"ซัมซามิน"มั่นใจ BRN ยังร่วมโต๊ะเจรจา รับใต้ไร้ปัญหามาเลย์ก็ได้ประโยชน์
"ดาโต๊ะซัมซามิน" ให้สัมภาษณ์สื่อชายแดนใต้ที่กลันตัน ยืนยันพร้อมเดินหน้าต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพแม้ไทยยังมีปัญหาการเมือง ชี้ที่ผ่านมาแค่เริ่มต้น ย้ำได้ประโยชน์แน่ ถ้ายังมีพูดคุยป่านนี้รู้แล้วใครฆ่าเด็ก 3 ศพ แจงไม่รู้ข่าวบีอาร์เอ็นถอนตัว อ้างเพิ่งเจอตัวแทนได้รับคำยืนยันทุกอย่างยังคงเดิม ชี้ถ้าไม่ร่วมถือว่าเสียมารยาท เหตุเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงเอง ปัดแสดงความเห็น "ฮัสซัน" ถูกปลด ยอมรับเล่นบทคนกลางเพราะหากภาคใต้ของไทยสงบ มาเลย์ก็ได้ประโยชน์ด้วย
ดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มของ นายฮัสซัน ตอยิบ กล่าวระหว่างพบปะสื่อมวลชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันพุธที่ 19 ก.พ.57 ที่โรงแรม Habib ในเมืองโกตาบารู เมืองหลวงของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ในโอกาสใกล้วันครบรอบ 1 ปีการริเริ่มกระบวนการสันติภาพ โดยยืนยันว่าทางการมาเลเซียมีความพร้อมในการดำเนินกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในดินแดนปลายด้ามขวานของไทยต่อไป
"ที่ผ่านมาการพูดคุยสันติภาพเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น และตอนนี้มีปัญหาเรื่องการเมืองภายในของไทย แต่ยืนยันว่าทางการมาเลเซียมีความพร้อมที่จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ" ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าวตอนหนึ่ง
เขาตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับข่าวการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพจาก นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น เป็นคนอื่นว่า เป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็น ส่วนที่มีข่าวว่าบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ไม่ร่วมกระบวนการพูดคุุยสันติภาพอีกต่อไปนั้น ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับตน และไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาได้พบกับตัวแทนบีอาร์เอ็น ก็ได้รับการยืนยันว่าเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยอย่างแน่นอน และยังเชื่อมั่นกระบวนการนี้
"หากบีอาร์เอ็นไม่เชื่อมั่น และจะตัดสินใจออกจากกระบวนการพูดคุย ก็เป็นหน้าที่ของตัวแทนประชาชนปาตานีที่ได้รับการยอมรับ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าตราบใดที่ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากบีอาร์เอ็น ก็ถือว่ายังร่วมคณะพูดคุยอยู่ หากบีอาร์เอ็นไม่เข้าร่วมจะถือว่าไร้มารยาทมาก เพราะบีอาร์เอ็นเป็นคนลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพ"
ดาโต๊ะซัมซามิน กล่าวอีกว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น 4 ครั้ง (นับวันลงนาม 28 ก.พ.56 ด้วย) และมีตัวแทนขององค์การพูโลเข้าร่วมด้วยทุกครั้ง และล่าสุดทางพูโลได้ทำข้อตกลงชัดเจนว่าจะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย
"ที่ผ่านมาการพูดคุยเราลงลึกในหลายๆ เรื่อง แต่มันยังไม่เป็นผลให้ประชาชนได้เห็น เพราะที่ผ่านมาประชาชนเห็นแค่ระเบิดกับคนตายเท่านั้น จริงๆ เราคุยลึกถึงขั้นว่าหากฝ่ายขบวนการเสียชีวิต ให้มีธงของขบวนการติดข้างๆ และหากเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ก็ห้ามฝ่ายขบวนการกระทำต่อศพซ้ำ แต่นั่นเป็นแค่การพูดคุยซึ่งต้องมีอย่างต่อเนื่อง เพราะจะได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน อย่างเรื่องการสังหารเด็ก 3 คนที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส (เด็กชายสามพี่น้องครอบครัวมะมัน เหตุเกิดเมื่อคืนวันที่ 3 ก.พ.) นั้น หากมีการพูดคุยก็จะสามารถหาผู้ก่อเหตุได้ว่าใครเป็นคนทำ"
ดาโต๊ะซัมซามิน ย้ำด้วยว่า รัฐบาลมาเลเซียมีความจริงใจในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น และแน่นอนมาเลเซียไม่ปฏิเสธว่าเราได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือไทย เพราะภาคใต้ของไทยติดกับมาเลเซีย หากภาคใต้ไปอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่น่ามีปัญหากับมาเลเซีย และที่ผ่านมาหากคนมุสลิมไทยมีปัญหา ก็จะหนีเข้ามาเลเซีย ทำให้มาเลเซียมีปัญหาไปด้วย ฉะนั้นมาเลเซียจึงมีสิทธิในการร่วมแก้ไขปัญหานี้และดูแลประเทศเพื่อนบ้าน
อนึ่ง กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งเป็นการพูดคุยแบบเปิดเผย ไม่ใช่พูดคุยลับนั้น มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดย นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ดาโต๊ะซัมซามิน ซึ่งมีประสบการณ์ในการเจรจายุติปัญหาความขัดแย้งและความพยายามแบ่งแยกดินแดนของฟิลิปปินส์ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก
การพูดคุยสันติภาพเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อวันที่ 28 ก.พ.56 มีการลงนามริเริ่มกระบวนการระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ท่ามกลางกระแสข่าวมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอยู่เบื้องหลังขอร้องให้รัฐบาลมาเลเซียช่วยเหลือ ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นไม่เต็มใจเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย โดยเฉพาะนายฮัสซันถูกบังคับจากหน่วยงานความมั่นคงมาเลเซีย
การพูดคุยอย่างเป็นทางการ หากไม่นับวันที่ 28 ก.พ.56 ซึ่งเป็นวันลงนาม มีการนัดพบปะพูดคุยกันที่กัวลาลัมเปอร์ 3 ครั้ง แต่ไม่มีข้อตกลงใดเป็นรูปธรรม หลังจากพบปะกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 มิ.ย.56 บรรยากาศการพูดคุยค่อนข้างตึงเครียดจากข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยให้พยายามลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ให้ได้เสียก่อน ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยื่นข้อเรียกร้องกลับมา 5 ข้อ พร้อมเงื่อนไขให้นำข้อเรียกร้องเข้ารับทราบในรัฐสภา และให้รัฐบาลไทยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ กระทั่งฝ่ายไทยมีปัญหาการเมืองภายใน ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไป จนหลายฝ่ายเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยน่าจะล้มแล้ว เพราะบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์เมื่อต้นเดือน ธ.ค.56 แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าไม่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี ดาโต๊ะซัมซามิน มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยกลางสัปดาห์หน้านี้ (25-28 ก.พ.) เพื่อพบปะสื่อมวลชนไทยที่ จ.เชียงใหม่ และขึ้นเวทีเสวนาหัวข้อ 1 ปีกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ดาโต๊ะซัมซามิน (เสื้อสีชมพู) ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจากชายแดนใต้ที่โรงแรมในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
อ่านประกอบ : "ดาโต๊ะซัมซามิน"นัดคุยสื่อไทย เดินเจรจา"บีอาร์เอ็น-พูโล"