"อย่าถามผมเลย พวกผมเดือดร้อนมากขนาดไหน" ฟังเสียงทุกข์ชาวนา เหตุต้องลุกฮือทวงหนี้
เวลานี้ชัดเจนที่สุด นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ค้างชำระค่าข้าวชาวนาอยู่ 1.3 แสนล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องมาแดงหลังประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 มีชาวนาในหลายจังหวัดรวมตัวกันทวงถามเงินจำนำข้าว บ้างมีการปิดถนน มุ่งตรงไปหน้าศาลากลางจังหวัด ขณะที่ชาวนาอีกส่วนค่อยๆ ยกระดับการชุมนุมมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ปิดล้อมปักหลักพักค้างคืนที่กระทรวงพาณิชย์
ขณะที่รัฐบาลเองได้เลือกวิธีซื้อพื้นที่สื่อ โพสต์เฟชบุค หยิบยกข้ออ้างเพื่อมาอธิบายโครงการรับจำนำข้าวมีข้อจำกัดอะไรบ้างหลังยุบสภา โดยเน้นไปที่ความยากลำบากในการหาแหล่งเงินกู้ การเผชิญกับมรสุมทางการเมือง และสอดรับกันกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือแม้กระทั่งนายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มักชี้แจงต่อสาธารณะเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็น สถานะการเป็นรัฐบาลรักษาการทำให้การดำเนินการต่างๆมีข้อจำกัด บางทีก็โทษผู้ชุมนุมกปปส.ไปปิดกระทรวงการคลัง หรือแม้กระทั่งที่ชาวนาไม่ได้เงินจำนำข้าว เพราะกกต.ไม่อนุมัติ เป็นต้น
ล่าสุด นายนิวัฒน์ธำรง ก็ได้ออกมายืนยันว่า รัฐบาลมีหนี้ที่ติดค้างกับชาวนาเพียง1-2 เดือนเท่านั้น ไม่ได้ 4 - 6 เดือนอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ส่วนชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวนั้นก็เป็นแค่คนส่วนน้อย...
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ พูดคุยกับชาวนาตัวจริงเสียงจริง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เขาเหล่านั้นทุกข์ขนาดไหน
"สุทัศน์ หอมหวาน" ชาวนาวัย 54 ปี จากจังหวัดกาญจนบุรี เดินทางมาถึงกระทรวงพาณิชย์พร้อมกับพี่น้องชาวนาที่ประสบปัญหาเดียวกัน แม้เขาจะห้อยนกหวีดติดกายมา แต่เขายืนยันว่า เขาไม่ใช่ชาวนาปลอม เพราะยึดอาชีพนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว
เขาสะท้อนวิกฤติชีวิตนับตั้งแต่เป็นชาวนาให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มอาชีพทำนามา ยุคนี้เป็นยุคที่วิกฤตที่สุดในชีวิต เป็นยุคที่สร้างให้เขามีหนี้สินมากที่สุดเท่าที่เคยมี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ต้องเป็นหนี้นอกระบบเป็นจำนวนเงินสูงเกือบหนึ่งแสนบาทแล้ว
หักลบกลบหนี้กับตัวเลขที่รัฐบาลค้างจ่ายก็ประมาณ 1 แสนกว่าบาท ซึ่งกว่าจะได้เงินค่าจำนำข้าวมา ดูๆแล้วก็แทบจะไม่เหลืออะไรเลย
จากที่ไม่เคยกู้นอกระบบ วันนี้เขาต้องหันพึ่งการกู้หนี้ยืมสิน!!
“อย่าถามผมเลยครับว่า พวกผมเดือดร้อนกันมากขนาดไหน ชาวนาก็เดือดร้อนเหมือนที่ทุกคนเห็นกัน วันนี้แค่เงินจะไปซื้อลูกเป็ดมาเลี้ยงยังไม่มี เพราะฉะนั้นเงินทุนในการทำนาไม่ต้องพูดถึง ทั้งเมล็ดพันธุ์ ค่ายา ค่าปุ๋ย เราไม่มีเงินไปลงทุนเลย”
สุทัศน์ พูดด้วยสีหน้าจริงจัง ก่อนจะพูดด้วยน้ำเสียงดุดันว่า "ถ้าวันนี้รัฐบาลรักษาการยังไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไร ก็อยากจะขอความเห็นใจว่าวันนี้ชาวนาไม่เหลืออะไรแล้ว รัฐบาลช่วยเห็นใจชาวนาในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในประเทศเดียวกัน เอาข้าวเราไปก็ต้องเอาเงินเรามา"
ขณะที่ "กุหลาบ สว่างพื้น" ชาวนาวัย 59 ปี จังหวัดราชบุรี ที่เดินทางมาด้วยเงินส่วนตัวและร่วมปักหลักค้างคืนกับชาวนารายอื่นที่กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่คืนวันที่ 6 กุมภาพันธ์
เธอเล่าถึงความเดือดร้อนจนต้องออกมาเรียกร้องชุมนุมกันกลางถนน กระทั่งเดินทางมาที่กระทรวงพาณิชย์ "รัฐบาลพยายามบอกว่าเดือนพฤศจิกายน 2556 จ่ายไปแล้วบ้างส่วน มีส่วนน้อยที่ยังไม่ได้ ความจริงคือส่วนมากต่างหากที่ยังไม่ได้ บางคนที่ได้ก็ได้ไม่ครบด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำ คือ สัญญาของรัฐบาลก็ไม่เป็นสัญญา เรามาเพื่อที่จะทวงเงินของเราคืน วันนี้ที่นา 33 ไร่ที่ต้องเสียเงินจ่ายไร่ละ 500 บาท ต้องไปกู้นอกระบบมาจ่ายค่าเช่า เจ้าหนี้รายอื่นที่พอผ่อนผันกันได้และเข้าใจก็ถือว่า โชคดีไป แต่ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมากู้มาจ่ายไปแล้วเกือบหนึ่งแสนบาท"
ปัจจุบันนี้ รัฐบาลค้างจ่ายค่าจำนำข้าวเธอเป็นเงินสูงถึง 2 แสนบาท ป้ากุหลาบ พูดไป พร้อมกับโชว์หลักฐานที่เป็นสำเนาใบประทวนให้เราดู และว่า การที่ชาวนาออกมาเรียกร้อง ไม่ใช่เรื่องของการเมืองเลย ดังนั้นรัฐบาลก็ไม่ควรมีข้ออ้างทางการเมืองหรือเรื่องใดๆ มาอ้างกับชาวนาอีกแล้ว
ป้ากุหลาบ บอกว่า ก่อนที่เธอจะเดินทางมาที่นี่ ก็เคยสอบถามไปที่ ธ.ก.ส. มาแล้วว่า เงินที่มีชาวนาบางรายได้รับไปนั้นคือเงินที่รัฐบาลเคยอนุมัติแล้วเหลือค้างไว้ แต่มาวันนี้ไม่มีเงินเหลือแล้ว รัฐบาลก็มาอ้างว่า ไม่มีเงินทั้งๆ ที่เอาข้าวของเราไป ที่ต้องมาเพราะเราอยากได้เงินของเราคืน อยากได้สัญญาที่จริงใจแบบไม่มีการเลื่อนว่า เงินของเราจะได้วันไหน ไม่ว่าจะวิธีแก้ปัญหาแบบไหน ทั้งให้เราเอาข้าวคืน หรือให้เราเอาใบประทวนมากู้กับโรงสีก็ไม่เอา เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหาที่ชาวนาจะต้องแก้ แต่เป็นเรื่องของรัฐบาล
“ถ้ารัฐบาลบอกไม่มีเงินและกู้เงินไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือการเปิดโกดังเอาข้าวของเราออกมาขาย ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เปิดดูซิว่าเป็นยังไง ขายแล้วเอาเงินมาคืนให้ ไม่ต้องมาอ้างอย่างอื่นอีกแล้ว”
จากการพูดคุยกับชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ พบว่า ชาวนาบางรายที่ไม่ถึงขั้นต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพราะมีที่นาบางส่วนเป็นของตัวเอง ขณะที่บางคนเล่าให้ฟังว่า ทำนามาตั้งแต่อายุ 12 ปี ล่วงเลยมาจนถึงอายุ59 ปี ไม่มีครั้งไหนที่ชีวิตของจะตกต่ำเท่านี้มาก่อน
ชาวนา จากจังหวัดกาญจนบุรี อีกรายหนึ่งที่เดินทางมาชุมนุมตั้งแต่วันแรกๆ ใช้วิธีไป-กลับ และพาญาติๆ มารวมชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เล่าให้ฟังว่า แม้ขณะนี้จะมีปัญหาติดขัดเรื่องทุนที่จะนำไปทำนาต่อ แต่ก็ยังโชคดีกว่าชาวนารายอื่นที่เธอไม่ต้องไปกู้ เพราะยังมีเงินเก็บบางส่วนเหลืออยู่ แต่การที่ต้องออกมาเพื่อต้องการเรียกร้องแทนเพื่อนบ้านหลายคนที่ยังไม่ได้เงิน
“อยากให้นายกฯ เห็นใจ ที่มากันออกเงินกันเองทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นพวกใคร แต่เราเดือดร้อนจริงๆ ไม่เดือดร้อนเราไม่ออกมา วันหนึ่งมาเสียเงินวันละ300 บาท ไม่ใช่ว่า มีคนพาเรามาฟรีนะ”
ทั้งนี้เธอบอกถึงยอดหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายสำหรับเธอด้วยว่า นั้นสูงถึง 3 แสนบาท และตอนนี้ก็รอเงินจำนวนนี้มานานถึง 4 เดือนแล้ว
ก่อนจะตั้งความหวัง รัฐบาลจะนำเงินมาจ่ายให้ทันก่อนมีนาคมที่กำลังจะเริ่มทำนาใหม่ เพราะหากไม่ได้เงินก้อนนี้มาเธอคงไม่สามารถเช่าที่นาเพิ่มได้
นอกจากนี้เธอยังบอกด้วยว่า ยังมีชาวนาที่น่าสงสารที่สุดคือมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก จ่ายค่าเทอม เพื่อนบ้านของเธอที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวต้องไปรับจ้างขุดมันฯ นำเงินมาใช้จ่ายประจำวัน และตอนนี้ก็มีไปกู้มาบางส่วนเพื่อจ่ายค่าเทอมให้ลูก
สุดท้ายไม่ว่าเสียงเหล่านี้จะเป็นเพียงเสียงชาวนาส่วนน้อย หรือชาวนาส่วนใหญ่ แต่นี่คือ สุ่มเสียงคำบอกเล่าจากปากชาวนาที่เดือดร้อนจริงๆ เพราะไม่มีเงินเงินไปใช้หนี้ที่กู้มาใช้ล่วงหน้า และกำลังลุกฮือทวงหนี้รัฐบาลอยู่ ณ ขณะนี้