ผู้ส่งออกชี้ 2 ปีรบ.ปูเดินหลงทาง พลาดตั้งราคาผิด สุดท้ายขายข้าวไม่ออก
“ธีรยุทธ บุญมี” ชี้จำนำข้าวเพียงเรื่องเดียว ก็เพียงพอต่อการทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศแล้ว หม่อมอุ๋ย ตั้งคำถามรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชาวนา 2 เดือนก่อนยุบสภา มีเวลา ทำไมไม่หา ฉะวันนี้เอาแต่หลอกตัวเองไปเรื่อย โกหกสีขาวโทษประชาชน
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติของประชาชนไทย จัดเวที Restart ประเทศไทยครั้งที่ 2 เรื่อง “จากทุกข์ของชาวนาไทย...สู่การปฏิรูปประเทศ” ณ ห้องประชุมกิ่งเพชร ชั้น 3 โรงแรมเอเชีย โดยมีนายธีรยุทธ บุญมี ประธานกรรมการเครือข่ายฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงปัญหาการจำนำข้าว แค่เพียงเรื่องเดียวก็เพียงพอต่อการทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย
จากนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ฤดูกาลผลิต 2554/2555 รัฐบาลรับจำนำข้าวทั้งหมด 21-22 ล้านตัน ใช้เงินไป 3.38 แสนล้านบาท และในฤดูกาลผลิต 2555/2556 รับจำนำข้าวทั้งหมด 22.4 ล้านตัน ใช้เงินไป 3.4 แสนล้านบาท ขณะที่ฤดูกาลผลิต 2556/2557 รัฐบาลมีความตั้งใจใช้เงินพียง 2.7 แสนล้านบาท หรือรับจำนำ 18 ล้านตัน รวมถึงมีการประกาศให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกพันธบัตรขายโดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน 1.4 แสนล้านตั้งแต่ตุลาคม 2556 และอีก 1.3 แสนล้านให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าว
“ถามว่า ตลอดเดือนตุลาคม และธันวาคม 2556 ไม่มีการหาเงิน กระทรวงการคลังไม่ได้ให้ธ.ก.ส.ออกพันธบัตร ปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวอย่างเดียว และพอไม่มีเงินจะจ่ายชาวนา ก็หลอกตัวเองไปเรื่อยๆ”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงการไม่มีเงินจ่ายชาวนาที่เข้าโครงการจำนำข้าวนั้น ถือเป็นความบกพร่องโดยแท้ของรัฐบาลเองที่ไม่ได้หาเงินในเวลาที่หาได้ แล้วมาโทษประชาชน
“ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ การขายข้าวในเวลา 2-3 เดือนจากนี้ ให้ได้เงิน 2 หมื่นล้านบาทยังสามารถทำได้ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่สามารถทำได้เลย แต่หากรัฐบาลออกไป ปัญหาจะแก้ได้ตั้งแต่วันแรกเลย” อดีตรมว.คลัง กล่าว พร้อมเสนอให้รัฐบาลเจรจากับชาวนา ซึ่งทำเหมือนในฤดูกาลที่แล้วในเดือนตุลาคมที่ยังมีข้าวเหลืออยู่ ไปช่วยในเรื่องปัจจัยการผลิตแทน ข้อดีประการแรกเงินที่รัฐบาลมีอยู่อย่างจำกัดจะกระจายไปให้ชาวนาได้อย่างทั่วถึง และประการที่สอง คือ ธุรกิจการค้าข้าวในมือเอกชนจะเริ่มกลับมาทันที
อดีต รมว.คลัง กล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรทั้งหมดอย่างยั่งยืนนั้น คือต้องสร้างราคาตลาดของพืชเกษตรให้ราคาขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยการทำให้พืชแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มได้มากกว่า 1-2 อย่าง เช่น มันสำปะหลัง ในการผลิตเอทอนอล รวมถึงสอนชาวนาว่า นอกจากข้าวแล้วยังต้องปลูกอย่างอื่นด้วย รวมทั้งต้องเลิกวิธีจำนำข้าว
ด้านดร.อภิชัย พันธเสน ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาภาคกลางและภาคอีสานราว 85% ยังเช่านาปลูกข้าว จึงทำให้การปฏิรูปตามแนวคิดของศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ยากจะทำได้สำเร็จ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องให้ชาวนามีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและค้ำจุนตัวเองได้ มีความสุขภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการจะเดินไปถึงจุดนั้นได้ ต้องไม่ให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดและต้องปรับปรุงคุณภาพของการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนจะปฏิรูปให้ชาวนามีที่ดินทำกินของตนเองอย่างไรนั้น ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท กล่าวว่า ต้องกระจายการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ แต่หากจะให้ได้ผลต้องมีการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าด้วย โดยเก็บจากผู้ที่มีพื้นที่ทำกินมากเกินความจำเป็น ซึ่งเงินภาษีเหล่านี้อาจนำมาใช้ในการจัดตั้งธนาคารที่ดินในอนาคตสำหรับการจัดซื้อที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้ชาวนา นอกจากนี้การออกโฉนดชุมชนเป็นอีกวิธีหนึ่งด้วย
“การจัดตั้งธนาคารที่ดินและการออกโฉนดชุมชน สามารถจะดำเนินการได้เลย ส่วนการกระจายการถือครองที่ดินและการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ”
ศ.ดร.อภิชัย กล่าวถึงปัญหาใหญ่ปัจจุบันนี้ คือ ชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ นอกจากการปลูกข้าวที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี จ้างแรงงาน ซึ่งสาเหตุที่ชาวนาต้องทำอย่างนี้ เพราะข้าวในนาถือเป็นทรัพย์สินชิ้นเดียวที่ชาวนามี เพื่อไปขอกู้เงินจากธ.ก.ส. มาใช้ผลิตและกินอยู่ เพราะฉะนั้นการที่ชาวนาไม่ได้เงินประกันข้าว จึงมีปัญหามาก
“เงื่อนไขการเช่าที่นาเช่นนี้ทำให้ชาวนาทำเกษตรกรรมแบบอื่นไม่ได้ ปรับปรุงดินไม่ได้ จัดรูปที่ดินใหม่ไม่ได้ ต้องปลูกข้าวโดยสารเคมีและต้องจ้างแรงงานอย่างเดียว ส่วนชาวนาที่รอดตัวอยู่ได้ ส่วนหนึ่งไม่ได้มีอาชีพจากเกษตรกรรมอย่างเดียว จะต้องมีรายได้อื่นด้วย”
ฉะนั้นศ.ดร.อภิชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดจะต้อง ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ โดยการประกันรายได้ต้องเป็นไปตามขนาดของพื้นที่นา สำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินของตนเอง ยังต้องสนับสนุนเป็นลักษณะขั้นบันได คือ ประกันรายได้ขั้นต่ำ ได้แก่ ที่ดิน 1-5 ไร่ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 1.2 แสนบาท/ปี, ที่ดิน 6-10 ไร่ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 1.5 แสนบาท /ปี, ที่ดิน 11-15 ไร่ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 1.8 แสนบาท/ปี และที่ดิน 16-20 ไร่ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 2.4 แสนบาท/ปี
หากเกษตรกรมีที่ดินมากเกินไป ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท กล่าวว่า ต้องช่วยเหลือเกี่ยวกับเทคนิคการผลิตและด้านวิชาการ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในปีแรกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาได้ระยะยาว สำหรับปีต่อไปการช่วยเหลือจะค่อย ๆ ลดลงไป
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.อภิชัย กล่าวถึงแนวคิดของนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธ.ก.ส. ที่เสนอให้แบ่งผลประโยชน์ 3 ฝ่าย เหมือนกับอ้อย โดยผลประโยชน์เป็นของชาวนา 75% โรงสี 20% และผู้ส่งออก 5% หากเป็นเช่นนี้ได้จะทำให้ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก รักกันมากขึ้น
ในมุมมองผู้ส่งออก นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สังคมไทยยังเข้าในผิดเรื่องราคา ใครๆ ก็บอก “ราคาดี ถึงจะทำให้มีรายได้ดี” แต่จากประสบการณ์การส่งออก ถือว่า ราคาดีที่ยังขายได้ถือว่าดีที่สุดแล้ว ถ้าสูงกว่านั้น เป็นราคาดีเกินไป ที่ขายไม่ได้
“การที่รัฐบาลรับจำนำข้าว 15,000 บาทถามเกษตรกรก็ย่อมพอใจ เพราะก่อนจะมีการรับจำนำพ่อค้าให้โดยเฉลี่ย 9,500 บาท แต่รัฐบาลไม่เคยอธิบาย 15,000บาท ทำได้ไม่นาน และขายได้น้อย ตรงนี้ที่ไม่มีการบอก ประชาชนไม่เข้าใจคิดอย่างเดียวได้ราคาจะทำให้รายได้ดี คิดเอาเอง แล้วผลออกมาเป็นอย่างไร 2 ปี ที่ผ่านมา ปีแรกไทยขายข้าวลดลง 35% ปีที่สองยิ่งลดลงต่อ ถามว่า รายได้ลดหรือขึ้น”
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวต่อว่า รัฐบาลรับซื้อข้าว 15,000 บาท ถือว่าราคาสูงจนขายออกไม่ได้เลย หรือขายได้น้อย ฉะนั้นก่อนการปฏิรูปเกษตรกร พื้นฐานเรื่องราคาต้องฟังไม่เช้าใจ เพื่อไม่ให้หลงทาง
“หน้าที่พ่อค้าซึ่งเป็นคนกลาง คือการระบายสินค้าให้เกษตรกร ระบายให้หมดไม่ว่าผลิตออกมาเท่าไหร่ ในราคาที่สูงที่สุดที่ผู้ซื้อยอมซื้อ หากเข้าใจก็จะไม่มีการชี้หน้าพ่อค้าว่า เป็นต้นเหตุให้เกษตรกรยากจน เนื่องจากเรารู้ว่า การขายสูงเกินไปไม่ได้ แต่เรามีหน้าที่ขายให้สูงที่สุดที่ยังขายได้” นายวิชัย กล่าว และว่า ที่หลงทางกันทั้งประเทศ 2 ปี คือการตั้งราคาเดียวข้าวเปลือก 15,000 บาท โดยไม่ดูตลาดโลก จึงถือเป็นการผลิตพลาดในเรื่องการตั้งราคาสูงเกินไป
พร้อมกันนี้ นายวิชัย ยังยืนยันด้วยว่า จากการทำธุรกิจส่งออก พ่อค้าไม่ได้ตั้งราคาถูกเกินไป ซึ่งวัดได้จากอุตสาหกรรมข้าวไทยดีขึ้นๆ ทุกปี ส่งออกมากขึ้น และเกษตรกรก็พอใจปลูกข้าวกันมากขึ้นทุกปี แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์แค่เวลา 2 ปี ใช้เงิน 7.8 แสนล้าน โดยให้ราคารับจำนำสูงเกิน ขายข้าวไม่ออก จนในที่สุดไม่มีเงินทำโครงการต่อ
“การจะปฏิรูปให้อุตสาหกรรมข้าวฟื้นกลับมา ก็อย่าทำชั่วอย่างที่เห็นอีก ทำตามรัฐธรรมนูญ จากนี้ไปเรื่องค้าขายปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง ผูกขาดไม่ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน”
บทความที่เกี่ยวข้อง:‘ประเวศ วะสี’:แก้ปัญหาชาวนาทั้งระบบครบวงจรกับการปฏิรูปประเทศ