‘ประเวศ วะสี’:แก้ปัญหาชาวนาทั้งระบบครบวงจรกับการปฏิรูปประเทศ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศไทยโดยสันติของประชาชนไทย จัดเวทีรีสตาร์ท ประเทศไทย ครั้งที่ 2 เรื่อง จากทุกข์ของชาวนาไทย...สู่การปฏิรูปประเทศ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เผยเเพร่บทปาฐกถาพิเศษ 'เเก้ปัญหาชาวนาเชิงระบบครบวงจรกับการปฏิรูปประเทศไทย' ใจความว่า...
1. วิกฤตชาวนาคือวิกฤตประเทศ การขาดความเป็นธรรมที่มีต่อชาวนาเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน และเป็นพื้นฐานของปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้ประเทศอ่อนแอและวิกฤต พระองค์เจ้าดิลกฯ พระราชโอรสองค์หนึ่งของ ร.5 เสด็จไปศึกษาในยุโรปตั้งแต่พระชนมายุ 13 อยู่ในยุโรป 10 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากประเทศเยอรมนี วิทยานิพนธ์เป็นเรื่องเศรษฐกิจชาวนาไทย ทรงเห็นใจชาวนาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่มีใครเข้าใจพระองค์ท่าน กลับมาทรงรับราชการอยู่ 10 ปี ก็สิ้นพระชนม์ด้วยทรงฆ่าตัวตาย
การพัฒนาสมัยใหม่ไม่เป็นธรรมกับชาวนา ผมเคยได้ยินข้าราชการคุยกันเรื่องปิดบังข้อมูลไม่ให้ชาวนารู้เส้นทางที่จะตัดถนนผ่านเพื่อจะดักซื้อที่ชาวนาด้วยราคาถูก ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ การที่รัฐไปเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรม จากการเกษตรเพื่อชีวิตหรือเกษตรยั่งยืน เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อประโยชน์ของการตลาดที่ทำให้ชาวนาทั้งประเทศตกอยู่ในฐานะขายถูกซื้อแพง ล้มละลายทางเศรษฐกิจ เป็นหนี้เป็นสิน ต้องขายวัวขายควายขายที่และขายสมบัติชิ้นสุดท้าย คือขายลูกสาวไปเป็นโสเภณีในเมือง นี่คือโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับชาวนาไทยทั้งประเทศ ที่เป็นพื้นฐานของปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาคนจนเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมต่าง ๆ
นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทุกรัฐบาลไม่สามารถช่วยชาวนาได้จริง อาจช่วยตามอาการเล็ก ๆ น้อยแบบกินยาพาราเซตามอล แต่เพื่อหาเสียงให้รัฐบาลและเป็นหนทางหาผลประโยชน์ รวมทั้งหมุนเงินผ่านชาวนากลับไปสู่พ่อค้าคนกลาง โครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่างที่นำความเดือดร้อนมาสู่ทุกฝ่าย
2. เกษตรกร – ฐานของประเทศ – ฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วง “หลงผิด” มีการพูดว่าการเกษตรจะมีความสำคัญน้อยลง ๆ กาลล่วงมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้นำโลกไปสู่การเสียความสมดุลอย่างรุนแรงและความไม่ยั่งยืน เกิดความเหลื่อมล้ำสุด ๆ ที่เรียกว่า “ปรากฎการณ์ 99 : 1” คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คน 99 เปอร์เซ็นต์เสียเปรียบ ชาวนาก็อยู่ในพวก 99 ความเหลื่อมล้ำที่มากมายเกินไปนี้ทำให้เสียสมดุลทางอำนาจ ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางการเมือง อย่างแก้ไขไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจบริโภคนิยมได้นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และสภาวะโลกร้อน ซึ่งก่อให้เกิดหายนะภัยต่าง ๆ รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เช่น พายุรุนแรง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นสึนามิ การผลิตอาหารจะทำได้น้อยลง โรคระบาดจะมากขึ้น รวมแล้วจะทำให้คนตายเป็นพันล้านคน นั้นคือสภาพวิกฤตและความไม่ยั่งยืน วิกฤตอาหาร จะเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตโลก
ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องการผลิตอาหาร ควรจะรักษาตรงนี้ไว้ให้ได้ ฉะนั้น ความเข้มแข็ง และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรกรเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคงและยั่งยืน ความยั่งยืนของสังคมเกษตรกรคือความยั่งยืนของสังคมทั้งหมด
3. ปฏิรูปประเทศไทย – ปฏิรูประบบชีวิตชาวนาไทย จากวิกฤตสุด ๆ ประเทศไทย คนไทยทุกภาคส่วนได้ตระหนักร่วมกันว่าประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ หรือที่เรียกว่า ปฏิรูปประเทศไทย การปฏิรูปประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้มีความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมใหญ่อย่างหนึ่ง คือความไม่เป็นธรรมกับระบบชาวนาไทย ไม่มีใครไม่อยากเห็นชีวิตชาวนาไทยดีขึ้น แต่ความพยายามที่แล้วมาไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะระบบชาวนามีหลายมิติที่ซับซ้อนและยาก การแก้ไขที่ไม่สำเร็จเพราะเป็นการแตะโน่นนิดนี่หน่อยไม่ได้แก้ทั้งระบบ ในโอกาสที่คนไทยเห็นร่วมกันว่าต้องปฏิรูปประเทศไทย ควรต้องมุ่งมั่นร่วมกันว่าจะปฏิรูประบบชาวนาทั้งระบบให้ได้ ให้สังคมชาวนามีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน ไหน ๆ ทุกฝ่ายก็ประกาศว่าต้องการปฏิรูปประเทศไทย รูปธรรมอย่างหนึ่งคือ ร่วมปฏิรูประบบชาวนาไทย และควรจะเป็นจุดที่ร่วมกันได้ว่าทุกฝ่ายรักชาวนาไทย ต้องการเห็นชีวิตชาวนาไทยดีขึ้น มีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะปฏิรูประบบชาวนาไทย การร่วมกันทำงานในเรื่องนี้จะทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเรื่องอื่นๆ เพื่อประเทศไทยอีกต่อไป
4. หลักการ – พัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง – เอากรมเป็นตัวตั้งไม่ได้ สังคมชาวนาหรือสังคมชนบทจะมีศานติสุขและยั่งยืน ต่อเมื่อมีการพัฒนาอย่างบูรณาการและสมดุล ซึ่งเกิดขึ้นไม่ได้เพราะประเทศไทยพัฒนาแบบแยกส่วน โดยรวมอำนาจการปกครองและใช้กรมเป็นเครื่องมือ การพัฒนาโดยเอากรมเป็นตัวตั้งบูรณาการไม่ได้ เพราะกรมทำงานแบบแยกส่วนเป็นเรื่องๆ เช่น กรมดิน กรมน้ำ กรมต้นไม้ กรมข้าว ฯลฯ
จะต้องปฏิรูปการปกครองโดยคืนอำนาจไปให้ประชาชนปกครองตัวเองในรูปชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเองเมื่อชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการพัฒนาอย่างบูรณาการ และจัดการพัฒนานโยบายสังคมชนบทหรือสังคมชาวนา จึงจะมั่นคงยั่งยืน นี่เป็นหลักการ
5. แนวทาง ต่อไปนี้เป็นแนวทาง 5 ประการที่ทำให้ระบบชีวิตชาวนาดีขึ้น
(1) สังคมชาวนาเข้มแข็ง ชาวนาต้องรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ เป็นสังคมเข้มแข็ง มีการจัดการ มีพลังร่วม มีปัญญาร่วม ในแต่ละหมู่บ้านทั้ง 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีสภาผู้นำชุมชน และสภาประชาชน เป็นเครื่องมือ รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ เพื่อพัฒนาอย่างบูรณาการ และเจรจาต่อรองนโยบายระหว่างหมู่บ้าน มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น เครือข่ายชาวนาที่มีข้อมูล คิดเป็นทำเป็น จัดการเป็น มีอำนาจต่อรองทางการเมือง จะเป็นพลังสำคัญที่สุดที่จะปฏิรูปชีวิตชาวนา และปฏิรูปประเทศไทย
(2) ใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง – เกษตรยั่งยืน – การพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรับวิถีการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งทำให้เสียสมดุลหมดทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจทำให้เป็นหนี้สิน สิ่งแวดล้อมเสียสมดุล ชีวิตเสียสมดุล ไปเป็นเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเกษตรยั่งยืน ที่ทำให้ชีวิตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คืนกลับสู่สมดุล และเติบโตขึ้นบนความสมดุล ถ้าฐานสมดุลแล้วก็สามารถต่อยอดขึ้นไปได้เรื่อยๆ ด้วยความระมัดระวัง
(3) การจัดสรรการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิต ประชาชนมีสิทธิที่จะมีชีวิต จึงมีสิทธิที่จะใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รัฐได้ริบเอาสิทธิในการจัดการทรัพยากรไปเป็นของรัฐ แต่ไม่สามารถจัดการการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ทำให้เกิด ทุรยุค ต้องคืนอำนาจการจัดการการใช้ทรัพยากรไปให้ชุมชนจัดการเอง ชุมชนสามารถจัดการให้ทุกครอบครัวมีที่ทำกิน
เมื่อทุกครอบครัวมีที่ทำกิน และทำเกษตรยั่งยืน ตามข้อ (2) จะหายจนอย่างถาวรและมีความมั่นคงในชีวิต ทุกครอบครัวสามารถมี สระน้ำประจำครอบครัว ทั่วประเทศจะเก็บน้ำได้มหาศาล ป้องกันน้ำท่วม ไม่ต้องสร้างเขื่อนให้ต้องทะเลาะกัน เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรอย่างทั่วถึงทุกครอบครัว มากกว่าระบบชลประทานมหภาค เมื่อทุกครอบครัวมีที่ดินมีสระน้ำก็จะปลูกต้นไม้ ความเป็นป่าก็จะกลับคืนมา ความสมดุลทางธรรมชาติก็จะกลับคืนมา ป้องกันน้ำท่วมและป้องกันความแห้งแล้ง
(4) มีสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบลทุกตำบล นอกเหนือไปจากกองทุนขนาดเล็กต่างๆในชุมชน ควรมีสถาบันการเงินของชุมชนระดับตำบลที่ชุมชนจัดการตนเอง เพื่อการออม การนำไปลงทุน และเพื่อสวัสดิการชุมชน ถ้าจัดการได้ดีแต่ละสถาบันอาจมีเงินถึง 100 กว่าล้าน และเป็นเครื่องมือการจัดการ การเรียนรู้และอาชีพที่ทรงพลังของชุมชน นี้ก็คือ ธนาคารของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งของชุมชนจัดการตนเอง
(5) จัดการความสัมพันธ์กับภายนอกให้ได้สมดุล ชุมชนต้องสามารถจัดการแสวงหาความสนับสนุนที่เหมาะสม คือที่จะทำให้ชุมชนแข็งแรงขึ้นไม่ใช่อ่อนแอลง เช่น ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เทคโนโลยี นโยบาย การเงิน การศึกษา การจัดการ การสื่อสาร การตลาด ฯลฯ และป้องกันปัจจัยต่าง ๆ จากภายนอกที่จะเข้ามาทำลายบูรณาภาพและดุลยภาพของชุมชน
6. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะนี้ชาวนากำลังเดือดร้อน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวที่ชาวนานำมาจำนำไว้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควรทำหลายอย่าง และเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาเชิงระบบที่กล่าวข้างต้น เช่น
(1) ลดความเครียด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศระดมกันไปดูแลลดความเครียด ป้องกันการฆ่าตัวตาย ชี้แจงว่าชีวิตไม่หมดหวัง ปฏิรูปประเทศไทยแล้วชาวนาจะดีขึ้น
(2) ส่งเสริมการรวมตัวของชาวนา รัฐบาลไม่ควรรังเกียจหรือขัดขวาง แต่ควรส่งเสริมเพราะการรวมตัวกันจะทำให้สังคมชาวนาเข้มแข็งเพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ การรวมตัวอาจเพื่อการปรับทุกข์ การเรียนรู้ การเรียกร้องจากรัฐบาล รัฐบาลควรส่งเสริมให้ชาวนาได้ใช้ช่องทางสื่อสารมวลชนของรัฐเพื่อการนี้
(3) รัฐบาลขายข้าวที่รับจำนำไว้แล้วนำเงินมาใช้หนี้ชาวนา และวิธีอื่นใด
(4) สำหรับชาวนาที่เดือดร้อนถึงขั้นไม่มีจะกิน ควรระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรการกุศล องค์กรการพัฒนา องค์กรของรัฐ ผ่านกองทุนชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
(5) ระดมนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครไปรับฟังความทุกข์ยากของชาวนา และหาทางช่วยเหลือ จะเป็นการยกระดับจิตใจและการเรียนรู้ของเยาวชนครั้งใหญ่
ถ้าคนไทยทุกภาคส่วนถือวิกฤตชาวนาไทย เป็นโอกาสที่จะร่วมมือกันทั้งประเทศ เพื่อเห็นใจ เข้าใจ และแก้ไขปัญหาชาวนาไทยเชิงระบบครบวงจร ประเทศไทยจะเปลี่ยน และเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ คนไทยจะรักกันมากขึ้น .
ภาพประกอบ:http://ppvoice.thainhf.org/