'ธวัชชัย ยงกิตติคุณ' บอกเลิกคิดไปเลย ออกพันธบัตรจ่ายหนี้จำนำข้าว ยันผิดกม.
‘เอ็นนู ซื่อสุวรรณ’ แนะแก้ระยะสั้น ‘ใช้งบกลาง’ จ่ายเงินชาวนาก่อน ยันธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเตรียมปล่อยกู้ลงทุนนารอบใหม่ 1 แสนล้านบาท เลขาฯ สมาคมธนาคารไทย จี้รัฐบาลรับผิดชอบ อย่าโยนบาปให้สถาบันการเงิน ระบุควรค้ำประกันดอกเบี้ย 100%
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 2 ‘แนวทางแก้ไขปัญหาจำนำข้าว และการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทย’ ณ อาคารวิทยบริการ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดได้ทำลายระบบตลาด และสร้างปัญหาด้านงบประมาณ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ อาทิ ค่าเก็บโกดัง ค่ารมยาฆ่าแมลง ค่าพนักงาน ซึ่งเคยมีการคำนวณไว้ต้องใช้เงินสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท/ปี ดังนั้นจึงส่งผลให้การค้าข้าวของไทยในตลาดโลกเกิดปัญหา
โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 พบโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2554/55 รัฐบาลรับจำนำข้าว 21.65 ล้านตัน มีชาวนาเข้าร่วม 2.2 ล้านคน จ่ายเงินแล้ว 337,336 ล้านบาท และมีการระบายข้าวคืน 106,455 ล้านบาท
ส่วนปีการผลิต 2555/56 รัฐบาลรับจำนำข้าว 22.4 ล้านตัน มีชาวนาเข้าร่วม 2.15 ล้านคน จ่ายเงินแล้ว 351,654 ล้านบาท และมีการระบายข้าวคืน 55,215 ล้านบาท และปีการผลิต 2556/57 รัฐบาลรับจำนำข้าว 3.89 ล้านตัน มีชาวนาเข้าร่วม 5.07 แสนคน จ่ายเงินแล้ว 62,707 ล้านบาท และมีการระบายข้าวคืน 6,432 ล้านบาท
นายเอ็นนู กล่าวว่า จะเห็นได้ถึงวิธีการทำงานของรัฐบาลที่จะนำเงินมาจากการระบายข้าว แต่หากหมุนเวียนไม่พอรัฐบาลจะต้องกู้เงินมาสมทบ โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับไม่เกิน 5 แสนล้านบาท แต่เมื่อประกาศยุบสภาจึงส่งผลให้เกิดปัญหา เพราะหากอนุมัติกู้เงินรอบใหม่ก็จะเกินกรอบวงเงิน
อดีตรองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวอีกว่า การที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ไม่ใช่ไม่รักชาวนา แต่ธนาคารทุกแห่งกังวลว่า หากทำแล้วจะมีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในใจลึก ๆ แล้วเชื่อว่ายังมีทางแก้ปัญหาอยู่ นั่นคือ การใช้งบประมาณส่วนกลาง แต่ไม่มั่นใจว่าจะเพียงพอหรือไม่
"ในส่วนของธ.ก.ส.จะยังทำหน้าที่ดูแลอยู่ ขอให้ชาวนาคลายความกังวลได้เลย ซึ่งตอนนี้ได้มีการทำหนังสือแจ้งไปยังสาขาต่าง ๆ ให้ลงพื้นที่พบปะ โดยมุ่งเน้นที่ชาวนาที่ประสบปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวให้สามารถยืดชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน แต่หากครบกำหนดยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ก็จะขยายระยะเวลาต่อไปเป็น 12 เดือน ตามข้อบังคับของธนาคาร"นายเอ็นนู กล่าว และว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ธ.ก.ส.ยืนยันว่ามีสภาพคล่องเพียงพอ โดยจะให้กรอบวงเงินกู้ไว้ทั้งหมด 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือการลงทุนคนละ 1 แสนบาท ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือปกติของธนาคารอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจะเป็นไปได้มากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือด้วย
ด้านดร.ธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการใช้เงินหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าว ต้องเข้าใจสถาบันการเงินต่างนำเงินของผู้ฝากมาใช้จ่าย ฉะนั้นหน่วยงานที่กำกับดูแลจึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้นำไปใช้จ่ายหรือลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยง เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้ฝากเงิน
“การเร่งช่วยเหลือชาวนาเป็นสิ่งจำเป็น แต่ในหลักการของสถาบันการเงินแล้วจะต้องไม่ทำให้กลไกตลาดพังและผิดกฎหมาย ซึ่งทราบดีว่าโ ครงการรับจำนำข้าวทำไม่ได้ เพราะหากใครทำแล้วอาจถูกสอบจนติดคุกดังนั้นคนที่รับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลจะต้องแก้ไข อย่าโยนความผิดให้สถาบันการเงิน” เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุ
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหานั้น ดร.ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า เสนอให้เร่งระบายข้าวให้เร็วที่สุด พร้อมนำงบประมาณส่วนกลางมาหนุนเสริม แล้วให้รัฐบาลค้ำประกันรับผิดชอบดอกเบี้ย 100% เพราะทำให้ชาวนาเกิดหนี้ เพื่อนำเงินมาเป็นทุนหมุนเวียน โดยไม่ต้องดึงธ.ก.ส.มายุ่งเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวอีก ส่วนเรื่องการออกพันธบัตรเพื่อให้สถาบันการเงินซื้อนั้น เลิกคิดไปเลย เพราะผิดกฎหมาย ฉะนั้นนักการเมืองต้องกล้าพอที่จะรับผิดชอบ .