ถอดบทเรียนปฏิรูป ดร.เดชรัต ย้ำหากไม่เข้าใจโครงสร้างอำนาจทำไปก็ไร้ความหมาย
ถอดบทเรียนปฏิรูปประเทศไทย ดร.เดชรัต ย้ำหากไม่เข้าใจโครงสร้างอำนาจทำไปก็ไร้ความหมาย ชี้จุดอ่อนเหตุไม่เดินหน้าเพราะขายจินตนาการทางสังคมเชิงรูปธรรมไม่ได้ และเข้าไม่ถึงคนทุกกลุ่ม ด้านเครือข่ายปฏิรูปเปิดโมเดลชวนคนไทยร่วมขับเคลื่อนภายใต้คอนเซปต์ “เชื่อมโยง แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง”
วันที่ 11 ก.พ. 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศ (RNN-Reform Now Network) จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนกระบวนการปฏิรูปของไทยสู่การเดินหน้าปฏิรูป” ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงการปฏิรูปว่า คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งในการปฏิรูปไม่ใช่การวัดจำนวนคนหรือจำนวนตัวแทน เพราะจำนวนคนไม่ใช่โจทย์ของการปฏิรูป และตัวแทนบางคนก็ไม่ใช่ตัวแทนของคนทุกกลุ่ม ดังนั้นหากเรายังให้น้ำหนักไปที่จำนวนหรือปริมาณ การปฏิรูปจะไม่มีความหมาย และจะยิ่งไม่มีความหมายถ้าไม่เข้าใจโครงสร้างของอำนาจ
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงหัวใจของการปฏิรูปที่แท้จริงคือต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ซึ่ง "ปฏิรูป" กับ "การปฏิวัติ" มีความแตกต่างกัน เพราะการปฏิรูปคนที่เสียอำนาจยังอยู่ในสมการของระบอบประชาธิปไตยในขณะที่ ปฏิวัติจะไม่มีที่ยืนอยู่ในสังคม ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนการปฏิรูปทุกคนต้องเข้าใจถึงโครงสร้างอำนาจให้ได้ รวมทั้งต้องสร้างจินตนาการใหม่ให้กับสังคมว่า ความหวังที่อยากให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้นเป็นอย่างไร
“หากถอดบทเรียนของการปฏิรูปที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เรายังไปไม่ถึงการปฏิรูป เนื่องจากยังขายจินตนาการได้ไม่ทั่วถึง คณะกรรมการปฏิรูปเสนอแนวทางไว้หลายอย่าง แต่เมื่อถึงเวลานำเสนอก็นำเสนอได้ไม่ครบ ทำให้ไม่มีการกล่าวถึงและไม่มีการนำไปต่อยอด ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังคือต้องสร้างจินตนาการใหม่ให้กับขึ้นกับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ในขณะนี้เกิดคำถามในสังคมมากมายในเรื่องของการปฏิรูปว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไรและจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งถามว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงต่อเมื่อมีรัฐบาลนอกระบบ แท้จริงแล้วเรายืนยันกันมาตลอดรวมถึงแนวทางหนังสือการปฏิรูปก็ชัดเจนว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย เราไม่ได้เสนอแนวทางให้กับรัฐบาล แต่เราเสนอแนวทางให้กับพรรคการเมืองและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า แม้ภาคประชาชนจะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายที่ฟังแล้วดูเหมือนจะดี ผลสุดท้ายจากหลายปีที่ผ่านมาพบว่า การเข้าชื่อในการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนนั้นต้นทุนการมีส่วนร่วมของประชาชนสูงมาก ทั้งในเรื่องของเวลาและจำนวนในการเข้าชื่อ อีกทั้งประเด็นทุกขั้นตอนของการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนในกระบวนการพิจารณาสามารถหยุดได้หมด ที่สำคัญคืออำนาจฝ่ายสภาไม่เคยเป็นอิสระ หากฝ่ายบริหารไม่เอากฎหมายฉบับไหนกลไกทางรัฐสภาก็ปฏิเสธได้เลย
“สิ่งที่น่าเกลียดมาก คือร่างกฎหมายของประชาชนหากไม่มีร่างรัฐบาลควบคู่ไปด้วย สภาจะไม่พิจารณา ทั้งๆที่ไม่ได้มีข้อกฎหมายใดบังคับ นี่คือปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติของไทย ดังนั้นกระบวนการปฏิรูปอีกอย่างที่เราควรต้องทำคือปฏิรูปฝ่ายนิติบัญญัติ”
ด้านนายปรเมศวร์ มินศิริ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวถึงช่องทางในการร่วมเดินหน้าปฏิรูปว่า คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศได้ เพราะเราคงไม่สามารถเดินหน้าการปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริงหากมีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย ดังนั้นเราจึงต้องสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีกลไกการกระตุ้นเพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง ภายใต้คอนเซปต์ “เชื่อมโยง แบ่งปัน เปลี่ยนแปลง” หรือ Connect Share Change สำหรับการเชื่อมโยงนั้นเราจะมีการจัดกิจกรรมขยายเครือข่าย โดยให้แต่ละพื้นที่ดำเนินกิจกรรมเอง และเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปจะเป็นเพียงผู้สนับสนุนเจ้าของประเด็นและพื้นที่นั้นๆ เพื่อที่จะได้ทราบว่าประเด็นต่างๆที่จะมีการขับเคลื่อนอยู่ส่วนไหนของประเทศ และนำข้อมูลที่ดำเนินการมาใส่ข้อมูลในเว็บไซต์ว่าขณะนี้แต่ละกลุ่ม แต่ละหน่วยงานที่มีการรวมตัวกันไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือผู้ที่มีความเดือนร้อนทำอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อเชื่อมโยงประเด็นปัญหาที่ถูกขับเคลื่อน
นายปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเมื่อข้อมูลถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์ก็จะทำให้เกิดการแบ่งปันและรับรู้และนำมาสู่การสัมมนาร่วมกัน มีการระดมความเห็น หรือการออกแถลงการร่วมกัน หรืออาจจะแบ่งปันจนเกิดการสร้างสภาพลเมืองที่ตื่นตัวร่วมกันมาร่วมกันผลักดันนโยบาย และช่วยกันเผยแพร่กิจกรรมต่างๆผ่านโลกอินเตอร์เน็ตซึ่งเราจะต้องใช้การสื่อสารในช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เมื่อมีการร่วมกันแบ่งปันแล้วก็จะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง โดยการนำความรู้ข้อมูลจากการที่เราได้เชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆในการเรียนรู้ข้อมูลจุดอ่อนจุดแข็ง ทั้งนี้ทุกคนสามารถร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไปพร้อมกันได้โดยเข้าที่เว็บไซต์ www.rnnthailand.com