อดีตบีอาร์เอ็นไขปม "สงครามผี" ยุทธวิธีเอาชนะ จนท.รัฐ
เหตุคนร้ายกราดยิงเข้าใส่กลุ่มชาวบ้านที่กำลังตักบาตรในพื้นที่บ้านใหม่ ต.แม่ลาน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อเช้าตรู่วันพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ.57 ทำให้มีพระมรณภาพ 1 รูป และชาวบ้านรวมทั้งเด็กเสียชีวิต 3 ราย (คู่หนึ่งเป็นแม่ลูกกัน) ทั้งยังมีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 6 รายรวมทั้งตำรวจชุดคุ้มครองพระด้วยนั้น มีข้อสังเกตที่สามารถหยิบมาวิเคราะห์โยงถึงสถานการณ์ไฟใต้ในภาพใหญ่ และยุทธวิธีของกลุ่มก่อความไม่สงบได้อย่างน่าสนใจ
ประเด็นที่ 1 การเลือกวันก่อเหตุยังคงความอ่อนไหวและแหลมคม ส่งผลต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่และสังคมไทยในอีก 74 จังหวัดที่เหลือ เพราะวันที่ 13 ก.พ.57 เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อความไม่สงบ 16 คนพร้อมอาวุธครบมือ ขณะเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการบ้านยือลอของนาวิกโยธินที่ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตคือ นายมะรอโซ จันทรวดี แกนนำระดับปฏิบัติการในพื้นที่บาเจาะ จนนำมาสู่การสร้างกระแสฮีโร่ในหมู่วัยรุ่นและเยาวชนชายแดนใต้ในเวลาต่อมา
นอกจากนั้นวันที่ 13 ก.พ.ยังเป็นวันก่อนวันพระใหญ่ คือ วันมาฆบูชา เพียง 1 วัน ซึ่งกลุ่มก่อความไม่สงบมักเลือกก่อเหตุรุนแรงเพื่อตอกลิ่มความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิมในพื้นที่อยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น เหตุกราดยิงขณะตักบาตรยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่มีการสร้างกระแสก่อเหตุรุนแรงล้างแค้นเหตุการณ์ฆ่าเด็กชายสามพี่น้องที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้มีเหตุฆ่าและจุดไฟเผาศพซ้ำ 2 เหตุการณ์ใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เหยื่อเป็นทหารหญิงภรรยาตำรวจ สภ.ราตาปันยัง และพนักงานสาวธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยถนนหนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมีการทิ้งใบปลิวไว้ทั้ง 2 เหตุการณ์ทำนองว่าเป็นการล้างแค้นเหตุฆ่าเด็กชายสามพี่น้องซึ่งมีการกระพือข่าวมาตลอดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่
สรุปก็คือ การก่อเหตุและเลือกวันลงมือของคนร้ายยังคงสร้างสัญลักษณ์และความเชื่อมโยงไปยังเหตุการณ์อื่นๆ ที่ล้วนเป็นประโยชน์กับกลุ่มผู้ก่อการ ทั้งในแง่ของการตอบโต้เอาคืนทางยุทธวิธี การสร้างความหวาดระแวงเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ และการสร้างกระแสป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ
ประเด็นที่ 2 การก่อเหตุที่ก่อความสูญเสียให้กับพระและเด็ก แม้จะถูกก่นด่าประณามจากคนนอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่สำหรับในพื้นที่แล้วกลุ่มผู้ก่อการถือว่ามีความชอบธรรม เพราะเป็นการก่อเหตุในช่วงที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์สังหารเด็กสามพี่น้อง และเป็นวาระ 1 ปีของเหตุวิสามัญฆาตกรรม 16 ศพ
กรณี 16 ศพและนายมะรอโซนั้น ได้ถูกสร้างข่าวขยายความไปมาก โดยเฉพาะสาเหตุที่คนเหล่านั้นต้องลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐด้วยอาวุธ เพราะเจ็บแค้นหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค.2547 มีผู้เสียชีวิต 85 คน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว คนเหล่านี้จึงเป็น "ฮีโร่" หรือตัวแทนของคนในพื้นที่ในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม (ที่ก่อขึ้นโดยรัฐ)
ส่วนเหตุสังหารเด็กชายสามพี่น้องครอบครัว "มะมัน" (บิดาคือ นายเจะมุ มะมัน กับมารดาคือ นางพาดิละห์ แมยู รอดชีวิต) มีการปล่อยข่าวตั้งแต่หลังเกิดเหตุทันทีว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่พ่อของเด็ก คือ นายเจะมุ มะมัน ก็ให้สัมภาษณ์กลับไปกลับมา ซ้ำตัวเองยังเกี่ยวข้องกับคดีฆ่าผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งใน ต.ไทรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เมื่อปีที่แล้ว และศาลเพิ่งยกฟ้องคดีความมั่นคงอีกคดีหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้
หน่วยงานรัฐทั้งตำรวจ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พยายามชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกี่ยว แต่แทบไม่มีคนในพื้นที่เชื่อเลย...คำถามคือทำไมถึงเกิดบรรยากาศเช่นนี้ขึ้นได้?
อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นรายหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันหันหลังให้ขบวนการแล้ว แต่ไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐ และเป็นแกนนำรุ่นไล่ๆ กับ นายฮัสซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ตลอด 10 ปีที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ คนที่อยู่นอกพื้นที่มีส่วนสำคัญในการสั่งการให้ก่อเหตุรุนแรง โดยเป็นการสั่งผ่านแกนนำฝ่ายต่างๆ ระดับต่างๆ เป็นขั้นๆ ไป เป็นการทำงานสอดประสานกันระหว่างคนที่อยู่นอกประเทศกับในประเทศ
"ในส่วนของการปฏิบัติการ กลุ่มขบวนการจะมียุทธการสำคัญคือไม่ปรากฏตัว จะปฏิบัติการเสมือนผี ในพื้นที่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ไม่เคยเห็นคนก่อเหตุ เหมือนเจอมูล แต่ไม่เจอตัวคนถ่ายทิ้งไว้ นี่คือสงครามผีซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมาคิดว่ารัฐไทยแทบไม่ได้เรียนรู้ประสบการณ์อะไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเลย เพราะรัฐไม่เคยมองว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาเร่งด่วน แต่กลับมองเรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" อดีตแกนนำรายนี้กล่าว
"สงครามผี" เกิดมานาน 10 ปี แต่ก่อนสงครามผี มีการเตรียมการมาก่อนหน้านั้นหลายสิบปีเพื่อบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐผ่านการบอกเล่าประวัติศาสตร์ในมุมใหม่ ผ่านเรื่องเล่า นิทาน เพลงกล่อมเด็ก ไปจนถึงการสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเชื่อสะสม
เช่น ครูคนหนึ่งสอนหนังสือเด็กๆ ในโรงเรียนตาดีกา นำแอปเปิ้ลมาฝากเด็กๆ ทุกวัน เด็กก็ชอบ เพราะอร่อยและหากินยาก อยู่มาวันหนึ่งครูไม่ได้นำแอปเปิ้ลมาฝาก ทำให้เด็กๆ ผิดหวัง เมื่อสอบถามสาเหตุ ครูก็บอกว่าระหว่างทางเจอด่านของทหาร ถูกทหารแย่งแอปเปิ้ลไปหมด ทำให้เด็กๆ มีความรู้สึกไม่ดีกับทหาร
ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่าง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า บอกว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมามีการสร้างสถานการณ์หรือเรื่องเล่าแบบนี้เป็นร้อยๆ เรื่อง
นี่คือต้นเหตุประการสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีต้นทุนติดลบ หลังวันเสียงปืนแตกเมื่อ 4 ม.ค.47 การส่งกำลังทหารตำรวจลงไปจำนวนมากเพื่อระงับสถานการณ์ จึงกลายเป็น "เข้าทาง" กลุ่มก่อความไม่สงบ มีเหตุรุนแรงเกิดแบบไม่รู้ใครทำ (สงครามผี) ก็ป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีเครื่องแบบทหาร เสื้อลายพรางที่ยึดได้บ่อยๆ รวมทั้งล่าสุดจากฐานฝึกบนเขาตะเว จ.นราธิวาส เป็นหลักฐานชั้นดี
ขณะเดียวกันก็มีบางเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือคนของรัฐเป็นผู้กระทำกับชาวบ้านเสียเอง ไม่ว่าจะฆ่า จับกุมโดยมิชอบ หรือซ้อมทรมาน เหตุการณ์เหล่านั้นก็ยิ่งตอกย้ำความไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐ และถูกมองอย่างเหมารวมว่าแทบทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ นำมาสู่ข้อเรียกร้องถอนทหารและยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ประเด็นที่ 3 จากสภาพการณ์ดังที่ไล่เรียงมา จะเห็นว่าแม้ในภาพใหญ่ของปัญหาชายแดนใต้ รัฐไทยยังไม่ได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิปลายด้ามขวาน ทว่าก็ยังมองไม่เห็นทางชนะ โดยเฉพาะการยึดกุมหัวใจของพี่น้องประชาชน ความสูญเสียยังคงเกิดขึ้นในขณะที่โต๊ะพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะกับบีอาร์เอ็น หากไม่ล้มไปจริงๆ ก็น่าจะถูกยืดเวลาออกไปราวๆ 1 ปีจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังมองไม่เห็นปลายทาง
สุดท้ายสถานการณ์ที่ปลายขวานจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดเหตุรุนแรงหนักขึ้น เพื่อเป็นแต้มต่อของฝ่ายขบวนการหากมีการเปิดโต๊ะเจรจาอีกครั้งในอนาคต ท่ามกลางกระแสรณรงค์เรื่องการลงประชามติเพื่อกำหนดชะตาตนเอง หรือ Self-determination ในหมู่นักศึกษา เยาวชน และปัญญาชนชายแดนใต้ ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายต่ำสุดอยู่ที่...เขตปกครองพิเศษ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บาตรพระที่มีรอยกระสุนปืนจากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงพระขณะออกบิณฑบาต จนพระวัดป่าสวย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี มรณภาพ
ขอบคุณ : ภาพโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลเครือเนชั่น