เก็บตกสานเสวนาดับไฟใต้...ฉายภาพอนาคต ลดรวมศูนย์อำนาจ
ช่วงก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งที่ชายแดนใต้ มีการจัดเวทีประชันนโยบายและวิสัยทัศน์ผู้สมัครตลอดจนพรรคการเมืองหลากหลายเวที แต่มีเวทีหนึ่งที่น่าสนใจและไม่ได้ให้น้ำหนักกับฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียว เพราะเปิดรับฟังเสียงจากตัวแทนทุกภาคส่วนในพื้นที่ คือเวทีสานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พลเมืองกับการเลือกตั้งที่เที่ยงธรรม: สู่การดับไฟใต้”
เวทีนี้จัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ตำรวจ ทหาร สื่อมวลชน และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่
แม้การเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เนื้อหาสาระที่ได้จากเวทีดังกล่าวนับว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นดั่ง “สาร” ที่ส่งถึงรัฐบาลชุดใหม่ได้ว่า ภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จริงต้องการอะไรกันแน่เพื่อ “ดับไฟใต้”
และทั้งหมดนี้คือความคาดหวังและภาพอนาคตที่ทุกภาคส่วนช่วยกันวาด ช่วยกันฉาย เพื่อสร้างความเข้าใจและสันติสุข...
- การเลือกตั้งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอันจะนำไปสู่การดับไฟใต้ได้ในที่สุด
- อยากให้ ส.ส.เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน เพราะที่ผ่านมาเมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ส.ส.ก็กลืนหายไปกับการเมืองระดับชาติ หรือถูกกำหนดบทบาทโดยผู้อำนาจในส่วนกลาง หาได้ผนึกกำลังกับภาคพลเมืองเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้จังหวัดชายแดนใต้หลุดพ้นจากวัฏจักรความรุนแรง
- เชื่อมั่นว่ากุญแจดับไฟใต้คือคนในพื้นที่เป็นสำคัญ และนโยบายดับไฟใต้ควรเป็นนโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ใช้วิถีทางทางการทูต การพูดคุยเจรจา และการสานเสวนาระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อสร้างกระบวนการหาทางออกร่วมกันโดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าประหัตประหาร
- กลุ่มสตรีควรเข้ามามีบทบาททางการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของสตรีจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่าผู้ชาย รวมทั้งจะทำให้การเมืองสะอาดขึ้นกว่าเดิม
- กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับอิสลามกับการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการเข้าไปมีบทบาททางการเมืองอย่างไรที่ไม่นำไปสู่ความแตกแยก ไม่นำไปสู่การกระทำผิดศีลธรรม ผิดหลักการทางศาสนา นอกจากนั้นยังเสนอให้จัดการพูดคุยเจรจากันของทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐกับขบวนการ (ที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) เท่านั้น
- กลุ่มเยาวชนมองว่าเรื่องที่เป็นภัยเงียบของชายแดนใต้และของประเทศชาติในวันนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังรุกคืบพื้นที่ภาคใต้อยู่ในปัจจุบัน(โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) จึงกังวลว่าจะกลายเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล ทั้งๆ ที่เป็นการทำร้ายชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมภาพรวม
- กลุ่มที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐภาคส่วนต่างๆ เห็นว่า เป็นเรื่องดีที่หลายพรรคการเมืองมองเห็นปัญหาภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ และมีนโยบายออกมา แต่ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกยินดีหากจะมีการลดใช้กำลังทหารลง แต่ต้องเป็นไปด้วยเหตุเพราะความรุนแรงลดลง และลดการใช้อาวุธทั้งสองฝ่าย
- กลุ่มนักวิชาการได้นำเสนอแนวคิดที่ถกเถียงกันมากในพื้นที่ คือเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในมิติการเมืองการปกครอง โดยประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาทุกวันนี้ กลุ่มนักวิชาการมองว่าเกิดจากการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มทุน จึงมีความพยายามแสวงหาผลประโยชน์จากการเมืองหรือผ่านช่องทางการเมืองตั้งแต่ระดับมหภาคจนถึงระดับท้องถิ่น หรือการเข้าไปมีบทบาทในภาคการเมืองเสียเอง สร้างระบบและออกกฎหมายเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้ากลุ่มพวกพ้อง
กลุ่มนักวิชาการมองว่า ระบบที่เอื้อให้การเมืองเป็นเช่นนี้คือระบบ "รวมศูนย์อำนาจ" ดังนั้นการกระจายอำนาจและทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการบริหารท้องถิ่นของตนเองน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเชื่อว่าต้องอาศัยคนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่รัฐบาลกลาง และบทเรียนของแต่ละประเทศชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ และเขตปกครองพิเศษ สามารถนำพาการแก้ไขปัญหาลักษณะที่เป็นอยู่นี้ไปสู่ทิศทางที่ดีกว่าการรวมศูนย์อำนาจ
ทั้งหมดนี้คือเสียงของภาคส่วนต่างๆ จากชายแดนใต้ที่รัฐบาลชุดใหม่น่าหยิบไปใช้และกำหนดนโยบาย!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศการสานเสวนาที่ให้ทุกภาคส่วนนั่งล้อมวงกันและเปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางเท่าเทียม