รุมสับ พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ชี้ "ตรวจสอบยาก-ทำลายวินัยการคลัง"
ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญ คดี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน อดีต ส.ส.ร.50 เชื่อขัดรัฐธรรมนูญ ระบุตรวจสอบยาก “2 อดีต รมว.คลัง” ค้าน ชี้ผลเสียมากกว่าผลดี-ทำวินัยการคลังเสียหาย นัดยื่นคำแถลงปิดคดี 27 ก.พ.นี้
เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2557 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ตุลาการศาล รธน. นัดพิจารณาคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน มีความข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยครั้งนี้ตุลาการศาล รธน.ได้นัดไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ให้การต่อศาลมีใจความว่า เรืองนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เพราะในอนาคตหากมีการออกกฎหมายใช้จ่ายเงินโดยไม่จำกัด และไม่ผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภา ก็อาจทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ส่วนตัวเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หมวด 8 โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 การจ่ายเงินแผ่นดินจะใช้ได้ใน 4 กรณีเท่านั้น เพื่อตีกรอบรัฐบาลไม่ให้ใช้วิธีอื่นมาจ่ายเงินแผ่นดิน เพราะทุกการใช้จ่ายจะเป็นภาระของแผ่นดิน
เมื่อถามเงินกู้เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ นายพิสิฐ กล่าวว่า เงินกู้ก็เป็นรายรับของรัฐบาล เช่นเดียวกับเงินภาษี ทันทีที่เงินเหล่านี้อยู่ในมือรัฐบาล ถือเป็นเงินแผ่นดินทั้งสิ้น เพราะมีภาระต่อการชดใช้ในอนาคตเท่าเทียมกัน เพราะเงินกู้ก็ต้องนำภาษีมาใช้ในอนาคตอยู่ดี ที่คนในรัฐบาลบอกว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน ความจริงคำว่า “เงินแผ่นดิน” เป็นคำกลาง ไม่มีคำบัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่หมายถึงสิ่งที่ประเทศเป็นเจ้าของ ดังนั้นประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศควรจะมีสิทธิในการตรวจสอบด้วย
“แต่เท่าที่ดูร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ตรวจสอบได้ยากมาก นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่ควรจะมีการศึกษาก่อนถึงจะมาขอกู้เงิน แต่โครงการตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท กลับตาลปัตรคือไปขอกู้ก่อนแล้วค่อยมาศึกษา” นายพิสิฐกล่าว
นายทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง ให้การต่อศาลใจความว่า ถ้ายึดจากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หากกฎหมายผ่าน ก็ไม่ใช่เงินของแผ่นดิน แต่เป็นเงินนอกงบประมาณ แต่ที่ผ่านมา เงินนอกงบประมาณ จะเป็นเงินเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ และตามปกติเงินนอกงบประมาณก็ยังเป็นเงินแผ่นดินอยู่ ส่วนตัวคิดว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ไม่มีความจำเป็นต้องออก ควรจะผ่านวินัยการเงินการคลังโดยปกติ กฎหมายนี้จึงเป็นกฎหมายพิเศษ ที่ใช้เพื่อให้เกิดการกู้ยืมเงินครั้งนี้ นอกจากนี้ การหาเงินไว้ก่อนแล้วค่อยไปหาโปรเจ็กส์ ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง
“ความพยายามใช้อำนาจพิเศษ ออกกฎหมายพิเศษมา มันจะทำให้หนี้ของรัฐในอนาคต มันกำกับไม่อยู่ ที่รัฐบาลบอกว่า หนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50% ไม่มีอะไรล็อคไว้เลย ว่าเกินแล้วจะหยุด เพราะถ้าเดินหน้าไปแล้วมันหยุดไม่ได้ ส่วนตัวมองว่า ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ข้อเสียมันมากกว่าข้อดีเยอะ” นายทนงกล่าว
นายทนง กล่าวว่า ถามว่าอยากได้รถไฟความเร็วสูงไหม ก็อยากได้ แต่ถามว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือไม่ ผมในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ก็ยังไม่จำเป็น รถไฟที่ยังมีอยู่ แม้จะวิ่งแค่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ไม่มีความจำเป็นต้องวิ่ง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญรถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นได้ ในหลายๆ ประเทศที่ตนเคยไปเยือน พบว่าต้องมีเส้นทางที่ตรงมากๆ แต่ภูมิประเทศของไทยไม่ได้มีทางตรงขนาดนั้น ตนจึงท้วงติงกรณีที่ไม่มีการศึกษาโครงการนี้มาก่อนเลย
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ให้การต่อศาลใจความว่า ตนเป็น รมว.คลังก่อนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลังคนปัจจุบัน ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง ไม่ได้รับทราบถึงแนวคิดในการออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเลย ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลเสียต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อฐานะเครดิตของประเทศ
นายธีระชัย กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินกู้ หากจะให้น่าเชื่อถือว่าจะรักษาวินัยการเงินการคลังได้ จะต้องมีองค์ประกอบ 5 ข้อ 1.มีข้อมูลขั้นต่ำให้ประชาชนติดตามการทำงานของรัฐบาลได้ 2.การพิจารณาจะต้องมีความรอบคอบ เปิดเผยต่อสาธารณะ 3.การเบิกใช้เงินจะต้องมีระเบียบควบคุมที่รัดกุม 4.กรอกการอนุมัติโดยรัฐสภาจะต้องแคบไม่เปิดให้มีการพลิกไปมา และ 5.รัฐสภาเมื่ออนุมัติแล้วจะต้องมีอำนาจในการกำกับติดตามการทำงานของรัฐบาลได้
“เท่าที่ตนติดตามพบว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ไม่เข้า 5 องค์ประกอบข้างต้น เริ่มจาก 1.ข้อมูลโครงการท้าย พ.ร.บ.มีเอกสารเพียงสามหน้ากระดาษ 2.ขั้นตอนการพิจารณาไม่มีการถกเถียงในสาธารณะเท่าที่ควร 3.การเบิกใช้เงินอาจไม่มีความรัดกุม 4.การตั้งงบเป็นก้อนใหญ่ อาจทำให้มีการโยกงบไปๆ มาๆ เป็นการควบคุมที่หละหลวม ในแง่นักลงทุนจะไม่เห็นด้วย และ 5.รัฐสภาท้วงติดรัฐบาลไม่ได้เลย เพราะมาตรา 18 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุเพียงว่ารายงานให้รัฐสภารับทราบเท่านั้น ผมจึงมองว่าหากเดินหน้าไปจะสร้างความเสียหายต่อการเงินการคลัง” นายธีระชัยกล่าว
เมื่อถามว่าหากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทผ่านไปจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไรบ้าง นายธีระชัย กล่าวว่า หากการกู้เงินออกเป็นกฎหมายพิเศษ ต่อไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณก็จะเหลือแต่งบประจำ ส่วนงบลงทุนจะไปใช้การกู้เงินหมด ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเงินที่ได้จากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน น่าจะเป็นเงินของแผ่นดิน
ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ให้การต่อศาลใจความว่า หากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้ กระทรวงการคลังจะไม่สามารถควบคุมการก่อหนี้ได้เลย เพราะในรัฐบาลอาจจะมีการออกกฎหมายกู้เงินอีก กรอบวินัยการคลังจะถูกข้ามไปเลย ถูกเพิกเฉย ไม่มีการบังคับใช้ ทั้งนี้หากมีความจำเป็น ครม.สามารถออกกฎหมายกู้เงินเป็นรายโครงการได้ โดยต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วค่อยนำเข้า ครม.เพื่อก่อหนี้ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย
“ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นการทำลายกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยสิ้นเชิง เพราะ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านสวนทางกับกระบวนการปกติ ทำให้คนมีหน้าที่โดยตรงไมได้ทำหน้าที่ นอกจากนี้ ยังไม่ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรในการกลั่นกรองว่าโครงการต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ว่ามีความเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่” น.ส.สุภากล่าว
เมื่อถามว่า เงินจากร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ น.ส.สุภา กล่าวว่า เรื่องนี้คนที่ทำคือรัฐบาล คนที่ใช้คือรัฐบาล มันก็ต้องเป็นเงินของแผ่นดิน
ทั้งนี้ ตุลาการศาล รธน.ได้นัดผู้เกี่ยวข้องให้ยื่นคำแถลงปิดคดี ในวันที่ 27 ก.พ.2557 หากไม่ยื่นจะถือว่าไม่ติดใจ