ไทยทำสำเร็จ สร้างจิตสำนึกปชช.รับไม่ได้ ทุจริตคอร์รัปชั่น
“วิชัย อัศรัสกร” โชว์ตัวเลข ผลสำเร็จ 80% คนไทยรับไม่ได้แล้วเรื่องทุจริต ชี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คิดไม่ออก ไม่มีระบบ ไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่คนที่อยู่ในอำนาจไม่เอาจริงเอาจัง ด้าน ดร. เดือนเด่น ย้ำชัดปฏิรูปประเทศไทยต้องเร่งแก้กม.ข้อมูลข่าวสารฯ อุดช่องโหว่ สานฝันดันโมเดลให้ปชช.เป็นหัวหมู่ช่วยแก้คอร์รัปชั่น เป็นจริง
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาครั้งที่ 1 เรื่อง “การคอร์รัปชั่น และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร และนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ร่วมเสวนา
ดร. สมเกียรติ กล่าวว่า ประเทศไทยปัจจุบันนี้ เดินมาถึงจุดสำคัญ หากไม่มีการปฏิรูปใดๆ ประเทศคงประสบปัญหาความขัดแย้งต่อไปไม่สิ้นสุด และจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทางออกทางหนึ่ง คือการลดปัญหาการคอร์รัปชั่น การทำให้เศรษฐกิจไทยมีความโปร่งใส ทำให้การเมืองโปร่งใส และการสร้างวินัยการเงินการคลัง เพื่อให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดวิกฤติต่างๆ
“การคอร์รัปชั่น และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ มีความเกี่ยวพันกัน เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นให้หมดไปได้ หากไม่มองถึงสาเหตุที่เกิดจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจประกอบด้วย”
ภาพคอร์รัปชั่นประเทศไทยยังเบลอๆ
ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจะรู้จัก แต่ Corruption Perceptions Index: CPI ว่า ประเทศไทยภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นตกลงมาอยู่อันดับที่เท่าไหร่ ซึ่งดัชนีตัวนี้ ไม่ได้บอกอะไรเรา รู้แต่เพียงว่า ต่างชาติมองเราเช่นไร แต่เมื่อถามว่า ภาคส่วนไหนมีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด แบบไหน อย่างไร มีผลกระทบอย่างไรนั้น เราจะไม่มีทางรู้เลย ด้วยเพราะไม่มีดัชนีชี้วัดตัวอื่นๆ
“ภาพการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยจึงเบลอๆ รู้ว่าแย่ลง แต่ไม่รู้ว่าแย่ลงเพราะอะไร” ดร. เดือนเด่น กล่าว และว่า เมื่อไม่เห็นภาพก็ยากที่จะทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ฉะนั้น จำเป็นที่เราต้องมีฐานข้อมูลที่จะมาวัดสภาพการคอร์รัปชั่น เพื่อนำมาวิเคราะห์ จนสามารถแก้ไขปัญหาหรืออกแบบยุทธศาสตร์ได้
ดร. เดือนเด่น กล่าวดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่น มีทั้ง Perceptions คือความเห็น มีการทำกันบ้าง เช่น การสำรวจความเห็นประชาชน ภาคธุรกิจ แต่ก็ยังไม่เป็นระบบ ซึ่งที่ทำเป็นระบบมากที่สุด คือของหอการค้าไทย ที่สำรวจทุก 6 เดือน ขณะที่ดัชนีที่เรียกว่า Experience ที่ไม่ได้ถามความเห็น แต่จะถามว่า ท่านเคยจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือไม่ ซึ่งจะได้คำตอบตามความเป็นจริง และดัชนี Corruption Statistic เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง เช่นกรณีคดีทุจริตคอร์รัปชั่นมีกี่คดี นำไปสู่การลงโทษจริงกี่คดี ข้อมูลตรงนี้ ประเทศไทยยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่
เพิ่มเครื่องมือ ให้บทบาทปชช.ตรวจสอบคอร์รัปชั่น
สำหรับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ดร. เดือนเด่น กล่าวว่า กฎหมายนี้ไม่มีเขี้ยวเล็บ และร่างขึ้นมาก็ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ขณะที่ชื่อกฎหมายก็ไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มต้น แตกต่างจากในต่างประเทศจะใช้ชื่อ “กฎหมายข้อมูลสาธารณะ” ซึ่งสามารถตีความว่า ข้อมูลเป็นของสาธารณะ แต่อยู่ในการครอบครองของหน่วยงานราชการ
“ประเทศไทยใช้ชื่อ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ชื่อก็บ่งบอกแล้ว ราชการเป็นเจ้าของไม่ใช่สาธารณชน และกฎหมายก็เขียนให้มีข้อยกเว้นค่อนข้างกว้าง มีการใช้ดุลยพินิจไมให้เปิดเผยข้อมูล ตรงนี้จึงกลายเป็นช่องโหว่ ร้องเรียนอุทธรณ์ก็ไม่เป็นที่สิ้นสุด อีกทั้งช่วงหลังๆ ใครอยากได้ข้อมูลก็จะยื่นผ่านไปยังศาลปกครองเลย ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เร็วกว่า”
ทั้งนี้ ดร. เดือนเด่น กล่าวถึงการจะปฏิรูปประเทศไทย และให้ประชาชนมีบทบาทการตรวจสอบคอร์รัปชั่น จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ
“การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ณ จุดนี้ ต้องมาจากประชาชนเป็นหลัก ช่วยรตรวจสอบ ดังนั้น โมเดลให้ประชาชนเป็นหัวหมู่ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องมีเครื่องมือให้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีจำนำข้าว หากมีเครื่องมือ คงไม่อึดครึมมาถึงปัจจุบัน ทั้งๆที่หลายเรื่องประชาชนต้องรับทราบอยู่แล้ว แต่แปลกมากประเทศนี้ไม่มีข้อมูล แม้กระทั่งการส่งออกข้าวเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ขายให้ใครก็ไม่รู้ ผิดจากต่างประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลสาธารณะ เป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเรากลับถูกปิดลับ กระทั่งกลายเป็นปัญหา”
ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ ว่า เป็นการหาเงินได้เร็วที่สุด นับเป็นการทุจริตแบบง่าย เช่น เปลี่ยนกฎกติกาภาครัฐ การให้สัมปทาน เป็นวิธีการสร้างกำไรโดยแบ่งกันระหว่างคนที่ผูกขาด กับคนที่ให้อำนาจการผูกขาด เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ถามว่า เราจะป้องกันได้อย่างไร
“การให้สัมปทานแม้จะเปลี่ยนมาเป็นการให้ใบอนุญาตแล้วในบางธุรกิจแล้ว ภาพดูเหมือนเปิดเสรี มีหน่วยงานเข้ามาดูแล แต่น่าแปลกใจว่า แม้เปลี่ยนระบบ แต่รูปแบบสัมปทานจำแลงก็ไม่หายไป สุดท้ายกลับไปรูปเดิมของระบบสัมปทานนั่นเอง”
ยกลีกวนยู สร้างวัฒนธรรมองค์กรโปร่งใสได้ชั่วอายุคน
ด้านศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก กล่าวถึงการคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาที่ทุกประเทศในโลกประสบอยู่ แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีปัญหา แต่ที่แตกต่างกันคือ ประเทศพัฒนาแล้วจะมีกระบวนการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและทันอกทันใจ ระบบกระบวนการศาล การเอาผิดกับคนคอร์รัปชั่น นักการเมือง ข้าราชการได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีหลักนิติธรรมที่สามารถใช้ระบบกระบวนการยุติธรรมได้กับทุกคน และเชื่อถือได้
กรณีของไทย ที่ปัญหาคอร์รัปชั่นสะสมและจำนวนมากนั้น ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา จากการทำวิจัยเมื่อ 13 ปีที่แล้ว จะพบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับคนธรรมดา ประชาชนทั่วไปดีขึ้น แต่มีปัญหาเฉพาะจุดในหน่วยงาน คือ องค์กรภาครัฐที่มีธุรกรรมจำนวนเงินมากๆ เช่น กรมที่ดิน กรมสรรพากร ศุลกากร ตำรวจ
“เรื่องใหญ่มากในกระบวนการคอร์รัปชั่น คือการให้สินบนในโครงการขนาดใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวพันระหว่างนักการเมือง นักธุรกิจ และข้าราชการ แถมกระจุกตัวในบางกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงเกรดเอ เช่นกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง ที่มี กรม กองที่มีปัญหา เราได้พบจากการสำรวจ เช่น กรมสรรพากร ศุลกากร รวมถึงกระทรวงมหาดไทย อย่างกรมที่ดินด้วย”
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ผาสุก ได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ สมัยลีกวนยู อดีตผู้นำสิงค์โปร์ ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรโปร่งใสได้ชั่วอายุคน ลดปัญหาการคอร์รัปชั่นลงได้ สิ่งหนึ่งคือ การที่ตัวนายกฯ ไม่ช่วยพรรคพวกกรณีคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่สำคัญมาก
ขณะที่นายบรรยง กล่าวการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นกับการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา จะเห็นว่า เป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐทั้งสิ้น ซึ่งอำนาจรัฐคือต้นตอการคอร์รัปชั่น แต่สิ่งที่สังคมขาดไป คือ ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง หลายหลาย และสถาบันที่ติดตามนโยบายของภาครัฐ (Policy Watch) ปัจจุบันนี้มีอยู่น้อยมาก หรือมีก็ทรัพยากรไม่เพียงพอ รวมถึงสื่อที่มีคุณภาพไม่รับค่าโฆษณาของผู้มีส่วนได้เสียกับผู้มีส่วนฉ้อราษฏร์บังหลวง
80% คนไทยรับไม่ได้แล้ว เรื่องคอร์รัปชั่น
สุดท้ายนายวิชัย กล่าวถึงการทำผลสำรวจทุก 6 เดือนของหอการค้าไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า จากปี 2553-2556 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น จากปี 2553 คนไทยมองการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับฉัน ไม่อยากยุ่ง แต่ผลสำรวจล่าสุด ธันวาคม 2556 พบว่า 87% คนไทยเห็นว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว และรับไม่ได้กับการคอร์รัปชั่นถึง 80%
“ตัวเลขที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษฯ คนไทยตื่นตัวมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการรณรงค์ การให้ความรู้กับสาธารณชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำงานมา 3-4 ปี” นายวิชัย กล่าว และว่า วันนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสร้างจิตสำนึก สร้างความตระหนักรู้ เรื่องคอร์รัปชั่นให้กับประชาชน มากกว่า ผู้ปกครองประเทศ ว่า คอร์รัปชั่นเป็นสิ่งไม่ดี ซึ่งหากจะปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นนั้น เนื้อหาทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ได้ทำไว้หมดแล้ว ทั้งการป้องกัน การแก้ไข มาตรฐานต่างๆ มีหมด ปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเราจึงไม่ใช่เรื่องคิดไม่ออก ไม่มีระบบ หรือไม่มีกฎหมาย แต่ปัญหาคือคนที่อยู่ในอำนาจไม่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้มากกว่า