เปิดใจ ‘นิพนธ์ พัวพงศกร’: สมัยเจริญรุ่งเรืองหัวบันไดคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ไม่เคยแห้ง
“หากคุณยังสร้างทิฐิ สร้างความร้อนวิชา
จนถึงจุดที่ประเทศชาติ 2 ฝ่ายต่อสู้กัน ทำสงครามกลางเมืองกัน
ผมว่าเราอย่าเป็นนักวิชาการเลยดีกว่า"
ในเวทีเสวนาวิชาการชุด 8 ทศวรรษ อภิวัฒน์สังคมไทย ด้านเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 80 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขา ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ช่วงถามตอบ นอกจาก รศ.ดร.นิพนธ์ จะเปิดใจเล็กๆ ถึงเหตุผลที่ลงชื่อร่วมอยู่ใน “เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา” คัดค้านรัฐประหาร ความรุนแรงทุกรูปแบบ เคารพการใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย จนถูกเพื่อนฝูง คนรู้จักต่อว่าต่อขายอย่างรุนแรงแล้ว
อาจารย์นิพนธ์ ยังให้ทรรศนะและมุมมองต่อเรื่องระบอบประชาธิปไตย บทบาททางวิชาการ บทบาทนักวิชาการต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ
สำนักข่าวอิศรา ตัดบางช่วงบางตอนมานำเสนอ...
มุมมองต่อเรื่องระบอบประชาธิปไตย อาจารย์นิพนธ์ เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตย และเรื่องไม่ใช่ความรุนแรงยังเป็นหลักสำคัญมาก แต่ระบบประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีขาเดียว คือการเลือกตั้งเท่านั้น การเลือกตั้งต้องมาพร้อมกับการที่รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ เคารพเสียงข้างน้อย และมีความรับผิดรับชอบด้วย จึงจะถือว่า คือประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ และเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันอยากได้ตั้งแต่ ปี 2475
“แม้วันนี้ก็ยังไม่มี มีแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับผู้ชนะ จำกัดอำนาจการเมืองของรัฐบาลและเพิ่มอำนาจศาล ยังไม่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจริงๆ”
ขณะที่บทบาททางวิชาการ โดยเฉพาะกับคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.นั้น ในฐานะอดีตคณบดี ย้ำชัดว่า มาถึงถิ่นไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้
“เรื่องนี้เรื่องใหญ่ เราจำเป็นต้องศึกษา และปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในการใช้อำนาจรัฐ การไม่มีกฎหมายควบคุมวินัยทางการคลังในเรื่องเงินนอกงบประมาณ จนมีการใช้เงินในสถาบันการเงินของรัฐ และเงินกองทุนนอกงบประมาณ ซึ่งเงินนอกงบประมาณ ก็คือการตี “เช็คเปล่า” จะเกิดภาระผูกพันในอนาคต
ขณะที่รัฐสภาก็ไม่มีบทบาทควบคุมรายจ่ายตรงนี้เลย ฉะนั้นประเทศไทยต้องการการวิจัย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบัน และกฎหมายทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง”
แต่น่าเสียดายว่า นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายของไทยมีผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ เรื่องความขัดแย้งการเมืองและการใช้อำนาจของรัฐน้อยมาก ส่วนใหญ่ เป็นแค่การวิเคราะห์สถานการณ์ ยังไม่ใช่การวิจัย
พร้อมเปรยๆ ว่า หากมหาวิทยาลัยไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ แล้วประเทศชาติจะพึ่งใคร!!
“บทบาททางวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองทางวิชาการ มีผลงานวิจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยหลายเรื่อง
ในสมัยเจริญรุ่งเรืองหัวบันไดคณะเศรษฐศาสตร์ไม่เคยแห้ง แขกต่างประเทศ จากที่ไหนๆ จะต้องมาที่นี่ เพื่อแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะสาขาวิชาที่สามารถสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การกระจายรายได้ นโยบายพรีเมียมข้าว นโยบายการค้าและอุตสาหกรรม ปัญหาหนี้สาธารณะ นโยบายการคลัง นโยบายการศึกษา และตลาดแรงงาน นโยบายพลังงาน และสาธารณะ
เราเคยมีอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญในวงการวิชาการกว่า 20 คน และในวงการการเมือง การบริหารประเทศ และภาคธุรกิจ แต่ขณะนี้คณะเศรษฐศาสตร์ กำลังถดถอย เพราะอาจารย์รุ่นหนุ่มสาวเติบโตไม่ทัน”
นอกจากนี้ อาจารย์นิพนธ์ มีข้อเสนอถึง ม. ธรรมศาสตร์ต้องจัดการเรียนการสอน การวิจัยใหม่ๆ โดยร่วมมือกันศึกษาวิจัยปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ของประเทศ แล้วแบ่งงานกันทำระหว่างคณะต่างๆ สร้างประเด็นหลักการวิจัย ผลิตตำราเศรษฐกิจไทย เพื่อให้นักศึกษามองเห็นภาพใหญ่
รวมถึงการปฏิรูปหลักสูตรวิชา เพิ่มสาขาความรู้ใหม่ๆ เช่น การจัดการความขัดแย้ง ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ไม่เคยพูดถึง , experimental control เรื่องการพัฒนาและปัญหาความยากจน ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมีงานด้านนี้มากมายไปหมด แต่ไทยไม่มีการทำวิจัยเรื่องนี้แม้แต่ชิ้นเดียว , political economy ทั้งจากมุมของนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และนักกฎหมาย ก็ไม่เคยทำงานร่วมกัน เศรษฐศาสตร์สถาบันโดยเน้นเรื่อง collective decision ที่ปัจจุบันเรามีปัญหามา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมศาสตร์ นักศึกษาควรมีโอกาสได้เรียนรู้วิชาใหม่ๆด้วย
ขณะที่บทบาทนักวิชาการต่อถานการณ์ความขัดแย้งขณะนี้ อาจารย์นิพนธ์ มีความเห็นด้วยว่า เวลานี้ นักวิชาการผู้มีสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนจะต้องลดละทิฐิ ลดละความร้อนวิชาลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงจนต้องบาดเจ็บล้มตาย
“ทิฐิบางเรื่องเวลานี้ต้องลดลง หากคุณยังสร้างทิฐิ สร้างความร้อนวิชาไปจนถึงจุดที่ประเทศชาติ 2 ฝ่ายต่อสู้กัน ทำสงครามกลางเมืองกัน ผมว่าเราอย่าเป็นนักวิชาการเลยดีกว่า ลาออกจากมหาวิทยาลัย แล้วไปเป็นนักพูด
ผมเสียดาย เราไม่หันหน้ามาพูดคุยกัน หากนักวิชาการผู้มีสติปัญญายังไม่สามารถพูดเรื่องเหล่านี้ด้วยเหตุและผล หรือบนโต๊ะเดียวกันได้ และเราจะหวังอะไรให้คู่ขัดแย้งทางการเมือง 2 ฝ่ายมานั่งโต๊ะคุยกัน เราจะหวังอะไรให้เสื้อเหลือง เสื้อแดงมานั่งคุยกัน” อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุ พร้อมกับตั้งความหวังทิ้งท้าย โดยอยากจะเห็นประชาชนธรรมดา ไม่ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรสามารถมาคุยกันได้