สภาทนายความระบุ13 ปีคดีคลิตี้ หาคนผิดได้ แต่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยา
เวทีสรุปบทเรียนสารตะกั่วรั่วคลิตี้ “สุลักษณ์”เตือนสังคมไทยอย่าหลงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติมาทำลายเด็ก-ชุมชน “ศรีศักดิ์”มองการต่อสู้ชาวบ้านเป็นประชาธิปไตยรากหญ้า ชาวบ้านหวั่นเรื่องเดิมยังไม่แก้แต่กำลังมีเหมืองแต่งแร่อีก
วันที่ 7 ก.ค.54 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนชนเผ่า โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่าย จัด “เทศกาลศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน 13 ปี คลิตี้ ชีวิต สายน้ำ และความหวัง” และมีการเสวนา “ความหวังจากคลิตี้ : การสื่อสารสุขภาวะเพื่อชุมชนและความสำคัญในสังคม”
โดย อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า สังคมไทยไม่เคารพธรรมชาติ เต็มไปด้วยการทำลายล้างธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏอยู่ทั่วประเทศ ทั้งกรณีนิคมอุตสาหกรรมที่กระทบชุมชนที่มาบตาพุด เหมืองโปแตซอุดรธานีฯลฯ แต่ไม่มีรัฐบาลไหนแก้ปัญหาได้ รวมทั้งกรณีเหมืองคลิตี้ ซึ่งสิ่งแรกที่ควรทำคือต้องกำจัดสารตะกั่วออกไปเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี
“เขาอยู่กับธรรมชาติ รักและเคารพธรรมชาติ เราคนไทยคนส่วนใหญ่ในสังคม ควรเรียนรู้จากพวกเขา หันมาเคารพชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันหมด” อ. สุลักษณ์ กล่าว
ปัญญาชนสยาม ยังกล่าวว่าสังคมอย่าหลงอำนาจเม็ดเงินของบรรษัทข้ามชาติที่กำลังครอบคลุมธุรกิจหลายด้าน เพราะเปรียบเหมือนฆาตกรฆ่าคนในสังคม คนไทยต้องหันมาใส่ใจกับเด็กและชุมชนที่ได้ผลกระทบ ช่วยให้เขามีความหวัง ซึ่งเป็นคุณธรรมและความดีงาม
ด้าน รศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคลิตี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ การต่อสู้ที่ยาวนาจากการรุกรานของภาคอุตสาหกรรมทำให้เห็นพัฒนาการภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง เป็นประชาธิปไตยจากข้างล่าง
“รัฐไทยเป็นประชาธิปไตยสามานย์ มีการปกครองจากข้างบน ไม่เข้าใจคนข้างล่าง จึงมองเห็นแร่ดีกว่าคน เป็นวิกฤติความเป็นมนุษย์ เมื่อทุนเหนือรัฐเหนือตลาด การต่อสู้จึงต้องเริ่มจากข้างล่าง การเอาความจริงของคนเดือดร้อนมานำเสนอให้ปรากฏต่อสาธารณะ และร่วมกันหลายๆพื้นที่เพื่อให้เกิดพลังทางสังคม” อ.ศรีศักดิ์ฺ กล่าว
ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แม้จะมีกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกมากำกับ แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เคยหมดไป
“กฎหมายระบุว่ารัฐต้องเคารพสิทธิฯ ไม่ละเมิด ต้องคุ้มครองไม่ให้คนอื่นละเมิด และต้องหามาตรการให้คนได้รับสิทธิตามกฎหมายและ หาแนวทางการแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2550 ให้สิทธิคณะกรรมการสิทธิฯ ฟ้องศาลได้ เราต้องเอามารื้อฟื้นและฟ้องเหมือนมาบตาพุด” ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ กล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และ
ผู้พลัดถิ่น สภาทนายความกล่าวว่า ปัจจุบันการฟ้องร้องยังอยู่ในขั้นตอนศาลฎีกา ชาวบ้านยังไม่ได้รับการชดเชย ลำห้วยยังไม่ได้รับการฟื้นฟู ปลา สัตว์ในแม่น้ำยังกินไม่ได้ เทียบกับเหตุการณ์ ‘มินามะตะ’ ที่เคยเกิดในญี่ปุ่นในอดีต การตัดสินของศาลและเยียวยาประชาชนช้ามาก แต่หลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลมาก มีการรายการความคืบหน้าการรั่วไหลของสารพิษ มีผู้เกี่ยวข้องออกมาขอโทษ มีการเคลื่อนย้ายผู้ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือทันที แต่กรณีคลิตี้ผ่านไปแล้ว 13 ปี ยังไม่มีคืบหน้า
“รัฐบาลไทยต้องย้อนกลับไปมองตัวเองว่าไปถึงไหนแล้ว การตรวจ การรักษา การเยียวยาเป็นเช่นไร วันนี้เรามีคนผิด เรามีผู้ได้รับผลกระทบ ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่าใครผิด ทั้งเจ้าของบริษัทฯ และ กรมควบคุมมลพิษที่ทำงานล่าช้า รัฐบาลต้องออกมาขอโทษประชาชน ที่ละเลยปัญหา” นายสุรพงษ์ กล่าว
ส่วน นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่าปัจจุบันปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข แต่จะมีโครงการใหม่ๆ เข้ามาอีก คือฝายสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าและดักตะกอน(ตะกั่ว)อย่างถาวร ซึ่งอบต.และคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย นอกจากนี้ยังมีเหมืองแต่งแร่ที่มีคนพยายามเข้าไปทำอีก
“มีคนมาศึกษาแล้วว่าชุมชนเห็นด้วยแค่ไหน ซึ่งหมู่บ้านอื่นเห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะจะมีงบประมาณเข้าไปมาก ผมไม่รู้ว่าจะได้ทำไหม แต่เกิดก็ห่วงเรื่องความปลอดภัยว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบมลพิษอีก” นายกำธร กล่าว
ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวอีกว่าที่ผ่านมาความผิดพลาดเกิดจากหน่วยงานรัฐ แต่ไม่เคยเข้ามาแก้ไข ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเอง และพึ่งหน่วยงานอื่น เช่น สภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิฯ เอ็นจีโอ.
....................................
หมายเหตุ
1. องค์กรร่วมจัด สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อนชนเผ่า มูลนิธิโลกสีเขียว โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กลุ่มดินสอสี โครงการพัฒนาการสื่อสารสุขภาวะเพื่อชุมชนและสังคมที่เป็นธรรมของหมู่บ้านคลิตี้ สนับสนุนโดย สสส. เด็กและเยาวชน ชาวบ้านคลิตี้ล่าง และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
2. “เทศกาลศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน 13 ปี คลิตี้ ชีวิต สายน้ำ และความหวัง” จะจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2554รายได้ทั้งหมดสนับสนุนการสร้างโรงเรียน และกองทุนเงินรักษาผู้ป่วยผู้ได้รับผลกระทบจากสารพิษตะกั่ว .