เปิด ‘3 มุมมอง ผู้รู้วงการข้าว’ ช่วยชาวนาหายใจรอดพ้นปมจำนำ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเวทีเสวนา ‘ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญและรักษาวินัยการเงินการคลัง’ ณ อาคารรัฐสภา 2 โดยมีสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้สนใจ เข้าร่วมคับคั่ง
ซึ่งข้อเสนอแนะในครั้งนี้ จะมีการจัดทำเป็นเอกสารยื่นต่อรัฐบาลเพื่อใช้แก้ปัญหาอันเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อเสนอแนะที่น่าสนใจจาก 3 มุมมอง ผู้รู้วงการข้าว
ในก้าวแรกของการเสวนาหรือการอภิปรายเฉพาะกิจ ศ.(พิเศษ) ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่า ตามทฤษฎีแล้วชาวนาต้องกู้เงินจากรัฐบาลโดยนำข้าวมาจำนำไว้ ชาวนาก็จะเป็นหนี้รัฐบาล แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตรรัฐบาลกลับเป็นหนี้ชาวนาแทน ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวได้แปรสภาพเป็นโครงการซื้อขายข้าวแล้ว
“เปรียบเหมือนสุภาพสตรีที่นำสร้อยคอไปจำนำ เวลาจะไถ่ก็ต้องได้สร้อยคอเส้นเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น เวลาจำนำข้าวก็ต้องได้ข้าวกองเดียวกันกับที่จำนำไว้ แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์ในเวลานี้การอยากได้ข้าวกองเดียวกันเหมือนที่จำนำไว้ยากเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลมีคำสั่งให้นำไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารทุก 15 วัน”
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกอีกว่า เวลานี้รัฐบาลซื้อข้าวจากชาวนาโดยพฤตินัย ไม่จ่ายเงินทันที ฉะนั้นรัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาอยู่ อย่าเอาวาทกรรมเรื่องรับจำนำข้าวมาพูดเรื่องนี้ เมื่อรัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาอยู่ก็จะมีภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด หรือพรรคเพื่อไทยเองก็จะมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายหนี้ส่วนนี้คืน
ฉะนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการในช่วงนี้ หากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ก็จะเป็นเฉพาะข้าวที่นำมาจำนำหลังวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันยุบสภา ซึ่งถือเป็นภาระผูกพันต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยทางศีลธรรมและจริยธรรม
ศ. (พิเศษ) ดร.อัมมาร ให้เหตุผลว่า ทันทีที่ข้าวตกไปสู่มือของโรงสี รัฐบาลจะมีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินให้ชาวนาโดยพฤตินัย ซึ่งภาระผูกพันได้เกิดขึ้นแล้วในข้าวที่นำมาเข้าโครงการก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แต่หากรัฐบาลจะจัดการเปลี่ยนเจ้าหนี้จากชาวนาเป็นคนอื่น คิดว่าอนุโลมได้ "ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ หากใจกว้างพอก็อยากจะให้ตีความอย่างนั้น"
สำหรับหนี้ที่สร้างใหม่หลังจากวันยุบสภา ต้องหาทางต่อไป ซึ่งตอนนี้ยังคิดไม่ออก
ชี้จำนำข้าวทำวินัยการคลังพัง-แนะประชานิยมสุดโต่งต้องแจงสภาฯ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการมีนโยบายรับจำนำข้าวตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น การเป็นหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลไม่มีสภาพคล่องทางการเงินจะจ่ายได้ ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าต่อคนไทยด้วยกัน ซึ่งชาวนาที่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้รัฐบาล แต่ต้องตะลอน ๆ ไปขอกู้หนี้ยืมสินจากแหล่งปล่อยให้กู้นอกระบบ ซึ่งประหลาดมาก เพราะฉะนั้นแสดงเห็นแล้วว่าวินัยทางการเงินการคลังพังไปแล้ว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว ศ.(พิเศษ) ดร.อัมมาร ระบุว่า ระบบวินัยทางการเงินการคลังที่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ให้ไว้ คือ โครงการเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณ ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้เป็นตัวที่สร้างวินัยทางการเงินการคลัง สำหรับตัวของรัฐบาลที่มาจากภาษีอากร ยังใช้ได้กระทั่งทุกวันนี้ การรั่วไหลของเงินส่วนนั้น ยกเว้นการผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะมีน้อยมาก ค่อนข้างเคร่งครัด รั่วไหลยากมาก
แต่การใช้เงินของรัฐบาลที่ได้รายรับมาจากการกู้เงิน สถาบันการเงินทั้งในและนอกประเทศอยู่ในขอบข่ายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปี ยกเว้นเงินกู้ที่ไว้ใช้สำหรับให้งบรายรับเท่ากับรายจ่าย ซึ่งเงินที่กู้มาจากธนาคารในประเทศ ธนาคารโลก อยู่นอกขอบข่ายของพ.ร.บ. งบประมาณ
“ฉะนั้นจึงเป็นช่องโหว่มโหฬารในระบบวินัยทางการเงินการคลังที่มวลมหาประชาชนทั้งมวลสามารถทะลุได้ และช่องโหว่นี้คนที่ใช้เป็นล่ำเป็นสันเริ่มต้นจากรัฐบาลทักษิณ 1 จากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน 7.5 หมื่นล้านบาท” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และอธิบายว่า เงินจากนโยบายนี้ได้มาจากการกู้ธนาคารออมสิน ซึ่งไม่ทราบว่ากระบวนการเป็นอย่างไร หากรัฐสภารับทราบก็เมื่อรัฐบาลตั้งงบประมาณขึ้นไปจ่ายเงินต้นให้ธนาคารออมสินแล้ว
ศ. (พิเศษ) ดร.อัมมาร ระบุอีกว่า ระบบวินัยทางการเงินการคลังเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องควบคุม อย่างน้อยจะต้องกำหนดกรอบการใช้เงินให้ชัดเจนก่อนลงมือในโครงการใด ๆ ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐสภา คือ การอนุมัติการกู้เงินหรือการใช้จากเงินกู้
ยกตัวอย่าง งบประมาณกู้เงินโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีอันหนึ่งที่มีการอนุมัติและรับทราบโดยรัฐสภา เพราะฉะนั้นจะมีกรอบวงเงินที่แน่นอน ถ้าจะใช้เกินก็ต้องเข้ามากราบไหว้รัฐสภาใหม่ แต่โดยปกติรัฐสภาไทยมักกราบไหว้รัฐบาลมากกว่า
“เราจะต้องเข้าไปสู่ระบบเมื่อมีนโยบายประชานิยมอย่างนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือไม่ รัฐสภาต้องมีส่วนรับรู้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและที่มาของเงินดังกล่าว โดยจะต้องให้รัฐสภาอนุมัติ เพื่อให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้น แต่ ปัญหาในไทยขณะนี้ คือ รัฐสภาไม่มีอำนาจ ยกเว้นปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลเหมือนปัจจุบัน นอกเหนือจากนั้นจะต้องแก้ไขระบบการตรวจสอบติดตามบัญชีด้วย”
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังตั้งคำถามว่า ทราบหรือไม่นโยบายรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่โปร่งใสมาก ทุกอย่างมีใบเสร็จ แต่ไม่ถูกนำไปทำบัญชี ดังนั้นจะไม่มีทางรู้ได้ว่าเงินหมดแล้ว และรัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูลและตัวเลข นั่นหมายถึงการจงใจที่จะไม่โปร่งใส ราคาที่ขาย ระดับการขายอยู่ในถ้ำที่มืดมิด ถ้าไม่มีไฟฉายติดตัวไป แต่ไฟฉายนั้นก็ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าใหญ่นายโต หรืออำมาตย์ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“เวลานี้มีเพดานที่บอกว่าจะกู้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่เป็นเพดานของครม. ถ้าไม่มีการยุบสภา ครม.ก็จะสามารถมีมติวางกรอบหลายวงเงินไปได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัด จึงตั้งข้อสังเกตว่า วินัยทางการเงินการคลังอยู่ที่ไหน” ศ. (พิเศษ) ดร.อัมมาร กล่าว
"ในช่วงการปฏิรูปขอให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ไขช่องโหว่อันยิ่งใหญ่มโหฬารอันนี้อย่างรุนแรง ไม่เฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น แต่หมายรวมอีกหลายเรื่อง จึงขอประณาม แต่ไม่ขอด่า เพราะนโยบายประชานิยมมิใช่ไม่ดีทั้งหมด แต่การได้มาของนโยบายจะต้องคิด พร้อมบอกว่าต้นทุนเท่าไหร่ ชั่งน้ำหนักให้ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมแบบง่าย ๆ ไม่สามารถทำได้"
‘ธีระชัย’ เผยแก้ปัญหาด้วยเงินเสี่ยงผิด ม.181 (3)-(4)
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการหลักในการเลือกตั้งปี 2554 เป็นโครงการที่ใช้เงินมากที่สุด เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนจำนวนมากที่สุด มีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งนี้ การหาทางออกตามหลักวิชาการมี 3 ข้อ ได้แก่
การแก้ปัญหาทางการเงิน ซึ่งทำได้ยาก เพราะการที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาลงความเห็นว่า การกู้ดังกล่าวไม่ฝ่าฝืนมาตรา 181 (3) นั้น เมื่อพิจารณาในกรอบแคบแต่เพียงว่า กรอบวงเงินรวมเท่าเดิม โครงการนี้เป็นโครงการเก่า ถ้าเราใช้จริยธรรม ใช้เศรษฐศาสตร์ชัดเจนมาก ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อไป ชาวนาเป็นเจ้าหนี้ แต่ปัญหาคือ สิ่งที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดคือกฎหมายได้ล๊อกเอาไว้ ไม่ได้เปิดช่องให้มีการพลิกแพลง การกระทำใดก็ตามที่มีผลผูกพันรัฐบาลใหม่ อาจมีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดมาตรา 181 (3)
อดีต รมว.คลัง ให้เหตุผลว่า วงเงินที่เตรียมไว้รองรับโครงการตามร่างกฎหมายกู้เงินสองล้านล้านบาท เป็นวงเงินอนาคตจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว การโยกวงเงินอนาคตมาใช้เป็นวงเงินปัจจุบันน่าจะทำไม่ได้
และถึงแม้วงเงินรวมจะไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้เดิมก็ตาม แต่หากครม.ชุดใหม่ประสงค์จะทำโครงการคมนาคมดังกล่าว ก็จะทำไม่ได้ เพราะถูกโยกวงเงินออกไปแล้ว หรือหากจะทำก็มีภาระต้องไปหาแหล่งเงินกู้ใหม่ จึงเป็นการรอนสิทธิครม.ชุดใหม่ และน่าจะมีผลเป็นการสร้างความผูกพันแก่ครม.ชุดใหม่
นอกจากนี้ในแง่การบริหารนโยบายการคลัง การจะหาแหล่งเงินเพื่อใช้สำหรับจ่ายแก่ชาวนานั้น มี 2 แหล่ง คือ
1.จากการขายข้าว
และ 2.จากการกู้ยืม
หากครม.ชุดใหม่ประสงค์จะใช้แหล่งจากการขายข้าวเป็นแหล่งแรก แล้วจึงจะใช้แหล่งจากการกู้ยืมเป็นแหล่งที่สองนั้น ครม.ชุดใหม่ก็จะไม่สามารถทำได้ จึงน่าจะมีผลเป็นการสร้างความผูกพันแก่ครม.ชุดใหม่
สำหรับเหตุผลสุดท้าย นายธีระชัย ระบุว่า มติของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ ที่อ้างว่าสามารถผูกพันครม.ได้ โดยเพียงแต่เสนอครม.เพื่อรับทราบภายหลังเท่านั้น คาดว่าเป็นการลงมติภายหลังการยุบสภา จึงไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะผูกพันครม.ได้โดยอัติโนมัติ ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แต่ถึงแม้จะมีอำนาจดังกล่าว หากคณะกรรมการนี้ได้ลงมติภายหลังยุบสภา ก็ย่อมจะต้องเข้าข่ายตามบทบัญญัติมาตรา 181 (3) ด้วยเช่นกันกับครม.
“นอกจากจะฝ่าฝืนมาตรา 181 (3) แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) อีกด้วย นอกจากนี้การชำระหนี้แก่ชาวนาระหว่างที่มีการเลือกตั้ง ย่อมทำให้ชาวนาและบุคคลในครอบครัวตลอดไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการรับจำนำข้าวเป็นที่พอใจ จึงย่อมมีผลดีต่อพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีหากทำอย่างตรงไปตรงมา แต่หากทำแบบไม่ตรงไปตรงมา จะมีความผิดตามมาตรา 181 (4)”
อดีต รมว.คลัง อธิบายเกี่ยวกับกรณีข้างต้นพบข้อพิรุธ 5 ข้อ ได้แก่
1.เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 หลังจากมีการยุบสภาไปแล้ว รมว.คลังและรมว.คมนาคมเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ร่วมกันยืนยันว่าโครงการตามกฎหมายดังกล่าว เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และการกู้ยืมตามกฎหมายดังกล่าว เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่กลับเปลี่ยนโยกวงเงินจากโครงการเหล่านี้ไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวแทน
2.กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ผู้ที่นำเสนอต่อรัฐสภา คือ รมว.คลัง โดยเสนอแล้วแทนที่จะรอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน กลับไม่เห็นความสำคัญของกฎหมายนี้แล้ว และรีบร้อนบอกว่าบางโครงการไม่จำเป็นเสียแล้ว
3.โครงการคมนาคมเป็นคนละสายพันธุ์กับจำนำข้าว การโยกวงเงินจากโครงการคมนาคมในลักษณะซึ่งคล้ายเป็นงบประมาณลงทุน ซึ่งเป็นการสร้างทรัพย์สินวัตถุถาวรให้แก่ประเทศ และจะมีผลประโยชน์ยืนยาวไปหลายชั่วอายุคน เปลี่ยนไปเป็นโครงการที่มีผลขาดทุน ในลักษณะซึ่งคล้ายเป็นงบประมาณประจำ เป็นการโยกข้ามประเภทที่ไม่เกิดขึ้นในกรณีปกติ แต่ได้มีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงเลือกตั้ง
4. วงเงิน 5 แสนล้านบาทได้กำหนดเป็นวงเงินหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับให้มีการเร่งขายข้าว เพื่อช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพ และช่วยป้องกันการทุจริตแบบขายผ่านคอขวด แต่การกู้ยืมดังกล่าว โดยไม่เน้นให้มีการขายข้าวเสียก่อน เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิม แต่ได้มีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงเลือกตั้ง
5.ปี 2554 มีการเสนอให้ครม.อนุมัติค้ำประกันเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้ทำอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยกระทรวงการคลัง เสนอเรื่องเข้า ครม. แต่ครั้งนี้ในปี 2557 ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ช่องทาง ผ่านคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ จึงเป็นแนวทางที่ไม่เปิดเผย และได้มีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงเลือกตั้ง
เชื่อดันประมูลล๊อตใหญ่ ครั้งละ 2 ล้านตัน มีเงินใช้หนี้ชาวนา
อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย มองว่าการแก้ปัญหาทางการตลาด จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับรัฐบาลรักษาการ ซึ่งการขายข้าวนั้นจะต้องไม่ใช้วิธีขายแบบรัฐต่อรัฐปลอม ๆ ขายผ่านคอขวด หรือขายแบบหน่อมแน้มครั้งละหมื่นตันหรือแสนตัน แต่ต้องเปลี่ยนไปขายแบบวิธีบูมล๊อตใหญ่ ครั้งละ 2 ล้านตัน
อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงการขายแบบล๊อตใหญ่ ยอมรับว่าจะกดดันราคาตลาดโลกให้ต่ำลง แต่จะเป็นการชั่วคราว แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุน แต่ก็ถือว่า ได้รับเงินมาจ่ายชาวนา
ส่วนการสำรวจนับสต๊อกข้าวนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า จะต้องมีการสำรวจนับสต๊อกแบบละเอียด หากข้าวหายต้องมีการดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด หากข้าวเสื่อมสภาพต้องมีการรับความจริงและคำนวณมูลค่าสต๊อกลดลงให้ถูกต้อง
สำหรับการแก้ปัญหาทางการเมือง อดีต รมว.คลัง ระบุว่า ทำได้ 2 วิธี คือ 1.รัฐบาลรักษาการต้องเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และผลักดันให้มีการเลือกตั้งจบลงโดยเร็ว แต่วิธีนี้เชื่อว่าคงเกิดขึ้นยาก ทั้งนี้หากต้องการให้รวดเร็วที่สุด รัฐบาลรักษาการต้องลาออก เพื่อเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลใหม่นี้เมื่อกู้เงินก็จะข้อจำกัดเช่นกัน
ชงจ่ายชดเชยต้นทุนผลิตเยียวยาชาวนา
ขณะที่นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (Government to Government:G to G) มีการขับเคลื่อนมาหลายรัฐบาลแล้ว เพื่อต้องการขายในราคาต่ำกว่าตลาด ผลต่างก็จะนำมาแบ่งปันกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องข้าวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลอาจจะขายข้าวได้ยาก ด้วยสภาวการณ์ตลาดไม่เอื้ออำนวย
อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ยังชี้ให้เห็นภาพตลาดข้าวโลกปีนี้มีผลผลิตสต๊อกอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ ซึ่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO) กำหนดไว้ให้โลกต้องมีสต๊อกข้าวเพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนอย่างน้อย 100 ล้านตัน
ทั้งนี้ ช่วงปีก่อนที่ราคาข้าวโลกปรับตัวสูงขึ้น 1 หมื่น – 1.2 หมื่นบาท/ตัน เกิดจากสต๊อกข้าวในตลาดโลกคงเหลือเพียง 80 ล้านตัน จึงตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่รัฐบาลมีแนวคิดนโยบายรับจำนำข้าวนั้น ได้นำข้อมูลส่วนนี้ไปวิเคราะห์ด้วยหรือไม่
นายนิพนธ์ ระบุถึงแนวคิดจากนักวิชาการที่เสนอให้คืนข้าวแก่ชาวนา 1.5 เท่า เพื่อชดเชยการจ่ายเงินจำนำข้าวนั้น ตามเงื่อนไขข้าวเปลือกที่จำนำกับโรงสีต้องสีแปรเป็นข้าวสาร ซึ่งหากคืนเป็นข้าวสารก็ทำได้ เพราะมีสูตรการคำนวณ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่าข้าวในโครงการจะไม่เหมือนเดิม และจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าข้าวจากโกดังไหนคุณภาพดี ซึ่งจะทราบกันเฉพาะผู้ใกล้ชิดทางการเมือง แต่หากข้าวทุกโกดังเหมือนกันทั้งหมดก็ไม่ปฏิเสธ
ฉะนั้นจะจ่ายเงินให้ชาวนาได้หรือไม่ ต้องถามว่ารัฐบาลจะนำเงินสดมาจากไหน ฉะนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่หากจะให้ตีความให้ชาวนาที่ได้รับใบประทวนก่อนวันยุบสภา เพราะถือเป็นภาระผูกพันต่อเนื่อง จากการจ่ายเงินให้ 1.5 หมื่นบาท/ตัน เป็นการชดเชยต้นทุนการผลิต ซึ่งมติครม.เดิมในการปลูกข้าวฤดูนาปรังรอบพิเศษ กันยายน-ตุลาคม 2556 เคยมีมติชดเชยต้นทุนการผลิตตันละ 2,100 บาท
“จากที่รัฐบาลเคยหาเงิน 1.5 หมื่นบาท/ตัน มาจ่ายชดเชยต้นทุนการผลิตตันละ 3,000 บาท คาดว่าจากที่จะต้องใช้เงินราว 1.1 แสนล้านบาท เหลือเพียง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยชาวนาให้ได้เงินก่อน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เสียวินัยทางการเงินการคลัง แต่สำหรับใบประทวนที่รับจำนำหลังวันยุบสภาคงไม่มีใครกล้าทำ” อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าว.