจะรอดูว่าเหลือชาวนาในประเทศกี่คน” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ทิ้งท้าย
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงสาเหตุการเกิดขึ้นของโครงการรับจำนำข้าวว่าสามารถดึงคะแนนเสียงทางการเมืองได้มาก รวดเร็ว แรง และยังเชื่อมโยงกับผลประโยชน์มหาศาลอีก จึงทำให้มีพลังเหนือเหตุผลทุกประการ แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ แต่ไม่สามารถยุติโครงการได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาในระดับปรากฏการณ์ คือ รัฐบาลขาดเงินจ่ายให้ชาวนา อันเนื่องมาจากการระบายข้าวไม่ได้ ทำให้หมุนเงินไม่ทัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีกลไกที่ขาดความโปร่งใสและมีการทุจริตคอร์รัปชั่น
อดีตคณะกรรมการปฏิรูป จึงเชื่อว่าปัญหาเกิดจาก ‘โครงสร้างอำนาจ’ ที่กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้แม้รัฐบาลจะมีเงินมากเพียงใดก็ไม่สามารถจะจ่ายได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ควรแยกปัญหาออกจากประเด็นทางการเมืองที่จะมีผลต่อการชำระหนี้คืน
ส่วนการระบายข้าวนั้นจะต้องเร่งกู้กลไกตลาดข้าวกลับคืนมาให้ได้ เพราะขณะนี้มีการใช้อำนาจเหนือตลาด ซึ่งหากการเมืองรู้จักปล่อยวางอำนาจส่วนนี้ และยอมให้พ่อค้าข้าวที่มีประสบการณ์ยาวนานและเข้มแข็งแก้ไข จะสามารถช่วยให้ไทยระบายข้าวในราคาที่เหมาะสมและไม่ถูกโจมตีจากประเทศอื่น พร้อมทั้งถ่ายโอนอำนาจให้จังหวัดดูแลค่าใช้จ่าย ซึ่งเชื่อว่าแต่ละจังหวัดจะใช้เงินในการดูแลชาวนาไม่เกิน 5 พันล้านบาท
ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังระบุถึงการแก้ปัญหาระยะกลางว่า ชาวนาและสถาบันการเกษตรทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายด้านการเกษตร เพราะหากปล่อยให้การเมืองผลักดันนโยบายฝ่ายเดียวจะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดิม
สำหรับระยะยาว ควรปรับโครงสร้างทางการเกษตรและสร้างอำนาจการต่อรองให้ชาวนา โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงสีข้าวชุมชน ลานข้าวชุมชน ซึ่งไม่ผิดกติกาแน่นอน สุดท้าย รับรองว่าการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 ระยะ จะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงนโยบายได้
อีกทั้ง ดร.เพิ่มศักดิ์ยังเสนอให้ส่งเสริมลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการเช่าที่ดินทำนา น้ำ เมล็ดพันธุ์ และพลังงาน รวมถึงส่งเสริมความรู้ การเท่าทันต่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของโลก และระบบสวัสดิการแก่ชาวนาด้วย
ขณะที่รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า รัฐบาลที่ดีต้องมุ่งเสริมสร้างศักยภาพแก่เกษตรกร การตลาด และรายได้ แต่ที่ผ่านมากลับให้ความสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับราคาผ่านโครงการรับจำนำข้าวอย่างเดียว โดยปฏิเสธกลไกทางการตลาดและศักยภาพการผลิตของเกษตรกร ดังนั้นการฝืนกลไกตลาดทำให้เกิดปัญหา ซึ่งไม่มีใครจะแก้ไขได้นอกจากรัฐบาลเอง
ทั้งนี้ การที่โครงการรับจำนำข้าวไปไม่รอดเกิดจากรัฐบาลขาดกลยุทธ์การระบายข้าวที่ชัดเจน ส่งผลให้ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งระยะแรกรัฐบาลคุยจะสามารถยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ โดยได้ผลเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปจากราคาที่เคยสูงขึ้นกลับตกต่ำลง ฉะนั้นจะต้องระมัดระวังโครงการนี้ เพราะขืนดำเนินการต่อไปในระดับราคาสูงอีกอาจเจ็บตัวได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว จึงเสนอทางออกระยะยาว โดยส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกับเวียดนาม ด้วยหลักการ 3 ต้องทำ คือ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร ส่วน 3 ต้องลด คือ ลดค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี และเมล็ดพันธุ์
ด้วยต้องคำนึงว่าปัจจุบันต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามและเมียนมาร์มาก ซึ่งเมื่อบวกค่าเช่าที่ดินและค่าเสียโอกาสต่าง ๆ เข้าไปแล้ว พบไทยมีต้นทุนการผลิตข้าวเปลือก 9,266 บาท/ตัน เวียดนาม 5,615 บาท/ตัน และเมียนมาร์ 4,353 บาท/ตัน ฉะนั้นหากชาวนาบริหารจัดการต้นทุนส่วนนี้ได้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ สร้างเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างการตลาด และรวมตัวสร้างผลิตภัณฑ์ข้าวเฉพาะท้องถิ่น เช่น การผลิตข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลิอินทรีย์คุณธรรม อีกทั้งควรทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเมื่อใดที่ข้าวราคาตกต่ำ ชาวนาจะสามารถมีรายได้จากส่วนอื่นมาเสริมได้ มิเช่นนั้นหากปลูกข้าวอย่างเดียวอาจได้รับผลกระทบในยามสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
รศ.สมพร ยังระบุถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหรือลดการผลิตปลูกข้าวเป็นพืชชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทาน เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ที่ยังขาดแคลนอยู่ แต่จะต้องบริหารจัดการแหล่งน้ำให้ชาวนาอย่างดี
พร้อมกันนี้ควรอุดหนุนเชิงสวัสดิการให้กับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มยากจน เพื่อให้ได้รับสวัสดิการหรือรายได้ขั้นต่ำที่ต้องการให้ความช่วยเหลือ และให้ความช่วยเหลือโดยผ่านทางส่วนต่างของราคา (Deficiency Payment) ดังกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF ให้ข้อแนะนำไว้
อีกหนึ่งทางออก คือ รัฐบาลควรพลิกฟื้นกลไกตลาดโดยการใช้หลักการประกันความเสี่ยงจากราคา (option pricing) เพื่อสร้างเสถียรภาพราคา โดยการจัดทำโครงการการดังกล่าวจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อประกันข้าวเปลือกขั้นต่ำ และอาจมอบหมายให้หน่วยงาน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการรับประกัน
“เกษตรกรสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ด้วยความสมัครใจ หากเป็นเกษตรกรขนาดเล็กและอาจไม่มีเงินจ่ายเบี้ยประกัน ในกรณีนี้ ธ.ก.ส. อาจเพิ่มเงื่อนไขการให้กู้ยืมกับเกษตรกรเพิ่มเติมไปจากการให้กู้ยืมเพื่อการจัดซื้อปัจจัยการผลิต” ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ระบุ และว่าโครงการรับประกันภัยจากราคานี้ จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนในรายได้ของเกษตรกรตามมา นโยบายนี้ไม่บิดเบือนกลไกตลาดและจะเป็นมาตรการที่สนับสนุนและพัฒนากลไกตลาดสินค้าเกษตรเอกชนในทุกระดับ รวมถึงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) .