‘อัมมาร’ ชี้ประชานิยมสุดโต่งต้องแจงสภาฯ กันหายนะเหมือนจำนำข้าว
‘นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน’ ปิดหนทางคืนข้าวชาวนา 1.5 เท่า เชื่อเป็นไปได้ยาก เหตุข้าวเปลือกถูกสีเป็นข้าวสาร-คุณภาพเสื่อม แนะเปลี่ยนจ่ายค่าจำนำเป็นค่าชดเชยต้นทุนการผลิต อดีตรองผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุให้ธ.ก.ส.ออกตราสารหนี้ปล่อยธ.พาณิชย์ซื้อได้ แต่จะนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องหรือไม่ โยนถามแบงก์ชาติอีกที
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดเสวนา ‘ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญและการรักษาการเงินการคลัง’ ณ อาคารรัฐสภา 2
ศ.(พิเศษ) ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือชาวนานั้น ในกรณีการรับจำนำข้าวก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันยุบสภา ถือเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจ่ายเงิน และไม่ขัดต่อมาตรา 181 (3) โดยศาลรัฐธรรมนูญหากมีความใจกว้างพอน่าจะชี้ขาดให้มีการเปลี่ยนเจ้าหนี้จากชาวนาเป็นบุคคลอื่นได้ ส่วนการรับจำนำหลังวันยุบสภานั้นจะต้องหาทางต่อไป แต่ตอนนี้ยังคิดไม่ออก
สำหรับระยะยาวนั้น ศ.(พิเศษ) ดร.อัมมาร กล่าวว่า จะต้องเกิดการปฏิรูประบบการเงินการคลัง โดยหากรัฐบาลมีนโยบายประชานิยมไม่ว่าจะดีหรือไม่ จะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาให้รับรู้เกี่ยวกับการใช้จ่ายและที่มาของเงินดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภามีอำนาจเพิ่มมากขึ้น มิใช่ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลเหมือนปัจจุบัน รวมถึงต้องแก้ไขระบบการติดตามบัญชีด้วย
"ทราบหรือไม่นโยบายรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่โปร่งใสมาก ทุกอย่างมีใบเสร็จ แต่ไม่ถูกนำไปทำบัญชี ดังนั้นจะไม่มีทางรู้ได้ว่าเงินหมดแล้ว และรัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูลและตัวเลข นั่นคือการจงใจที่จะไม่โปร่งใส ราคาที่ขาย ระดับการขายอยู่ในถ้ำที่มืดมิด ถ้าไม่มีไฟฉายติดตัวไป ซึ่งไฟฉายนั้นก็ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าใหญ่นายโต หรืออำมาตย์ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรี" นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการหลักในการเลือกตั้ง ปี 2554 ที่ใช้เงินมากที่สุด เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากที่สุด และมีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทำได้ยากในมิติทางการเงิน เพราะเมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จะเห็นว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่จะผิดมาตรา 181 (3) และอาจจะมีความเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) ด้วย
"หากหันมาแก้ปัญหาในมิติทางการตลาด จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับรัฐบาลรักษาการ ซึ่งการขายข้าวนั้นจะต้องไม่ใช้วิธีขายแบบรัฐต่อรัฐปลอม ๆ ขายผ่านคอขวด หรือขายแบบหน่อมแน้มครั้งละหมื่นตันหรือแสนตัน แต่ต้องเปลี่ยนไปขายแบบวิธีบูมล๊อตใหญ่ ครั้งละ 2 ล้านตัน"
นายธีระชัย กล่าวถึงการขายแบบล๊อตใหญ่ ยอมรับว่าจะกดดันราคาตลาดโลกให้ต่ำลง แต่จะเป็นการชั่วคราว แม้จะทำให้รัฐบาลขาดทุน แต่ก็ถือว่า ได้รับเงินมาจ่ายชาวนา
ส่วนการสำรวจนับสต๊อกข้าวนั้น อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า จะต้องมีการสำรวจนับสต๊อกแบบละเอียด หากข้าวหายต้องมีการดำเนินคดีบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาด หากข้าวเสื่อมสภาพต้องมีการรับความจริงและคำนวณมูลค่าสต๊อกลดลงให้ถูกต้อง
นายธีระชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาในมิติการเมืองด้วยว่า ทำได้ 2 วิธี คือ 1.รัฐบาลรักษาการต้องเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และผลักดันให้มีการเลือกตั้งจบลงโดยเร็ว แต่วิธีนี้เชื่อว่าคงเกิดขึ้นยาก ทั้งนี้หากต้องการให้รวดเร็วที่สุด รัฐบาลรักษาการต้องลาออก เพื่อเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลใหม่นี้ก็จะกู้เงินที่ไม่มีข้อจำกัดเช่นกัน
ขณะที่นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงข้อเสนอจากนักวิชาการให้คืนข้าวแก่ชาวนา 1.5 เท่า ต้องเข้าใจตอนนี้ข้าวเปลือกที่จำนำล้วนถูกสีแปรเป็นข้าวสารแล้ว ซึ่งหากจะคืนเป็นข้าวสารก็ทำได้ โดยคำนวณตามอัตรา แต่จะเกิดคำถามต่อคุณภาพข้าวจะไม่เหมือนเดิม แล้วข้าวจากโกดังไหนคุณภาพดี ซึ่งจะรู้เฉพาะผู้ที่ใกล้ชิดทางการเมืองเท่านั้น
อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เสนอให้รัฐบาลรักษาการเปลี่ยนจากการจ่ายค่าจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน เป็นค่าชดเชยต้นทุนการผลิตตันละ 3,000 บาท แก่ใบประทวนที่จำนำก่อนวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันยุบสภา เพราะถือเป็นนโยบายต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะใช้เงินเพียง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้ได้เงินก่อน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เสียวินัยทางการเงินการคลัง แต่สำหรับใบประทวนที่รับจำนำหลังวันยุบสภาคงไม่มีใครกล้าทำ
ขณะที่ ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาโดยให้ธ.ก.ส.ออกตราสารทางการเงินให้ธนาคารพาณิชย์ซื้อนั้นคิดว่าได้ แต่จะนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และไม่เป็นฐานการคำนวณเงินนำส่งสถาบันประกันเงินฝาก คงต้องสอบถามธนาคารแห่งประเทศไทยอีกที .