ดร.นิพนธ์ แนะนายกฯ ลดทิฐิ หยุดโยนบาปปม 'จำนำข้าว' ล่มให้คนอื่น
นิพนธ์ พัวพงศกร ขอรัฐบาลใจกว้าง ลดทิฐิ หยุดใช้อำนาจบาทใหญ่ โยนความผิดให้คนอื่น เหตุค้างจ่ายค่าข้าวชาวนา ระบุที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยออกมายอมรับผิด เชื่อมีวิธีแก้ปัญหาใช้หลายๆ วิธีประกอบกัน
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาของโครงการจำนำข้าว ที่ขณะนี้รัฐบาลค้างค่าข้าวชาวนากว่าแสนล้านบาทว่า เป็นโชคดีของประเทศ ซึ่งหากไม่มีการยุบสภา รัฐบาลก็กู้เงินมาจ่ายได้ไม่ยากเลย เนื่องจากเราไม่ได้ถังแตก เรามีเงินเยอะ
"แต่ผมบอกว่า พระสยามเทวาธิราชช่วยไว้ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรที่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาก่อนแทนที่จะให้มีการจำนำข้าวยาวออกไปอีก 3 ปี แล้วผลเกิดวิกฤตหนักกว่านี้"
สำหรับทางออกในการแก้ปัญหา รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า อันดับแรก คือ รัฐบาลต้องหยุดใช้วิธีการบีบบังคับ และต้องเลิกโยนความผิดให้คนอื่น โดยที่ไม่เคยมองความผิดพลาดของตัวเอง เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะโยนความผิดให้คนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ควรขอความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ หันมาพูดคุยกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวนา สมาคมธนาคารไทยทั้งของรัฐและเอกชน หรือนักกฎหมาย กฤษฎีกา เพื่อหาทางออก ว่า หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้อย่างไรบ้าง
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ขยายวงเงินกู้ให้เต็มวงเงินกู้ โดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ให้ไปคิดดอกเบี้ยกับรัฐบาลชุดต่อไปแทน หรือจะเป็นวิธีการที่ชาวนาพิจิตรเสนอ คือ การนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส. แต่ให้ทำแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่เอาไปคุยกับโรงสีแล้วให้โรงสีมารับจำนำ เพราะเชื่อว่า โรงสีไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น
ส่วนวิธีที่จำเป็นต้องทำ รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า คือการระบายข้าว ขายข้าวออกไป แม้จะทำได้น้อยได้เงินน้อย ก็จำเป็นต้องทำร่วมกับวิธีอื่นๆ ประกอบกัน เช่น การนำใบประทวนไปค้ำประกันเงินกู้ ก็ต้องเป็นใบที่ออกแบบมาว่า สินค้านั้นยังไม่มีการแปรรูป หากมีการแปรรูปไปแล้วจะใช้หลักประกันอย่างไร เรื่องนี้รัฐบาลต้องเข้าไปคุย รัฐบาลจะค้ำประกันให้ได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องทำสร้างกระบวนการความมั่นใจ
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงกรณีการออกพันธบัตร ก็ไม่สามารถทำได้อีก เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจหากออกก็จะผิดกฎหมาย ฉะนั้น ปัญหาที่ต้องแก้ให้ได้ตอนนี้ คือ เลิกโยนความผิดให้ธนาคาร ผู้บริหารธนาคาร สหภาพธนาคาร เพราะธนาคารก็มีกฎกติกาในการปล่อยกู้
"แม้ทางออกในการแก้ปัญหาให้กับชาวนาเรื่องจำนำข้าวจะมีหลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล พอได้รัฐบาลชุดใหม่ก็จะมีอำนาจในการแก้ปัญหาได้เต็มที่ ได้เงินเป็นก้อน สุดท้ายปัญหาก็จะจบ แต่หากยังเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ต้องใช้เวลานาน"
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาข้อมูลในการดำเนินโครงการจำนำข้าวรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงต่อสาธารณะชน อ้างแต่ว่านี่คือความลับทางธุรกิจ จึงทำให้เข้าใจได้ว่า โครงการนี้ส่อทุจริต ซึ่งรัฐบาลไม่ควรโทษคนอื่น ต้องยอมรับเสียก่อนว่า จำนำข้าวเป็นโครงการที่มีปัญหา โดยคนแรกที่ต้องออกมายอมรับ มาขอโทษ คือ นายกรัฐมนตรี
"ขณะนี้เรากลับไม่ได้ยินเสียงในเรื่องนี้เลย ถ้านายกฯ ออกมารับปัญหาที่เกิดขึ้น ขอโทษชาวนา เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้"