จากยิง"ขวัญชัย"ถึงฆ่าเด็ก3ศพ ได้เวลาจัดระเบียบ"กำลังพล-อาวุธ"ชายแดนใต้
ต้องบอกว่าข้อมูลจากปากชาวบ้านเวลาเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่อาจมองข้ามได้จริงๆ คำกล่าวที่ว่า "ชาวบ้านเขารู้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่บ้านของเขา" ยังคงใช้การได้
ดังเช่นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กลุ่มคนร้ายบุกยิงยกครัว ครอบครัว "มะมัน" คือ นายเจะมุ มะมัน สามี นางพาดีละห์ แมยู ภรรยา พร้อมลูกชาย 3 คน คือ ด.ช.มูยาเฮด มะมัน อายุ 11 ปี ด.ช.บาฮารี มะมัน อายุ 9 ปี และ ด.ช.อิลยาส มะมัน อายุ 6 ปี ที่บ้านในหมู่บ้านปะลุกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อค่ำวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้เด็กชายสามพี่น้องเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ นางพาดีละห์ ได้รับบาดเจ็บสาหัสทั้งๆ ที่ตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน และนายเจะมุเองก็ได้รับบาดเจ็บ
หลังเกิดเหตุมีเสียงร่ำลือในพื้นที่ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยืนยันตรงกันว่าไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในแง่ของการสั่งการเชิงนโยบาย เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปสังหารเด็ก
สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ชุดที่มี นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ซึ่งตั้งขึ้นโดยสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ได้สรุปข้อมูลในชั้นต้นว่า น้ำหนักของชนวนเหตุมุ่งไปที่การล้างแค้นส่วนตัว เพราะนายเจะมุตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาและคดีความมั่นคงหลายคดี
อย่างไรก็ดี ข้อมูลตบท้ายของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ นับว่าน่าสนใจ เพราะชี้ว่าผู้ก่อเหตุมีส่วนเชื่อมโยงกับทหารพรานซึ่งเกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้เสียชีวิตในคดีที่นายเจะมุตกเป็นผู้ต้องหา แต่เป็นการเชื่อมโยงในแง่บุคคล ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานที่กำลังพลรายนั้นสังกัดอยู่
จากข้อมูลนี้ ทำให้เสียงร่ำลือของชาวบ้านถือว่าตรงเป้า ตรงประเด็น แม้จะไม่ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม...
ต่อมามีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งในและนอกพื้นที่ พบว่า มีทหารพราน 2 นายอยู่ในข่ายต้องสงสัย และน่าจะเป็นบุคคลที่ถูกอ้างถึงว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุ โดยทั้งคู่สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานเลข 2 ตัวที่รับผิดชอบอำเภอรอยต่อของ จ.ปัตตานี กับ จ.นราธิวาส
ทหารพรานต้องสงสัย 2 นายนี้นามสกุลเดียวกัน แต่อยู่คนละกองร้อยกัน ทว่าจากรายงานของหน่วยต้นสังกัดระบุว่า ในวันเกิดเหตุ 3 ก.พ.เวลาประมาณสองทุ่มเศษนั้น ทหารพรานนายหนึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ภายในฐาน และเพิ่งลาพักในวันรุ่งขึ้น (14 ก.พ.) ส่วนอีกนายหนึ่งได้ลาไปร่วมงานแต่งงานของญาติตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. และได้กลับเข้าฐานก่อนเวลา 18.00 น.ของวันเกิดเหตุ
สรุปว่าช่วงเวลาขณะเกิดเหตุ ทั้งคู่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐาน!
แต่ถึงกระนั้น หน่วยเหนือยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะข้อมูลการข่าวค่อนข้างชี้ชัด ตำรวจ สภ.ปะลุกาสาเมาะ จึงเรียกปืนประจำกายของกำลังพลทั้ง 2 นายไปตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ แม้ทางหน่วยต้นสังกัดจะยืนยันว่าไม่มีนโยบายจ่ายอาวุธให้กำลังพลที่ลากลับบ้านก็ตาม
ข้อมูลเชิงลึกของหน่วยงานด้านการข่าว ระบุว่า พฤติกรรมของอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) และอาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ระยะหลังกองทัพและกระทรวงมหาดไทยเปิดรับสมัครโดยตรงจากคนในพื้นที่ แม้จะเป็นความตั้งใจที่ดีเพื่อให้คนในพื้นที่ได้ดูแลกันเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีประเด็นอ่อนไหวต้องเฝ้าระวังอย่างสูงและเพิ่มความเข้มงวดให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากระบวนการรับบุคคลเข้าเป็น อส.ทพ. และ อส.ค่อนข้างหละหลวม มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้เส้นสายนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาฝากฝังกันเข้ามา จนกลายเป็นเรื่อง "บุญคุณต้องทดแทน" หรือไหว้วานว่าจ้างให้ไปกระทำการบางอย่าง หรือปฏิบัติการลับที่มิชอบด้วยกฎหมายได้
คดียิง นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนเสื้อแดงอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ม.ค.นับเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะต่อมามีการจับกุม นายมะดือมัง มะแซ อายุ 39 ปี อส.นราธิวาส ในฐานะผู้ต้องหาที่สาดกระสุนอาก้าหวังปลิดชีพนายขวัญชัย และภายหลังขยายผลออกหมายจับกลุ่มทหารที่มีความเชื่อมโยงกับ อส.มะดือมัง เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสด้วย
ขณะเดียวกัน ความหละหลวมในกระบวนการคัดกรองบุคคลเข้าเป็น อส.ทพ. และ อส.ยังเปิดช่องให้กลุ่มคนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงในพื้นที่เข้ามาสมัครเพื่อรับการฝึกฝนและรับอาวุธประจำกาย จากนั้นก็รอโอกาสนำไปใช้สนองความต้องการของตนด้วย ซึ่งพฤติการณ์ลักษณะนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.แนวร่วมก่อความไม่สงบที่แฝงตัวเข้าไปสวมเครื่องแบบของทางการ จากนั้นก็ไปปฏิบัติการก่อความรุนแรงป้ายสีเจ้าหน้าที่ หรือล้างแค้นส่วนตัว
2.กลุ่มเด็กกำพร้าที่เป็นบุตรของเหยื่อความรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อว่าสูญเสียบิดาจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าไปเป็นทหารพรานหรือ อส. เพื่อรอจังหวะล้างแค้น
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งคลุกคลีอยู่ในพื้นที่และรับรู้โครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบไม่สงบเป็นอย่างดี ยืนยันว่าเหตุฆ่ารายวันหลายๆ เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะทหารพรานและ อส.นั้น ส่วนใหญ่เป็นการกระทำของเด็กหนุ่มที่พ่อหรือแม่ถูกคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนสังหาร อาจเพราะไปเปิดเผยความลับของขบวนการหรือขัดแย้งกันด้านอื่นก็ตาม เด็กหนุ่มเหล่านี้มีความแค้นฝังใจ เมื่อโตขึ้นจนอายุครบเกณฑ์สมัครเข้าเป็นทหารพรานหรือ อส.ได้ ก็จะรีบสมัคร เข้ารับการฝึก และรอจังหวะล้างแค้น
พล.อ.สำเร็จ ยืนยันว่า เหตุยิงผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ศาลยกฟ้องบางกรณี ผู้ที่ก่อเหตุก็เป็นคนกลุ่มนี้ เพราะไม่พอใจที่กฎหมายเอาผิดไม่ได้ ก็เลยจัดการด้วยมือตัวเอง
"เราตรวจสอบและพบอยู่บ่อยๆ เมื่อพบเราก็สั่งปลดทุกราย" พล.อ.สำเร็จ กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ให้ข้อมูลเสริมว่า ทหารพรานบางรายเป็นลูกแกนนำบีอาร์เอ็นที่บิดาเสียชีวิตเพราะให้ข่าวกับเจ้าหน้าที่ กลายเป็นปัญหาซับซ้อนที่แก้ไขยาก
อย่างไรก็ดี ยังมีเหตุรุนแรงอีกจำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีปัญหาขัดแย้งผลประโยชน์ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จากนั้นก็รวบรวมสมัครพรรคพวก หรือบางทีก็ใช้อาวุธของทางราชการไปก่อเหตุกับคู่ขัดแย้งเสียเอง
คดีคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิง นายมูฮาหมัดดาโอ๊ะ สะนิ ผู้รับเหมาถมดิน และ นายไซดี ยาแลสาเงาะ เสียชีวิตในท้องที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อไม่นานมานี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดี โดย พล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส (ผบก.ภ.จว.นราธิวาส) เพิ่งแถลงเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ผู้ต้องหาที่ออกหมายจับแล้ว 1 คน คือ นายชาลี ไชยยา อส.ประจำที่ว่าการอำเภอเมืองนราธิวาส ทำหน้าที่เป็นมือปืน ขณะนี้หลบหนีการจับกุม
ขณะที่อีก 2 คนที่ร่วมทีมกันก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ พ.จ.อ.สมพร ลังเดช ทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ ค่ายจุฬาภรณ์ เป็นผู้เบิกรถกระบะของทางราชการไปใช้ก่อเหตุ ส่วนอีกคนคือ นายสมชาย แสงจันทร์ อส.ทพ.สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 ทำหน้าที่เป็นคนขับรถ ล่าสุดตำรวจจับกุมทั้งสองคนได้แล้ว สาเหตุมาจากปัญหาขัดแย้งส่วนตัวเรื่องธุรกิจรับเหมาถมดิน
ในวันเดียวกันนั้น ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 ตั้งจุดตรวจหน้าสถานีรถไฟตันหยงมัส อ.ระแงะ และเรียกตรวจรถกระบะต้องสงสัย พบอาวุธปืนอาก้า ปืนคาร์บิน ปืนลูกซองยาว และปืนพกสั้น รวมทั้งระเบิดชนิดขว้างสังหารแบบ เอ็ม 67 ซุกซ่อนอยู่ในรถ ปรากฏว่าชายฉกรรจ์ที่นั่งมาในรถเป็นอดีตทหารพราน
นี่คือมูลเหตุประการสำคัญที่ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรียกคืนอาวุธสงครามจากผู้ที่ครอบครองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่ไม่มีหน้าที่ด้วย ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำท้องที่ที่เกิดกรณีไล่ยิงไล่ฆ่ากันเป็นประจำ
แต่นั่นดูจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะโจทย์ใหญ่ในขณะนี้คือฝ่ายรัฐจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร เพราะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงและธุรกิจผิดกฎหมายเต็มไปหมด
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ร่องรอยความรุนแรงที่บ้านของนายเจะมุ หลังถูกคนร้ายบุกยิงถล่มยกครัว
2 อส.มะดือมัง ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพในคดียิงนายขวัญชัย ไพรพนา ที่อุดรธานี
ขอบคุณ : ภาพ อส.มะดือมัง ขณะทำแผนประกอบคำรับสารภาพ เอื้อเฟื้อโดยศูนย์ภาพเนชั่น