บทเรียน “Hate Speech” จากสังคมไทย "วาทกรรม"แห่งการนองเลือด!
“…ยิ่งในบริบทออนไลน์ที่ผู้ใช้ซึ่งเป็นใครก็ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหา และมีการแบ่งปันเนื้อหาและการแพร่กรระจายความเกลียดชังได้เหมือนไวรัส สังคมอาจอยู่ในความเสี่ยงต่อผลกระทบที่ไม่ใช่แบบสุดซอยคือสงครามกลางเมือง แต่เป็นผลกระทบที่แทรกซึมอยู่ในเส้นใยที่ยึดโยงสังคมเข้าด้วยกัน ทำให้สังคมอ่อนแอเพราะผู้คนหมดความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และสำคัญตัวว่า กลุ่มของตน ความคิด แนวทางของกลุ่มตนเท่านั้นคือความถูกต้อง…”
เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยครั้งที่สุดในยุคที่สังคมไทย “แบ่งสี – เลือกฝ่าย” กันอย่างชัดเจน
นั่นก็คือการใช้ถ้อยคำ “สร้างความเกลียดชัง” หรือที่เรียกว่า “Hate Speech” มาเป็นเครื่องมือ “บ่อนทำลาย” คู่ขัดแย้งกันในทางการเมือง
แม้ว่าในประเทศไทยจะมีการเสวนา หรือให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ “Hate Speech” มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวออกมาหลายเล่ม แต่ก็ยังไม่สามารถลดทอน ‘กระบวนการคิด’ ดังกล่าวได้เลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่โซเชียลมีเดียผงาดขึ้นมามีอิทธิพลทางความคิดกับคนในสังคม พบว่า มีการผลิตวาทกรรมทางการเมือง หรือแชร์ข้อมูลที่ปั้นเสริมเติมแต่งเพื่อขยายความเกลียดชังให้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ (Thai Media Policy Center) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความสำคัญของการผลิตวาทกรรม “Hate Speech” จึงได้จัดทำคลิปวีดีโอ ““Hate Speech” เบื้องต้นสำหรับคนไทย (ฉบับเต็ม)” เขียนบทและอำนวยการสร้าง ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ และอัพโหลดลงเว็บไซต์ยูทิวป์ (Youtube) เพื่อให้ความรู้แก่คนในสังคมว่า การใช้วาทกรรมจำพวก “Hate Speech” ส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมไทยบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำเนื้อหาในคลิปวีดีโอดังกล่าวมาเผยแพร่ ดังนี้
โดยในคลิปวีดีโอดังกล่าว สื่อต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ประกอบสร้างความคิดเหมารวมเชิงลบต่อกลุ่มอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากตน อันจะนำไปสู่การมีอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของพฤติกรรมแบ่งแยกเขาและเรา หรือการเห็นว่าพวกตนดีกว่าพวกอื่น ทำให้สังคมที่มีผู้คนจากพื้นเพอันหลากหลาย ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและเป็นสุข
“ยิ่งในบริบทออนไลน์ที่ผู้ใช้ซึ่งเป็นใครก็ได้เป็นผู้สร้างเนื้อหา และมีการแบ่งปันเนื้อหาและการแพร่กรระจายความเกลียดชังได้เหมือนไวรัส สังคมอาจอยู่ในความเสี่ยงต่อผลกระทบที่ไม่ใช่แบบสุดซอยคือสงครามกลางเมือง แต่เป็นผลกระทบที่แทรกซึมอยู่ในเส้นใยที่ยึดโยงสังคมเข้าด้วยกัน ทำให้สังคมอ่อนแอเพราะผู้คนหมดความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง และสำคัญตัวว่า กลุ่มของตน ความคิด แนวทางของกลุ่มตนเท่านั้นคือความถูกต้อง”
ทั้งนี้ คลิปวีดีโอดังกล่าว แยกองค์ประกอบของ “Hate Speech” ออกเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
1.เป็นการแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นอย่างชัดเจน และอาจแสดงเจตนาชัดเจนที่จะทำให้เป้าหมายได้รับความเกลียดชังจากคนอื่น ถูกตีตราว่าไม่เป็นที่ต้องการของสังคม และสังคมจะดีขึ้นถ้าไม่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าว
2.ฐานคิดหรือลักษณะที่พุ่งเป้าในการแสดงความเกลียดชัง ต้องเป็นลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ร่วมของ “กลุ่ม” ทั้งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเปลี่ยนแปลงได้ เช่น สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ เป็นต้น
3.เป้าหมายหลักในการแสดงความเกลียดชัง คือเพื่อการแบ่งแยกทางสังคม และ “ขจัด” คนอีกกลุ่มออกไป ไม่ว่าจะในเชิงรูปธรรม เช่นการคุกคามหรือใช้ความรุนแรง หรือในเชิงนามธรรม เช่น การขับไล่ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม และการสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติกับกลุ่มดังกล่าวอย่างไม่เท่าเทียมก็ได้
(ชมคลิปวีดีโอ “Hate Speech” เบื้องต้นสำหรับคนไทย (ฉบับเต็ม)” : https://www.youtube.com/watch?v=8AKcSTY0TEc)
คำถามคือ ทำไมถึงต้องห้ามการใช้ “Hate Speech” ?
รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ให้คำตอบไว้ในบทความ “ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (Hate Speech) กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ว่า “Hate Speech” ในตัวมันเองนั้น ไม่มีคุณค่าทางความคิดแต่อย่างใดเลย ฉะนั้น “Hate Speech” จึงไม่สมควรได้รับการปกป้องทั้งในระดับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และระดับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายอาญาของหลายประเทศยังได้บัญญัติให้ “Hate Speech” เป็นความผิดอาญาด้วย [1]
“ผลกระทบของ “Hate Speech” นั้นมีอานุภาพมหาศาลเพราะอาจเป็นการกรุยทางต่อการทำลายล้างเผ่าพันธ์ (Genocide) สมัยฮิตเลอร์ที่กระทำต่อชาวยิว หรือการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ที่สื่อมีบทบาทมากในการปลุกระดมให้มีการฆ่าอีกเผ่าหนึ่ง ฉะนั้นทั้งกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในจึงห้ามมิให้มี “Hate Speech””
แล้วอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “Hate Speech” ในสังคมไทย ?
รศ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า ตั้งแต่สังคมไทยติดหล่มความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองมาเกือบ 10 ปีมานี้ ได้มีนักการเมือง นักจัดรายการ นักแสดง ฯลฯ ใช้คำพูดอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่มีต่อคนชนบท คนจน หรือคนที่มีการศึกษาไม่สูง นอกจากนี้การที่ผู้คนแสดงทัศนคติให้เอา “ความรู้การศึกษา” ก้ดี “ความสามารถในการเสียภาษี” ก็ดี มาเป็นเกณฑ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้นเป็นการแสดงความเห็นในเชิงดูถูกเหยียดหยาม และเป็นการเลือกปฏิบัติอีกด้วย
ส่วน ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว สังคมไทย อะไรเป็นแก่นแกนของ “Hate Speech” ในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องการแบ่งแยกสีผิว ในยุโรปเป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ หรือว่าในประเทศไทยเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” หรือไม่ และฐานของ “Hate Speech” ในสังคมไทยมาจากอคติเรื่องการเป็นต่างจังหวัด เมือง – ชนบท หรือไม่ และสังคมไทยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าลักษณะใดเป็นความเกลียดชังหรือไม่ [2]
ขณะที่ ห้วงเวลานี้เป็นยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คกำลังเบิกบาน การใช้ “Hate Speech” ส่งผลกระทบอย่างไร ?
“อดีตการสนทนาตามโต๊ะกาแฟอาจลุกลามเป็นการด่าทอได้ แต่ความขัดแย้งจะอยู่ในเวลาและพื้นที่ตรงนั้นหรือในชุมชน แต่โซเชียลมีเดีย ช่วยให้ “Hate Speech” กระจายตัวเร็วข้ามพื้นที่และเวลา มีอายุยาวนานขึ้น ถูกผลิตซ้ำมากและบ่อยขึ้น” [3]
เป็นคำอธิบายจาก ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยที่ศึกษาเรื่อง “Hate Speech” พร้อมทั้งยืนยันว่า การแพร่ระบาดของ “Hate Speech” ในสังคมไทย เกี่ยวข้องกับการขยายตัวของโซเชียลมีเดียอย่างแยกไม่ออก ก่อนยุคโซเชียมีเดีย ใช่ว่าจะไม่มี “Hate Speech” ดำรงอยู่ แต่โซเชียลมีเดีย ทำให้กาละและเทศะของการแสดงความเกลียดชังผ่าน “Hate Speech” เปลี่ยนไป
คำอธิบายจากนักวิชาการทั้งหลายข้างต้น เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของปรากฏการณ์ “Hate Speech” ในสังคมไทย ท่ามกลางบริบทโซเชียลมีเดียเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยได้รับ ‘บทเรียน’ จากการใช้ “Hate Speech” มาแล้วหลายครั้ง และแทบทุกครั้งมักจบด้วยการนองเลือดเสมอ
และขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนแรงถึงขีดสุด ไม่มีการรอมชอมกันระหว่างผู้ชุมนุม กปปส. ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับรัฐบาลอีกต่อไป
ก่อนที่ปลายทางความขัดแย้งนี้จะนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ในอดีต ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญในการผลิตวาทกรรม “Hate Speech” อย่างจริง ๆ จัง ๆ
เพื่อป้องกันไม่ให้มี “คนตาย” ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองเสียที !
----
อ้างอิงข้อมูล :
[1] http://prachatai.com/journal/2013/12/50732
[2] https://thainetizen.org/2013/07/online-hate-speech-in-thailand-research-chula/
[3] http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=2828