สมช.เร่งปั่น"นโยบายดับไฟใต้"ฉบับใหม่ คาดสานต่อ"พูดคุย"กลุ่มเห็นต่างรัฐ
สมช.เร่งจัดทำนโยบายดับไฟใต้ฉบับใหม่ หลังนโยบายที่ใช้อยู่ปัจจุบันจะหมดอายุในปีนี้ คาดสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ "ภราดร" ปัดรัฐบาลละเลยปัญหา อ้างมอบฝ่ายความมั่นคงดูแลอยู่ ยืนกรานไม่เลิกคุยบีอาร์เอ็น
สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เร่งจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ เนื่องจากฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน คือ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 นั้น จะสิ้นอายุในปีนี้
นโยบายดังกล่าวจัดเป็นนโยบายประเภท 3 ปี เป็นไปตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ที่กำหนดให้ สมช.จัดทำนโยบายฯเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้ ครม.นำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 จัดเป็นนโยบายฉบับแรกที่เป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประเทศไทยต้องเผชิญมาตั้งแต่ปี 2547 โดยกฎหมายได้กำหนดให้ สมช.เสนอแนะต่อ ครม.เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงนโยบายฯ ทุกรอบระยะเวลา 3 ปี จึงต้องมีการจัดทำนโยบายฉบับใหม่ในปีนี้
พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กำหนดให้นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีสาระสำคัญครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง และเพื่อให้ได้นโยบายที่มาจากความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง กฎหมายได้กำหนดให้ต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนไปใช้ในการจัดทำ ทบทวนย หรือปรับปรุงนโยบายทุกๆ 3 ปี
พร้อมกันนี้ต้องให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาให้ความเห็นต่อนโยบายดังกล่าว โดย สมช.ต้องนำความเห็นนั้นมาประกอบการพิจารณาจัดทำหรือปรับปรุงนโยบายด้วย
เมื่อได้นโยบายออกมาแล้ว ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะต้องไปจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบาย เช่นเดียวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ต้องไปจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้สอดคล้องเช่นกัน
นโยบายดับไฟใต้กับ3เงื่อนไขความรุนแรง
สำหรับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ตอนหนึ่งได้ระบุถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งระดับบุคคล โครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม กล่าวคือ เงื่อนไขระดับบุคคล ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนแรก การใช้อำนาจการปกครองและการบริหารราชการโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับความละเอียดอ่อนของอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ สิทธิประชาชน และการใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต
ส่วนที่สอง การใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มบุคคลที่มีความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างจากรัฐ
ส่วนที่สาม การใช้ความรุนแรงอันมีมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล อำนาจมืด และธุรกิจผิดกฎหมาย
ส่วนที่สี่ การใช้ความรุนแรงอันมีเหตุความแค้นจากอารมณ์ของความเกลียดชัง และความแค้นจากเรื่องส่วนตัว
ขณะที่ เงื่อนไขระดับโครงสร้าง คือ โครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการ ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจแล้วก็ตาม แต่การสนองตอบกับลักษณะทางอัตลักษณ์ ความต้องการและความคาดหวังของประชาชน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกหลายประการเป็นข้อจำกัด นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง
ส่วนเงื่อนไขระดับวัฒนธรรม คือ ประชาชนมุสลิมมลายูในพื้นที่รู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากมีการรับรู้และสัมผัสได้ว่าอัตลักษณ์ของตนถูกกดทับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ไม่เข้าใจ หวาดระแวง และมีอคติ รวมถึงการไม่ยอมรับจากสังคมใหญ่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในพื้นที่บางส่วนยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์มุสลิมมลายู
จับตาสานต่อ"พูดคุยสันติภาพ"
นโยบายยังระบุวัตถุประสงค์เอาไว้ 9 ข้อ ได้แก่ 1.เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยและปกติสุขภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" 2.เพื่อขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงและเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย 3.เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญปัญหาร่วมกัน
4.เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมในทุกระดับ ตรงกับความต้องการ ไม่ทำลายอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนมีผลต่อการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง 5.เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม 6.เพื่อให้สังคมไทยเกิดการรับรู้ มีความเข้าใจในสถานการณ็ที่เป็ นจริงและตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
7.เพื่อให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา 8.เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ และ 9.เพื่อให้การดำเนินนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน
ทั้งนี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าก้าวหน้าที่สุดในนโยบายฯ คือ ข้อ 8 เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยเปิดช่องทางให้มีการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างเป็นทางการ โดยระบุวิธีการไว้ 2 ประการ เพื่อแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คือ
1.ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
2.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
แหล่งข่าวจาก สมช. กล่าวว่า นโยบายที่กำลังจัดทำขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นแผนงาน 3 ปีนั้น จะต่อยอดจากนโยบายปี 2555-2557 โดยจะมีการสานต่อเรื่องการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วย
"ภราดร"อ้างเจรจาบีอาร์เอ็นยังเดินต่อ
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลไม่สนใจปัญหาชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่เกิดเหตุรุนแรงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะมัวแต่สนใจปัญหาการเมืองในส่วนกลางว่า จริงๆ แล้วได้มีการแยกแยะหน้าที่อย่างชัดเจนให้หน่วยงานความมั่นคงดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนเป้าหมายความรุนแรงที่เปลี่ยนไปเป็นโรงเรียนและเด็กนั้น ก็ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ยืนยันว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นให้กับประชาชน
ส่วนการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยุติไปชั่วคราวนั้น พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ยังคงดำเนินต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพตัดจากหน้าเพจของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ