รีสตาร์ทประเทศ ‘ปราโมทย์’ แนะปฏิรูปแยกหน้าที่ขรก.ออกจากการเมือง
รีสตาร์ทประเทศไทย 'ปราโมทย์ ไม้กลัด' เเนะปฏิรูปบุคลากร เเยกหน้าที่ข้าราชการออกจากการเมือง อดีตปลัดรง. ชี้ต้องรื้อระบบการศึกษา เพิ่มหลักสูตรหน้าที่พลเมือง 'พงศ์โพยม' ระบุควรสร้างการเข้าถึงข้อมูลระบบราชการ
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย (นัดพิเศษ) เรื่อง ‘พลังข้าราชการกับการปฏิรูปประเทศไทย’ ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบราชการอ่อนแอมาก ซึ่งสมัยก่อนระบบราชการยุคนั้นเข้มแข็งกว่ายุคปัจจุบัน ยิ่งขณะนี้อ่อนแอที่สุด เพราะนักการเมืองเข้าไปบัญชาการบริหารงานบุคคล ข้าราชการทุกระดับไม่ว่าจะเป็นอะไร มักอยู่ภายใต้การสั่งการที่มีค่าผ่านประตูหมด โดยเฉพาะระดับสูงยิ่งเสียค่าผ่านประตูมาก ซึ่งระยะหลังมีชนิดออกหน้าออกตา โลเช่น ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ประจักษ์ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ถึงขนาดต้องการครอบครองกระทรวงให้เป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง และท้ายสุดก็เห็นชัดเจนว่างานไม่คืบหน้า
ทั้งนี้ หากมีรัฐบาลกลางมาบริหารประเทศ 18 เดือน อดีตอธิบดีกรมชลฯ ระบุว่า ควรเร่ง ‘ปฏิรูปการบริหารจัดการคน’ ให้เร็วที่สุด โดยแบ่งแยกหน้าที่ของข้าราชการประจำกับนักการเมืองให้ชัด ไม่ให้ก้าวก่ายกัน ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรกระทรวง ทบวง กรม นั้นยาก เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องหลายเรื่อง จึงควรค่อย ๆ ทำไป
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำตัวให้เล็กลง โดยหันไปดำเนินงานเน้นเรื่องวิชาการ มาตรฐาน กฎหมาย และต่างประเทศ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะต้องปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เหมือนกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร แต่การกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขดังกล่าวมิได้หมายถึงปูพรมเหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งอาจจะมีการเริ่มต้นนโยบายภาคละ 2-3 แห่งก่อน
นอกจากนี้ต้องปฏิรูประบบกองทุนสุขภาพให้มีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน รวมถึงปฏิรูปบุคลากร โดยที่ผ่านมา 5-6 ปี มีข่าวทุจริตคอร์รัปชั่นและขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบ่อยครั้ง เพราะมีชมรมแพทย์ชนบทคอยเป็นหมาเฝ้าบ้านที่ส่งเสียงดัง
พร้อมกันนี้นพ.ศิริวัฒน์ เห็นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นก็มิได้มีมากกว่ากระทรวงอื่นเลย แต่ที่น่ากังวลที่สุด คือ การทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฉพาะความพยายามบั่นทอนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้อ่อนแอลง ด้วยการให้ค่าหัวประชากรน้อยลง แล้วหันไปกำหนดมาตรฐาน (P4P) เพื่อเอื้อให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน
“ขณะนี้โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ไปซื้อโรงพยาบาลเอกชนที่อ่อนแอในต่างจังหวัดมากมาย ดังนั้นจึงให้โรงพยาบาลเอกชนออกจากตลาดหุ้น เพราะการรักษามนุษย์ไม่ควรเป็นธุรกิจ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบประเทศฝั่งยุโรปหรือสแกนดิเนเวียไม่มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหุ้น และพยายามให้อยู่ได้โดยไม่ต้องทำกำไรสูงสุด” อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การปฏิรูประบบราชการควรแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการระดับต่ำกว่าปลัดกระทรวงนั้นให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการเหมือนกับสภากลาโหม ส่วนฝ่ายการเมืองจะมีอำนาจแต่งตั้งบุคลากรได้เฉพาะระดับปลัดกระทรวงขึ้นไปเท่านั้น
นายพงศ์โพยม กล่างถึงประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการก็ต้องปฏิรูปด้วย เพราะข้าราชการมักไม่ตั้งใจทำงาน เนื่องจากไม่ต้องรับผิดชอบผลงาน ด้วยเชื่อว่ากระทรวงไม่มีทางเจ๊ง กรมไม่มีทางเจ๊ง ผิดกับเอกชน จึงทำให้ข้าราชการเกิดความคิดอยากทำอะไรก็ทำไป รวมถึงจะต้องสร้างความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลระบบราชการ เพราะแม้จะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้
ชงตั้งโมเดลตรวจสอบภาษีนักการเมืองใหม่
ด้านนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องปฏิรูปคืออย่าให้นักการเมืองเข้าสู่อำนาจ โดยนำภาษีของสรรพากรมากำหนด จากเดิมที่เคยดูภาษีย้อนหลังโดยใช้ฐานปีเดียวก็เปลี่ยนมาเป็น 3 ปี เวลาเช็คย้อนหลังต้องเช็คครอบครัวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ตั้งแต่บุตรที่บรรลุนิติภาวะ และภรรยา เพราะภาษีจะติดตามได้ไปจนวันตาย
“แต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรไม่ให้อธิบดีกรมสรรพากรเข้าไปรับใช้ฝ่ายการเมือง อาจต้องให้มีองค์กรในสรรพากรมาเป็นองค์กรอิสระ แล้วคัดสรรคนดีๆมาทำหน้าที่ในระยะเริ่มต้น ด้วยการตั้งทีมเฉพาะกิจทำโมเดลนำร่องไปอยู่ภายใต้กรมสรรพากร ถ้าตั้งใจทำให้ดี เชื่อว่าเราทำได้”
อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า หากเราสร้างโมเดลในการนำร่องเพื่อตรวจสอบภาษีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วจะต้องดูแลความเป็นอยู่ในเรื่องความปลอดภัยให้กับบุคคลเหล่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถูกคุมคาม รวมทั้งควรตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลช่วยเหลือซึ่งอาจจะเก็บมาจากภาษีบาป อย่างเหล้าเบียร์ บุหรี่ หรือกองสลากสัก 0.5 % เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงหรือช่วยเหลือคนที่ถูกฟ้องจากการทำงานเพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นรู้สึกโดดเดี่ยว หากสามารถทำได้จะทำให้ระบบการตรวจสอบดีขึ้นอย่างแน่นอน
“ทั้งนี้สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือจะต้องไม่ให้วุฒิสภาซื้อได้ด้วยเงิน เพราะในช่วงที่ผ่านมาเวลาจะแต่งตั้งใครเข้ามาเป็นบอร์ด เข้ามาทำหน้าที่จะต้องมีการโหวตในวุฒิสภา พอนักการเมืองอยากได้ใครจะแต่งตั้งใครก็โหวตโหวตทีไรก็ชนะ ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเป็นอันตรายมาก เราจึงต้องวางโครงสร้างเช็คให้เกิดความสมดุลในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา”
นายชวลิต กล่าวถึงกรณีที่ข้าราชการเข้าไปเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่รัฐวิสาหกิจทั้งหมดกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งคนเข้าไปแล้วมักเลือกแต่คนของตัวเองให้เข้าไปทำงานอย่างมีเป้าหมายและไม่ได้เข้าไปเพื่อรักษาประโยชน์ให้ประเทศชาติ รัฐวิสาหกิจจึงกลายเป็นแหล่งทำมาหากินอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของเหล่านักการเมือง ซึ่งกระทรวงการคลังก็ไม่มีรัฐมนตรีดีๆเข้ามาสุดท้ายก็หากินเหมือนเดิม ดังนั้นเราจะต้องหาโมเดลในการเลือกบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่ไม่ให้เจ้ากระทรวงเป็นคนแต่งตั้ง
นอกจากนี้อีกเรื่องที่เห็นว่าต้องปฏิรูปคือแก้กฎหมายให้ราษฏรผู้เสียภาษีสามารถวางทรัพย์ได้ คือถ้าเห็นว่าโครงการของรัฐบาลไม่ดี หรือเห็นว่ารัฐบาลไม่ฟังเสียงคัดค้านของประชาชน ให้ประชาชนสามารถวางทรัพย์ทิ้งไว้ได้สักสองปีเพื่อเป็นการแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าเราไม่เห็นด้วย ดังนั้นต้องเป็นช่องทางวางศาลไว้บ้าง
เน้นปฏิรูปการศึกษา เพิ่มหลักสูตรหน้าที่พลเมือง
นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ณ เวลานี้ เลือกรัฐบาลผิดคิดจนรัฐบาลตาย สิ่งแรกที่เห็นว่าควรปฏิรูปคือเรื่องการศึกษา เพราะต่อให้เราไม่ได้รับการดูแลจากระบบที่ดีแต่ถ้าเรามีข้อมูลมีความรู้เราก็จะสามารถเลือกคนที่ดีมาบริหารประเทศได้ ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพของข้าราชการมีไม่เต็มที่ เช่นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่หลังเลิกงานแล้วมาขึ้นเวทีกับกปปส.แล้วถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตรงนี้ทำให้เราไม่มี สิทธิเสรีภาพต่างๆอย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงเห็นว่าน่าจะให้มีการยอมรับในอนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้เรามีสิทธิในการเจรจาต่อรอง และให้ข้าราชการสามารถจดทะเบียนสหภาพ ได้เพื่อที่รวมกลุ่มกันในการเจรจาต่อรองและคัดค้านในเรื่องต่างๆและ ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง
อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า แท้จริงระบบหลายอย่างของเราค่อนข้างดี แต่เสียตรงที่ข้าราชการกับนักการเมืองมารวมหัวกันทำเรื่องไม่ดีจนประเทศพัง ในอดีตนักการเมืองไม่รู้ว่าตรงไหนกินได้ ข้าราชการตัวดีบอกนักการเมืองกินตรงนี้ซิ
“ดังนั้นจึงต้องหันมาวางระบบการศึกษา ในระยะสั้นๆให้ความรู้เพิ่มหลักสูตรหน้าที่พลเมืองเข้าไป เนื่องจากเด็กสมัยใหม่ไม่รู้จักหน้าที่พลเมือง รู้จักแต่สิทธิ ไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องทำอะไรบ้าง และระบบการคัดเลือกปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมต่างๆต้องมีหลักการในการคัดเลือกคนดีเข้ามาทำงานด้วย”
ขณะที่นางวิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปคือระบบราชการ ในการโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ เพราะการเปลี่ยนแค่เลขานุการเพียงคนเดียวก็ทำให้ระบบการทำงานรวนทั้งระบบ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ทำให้วัฒนธรรมของข้าราชการมืออาชีพหายไป และกลายเป็นว่าวัฒนธรรมของข้าราชการที่มีความคิดอย่างตรงไปตรงมาถูกปิดกั้นโดยฝ่ายการเมือง
“อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากข้าราชการประจำที่อยู่ในสภาพัฒน์ฯ หรือประจำหน่วยงานกลางต่างๆ ผนึกกำลังแล้วบอกฝ่ายบริหารในสิ่งที่ทำผิดและสนับสนุนในสิ่งที่ทำถูกจะมีผลให้ไม่เกิดการคอร์รัปชั่น”
นางวิไลพร กล่าวด้วยว่า การจะทำข้อเสนอปฏิรูประเทศไทย ให้เสร็จภายใน 1 เดือน หากในช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงบริหารเราจะรีบเสนอทันที โดยจะเน้นไปในเรื่องที่จะกระตุกให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า .
ภาพประกอบ:http://www.siamtownus.com/