‘ดร.เดชรัต’ แนะใช้ประชาภิวัฒน์รวมเงินช่วยชาวนา ก่อนลุยฟ้องรัฐบาล
‘ดร.เดชรัต’ ระบุปฏิรูปประเทศต้องเดินหน้าควบคู่การเลือกตั้ง เอกชนจี้ยกเครื่องกระบวนการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น ก่อนชาติล่มสลายอีก 10 ปี
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมทางวิชาการ ครั้งที่ 52 สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ เรื่อง ‘เศรษฐกิจและสังคมจะพัฒนาอย่างไรภายใต้ประชาภิวัฒน์’ ณ ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนจนที่สุดมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ล้วนมีชีวิตที่ไม่ดีขึ้นเลย และเมื่อเทียบเคียงสัดส่วนการเข้าถึงรายได้พบกลุ่มคนจนที่สุดตั้งแต่ปี 2545-2554 ได้รับจากการช่วยเหลือของรัฐ เดิมร้อยละ 11 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ขณะที่การพึ่งกำไรสุทธิจากการเกษตร เดิมร้อยละ 18 ลดลงเหลือร้อยละ 14 ส่วนรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน เดิมร้อยละ 37 ลดลงเหลือร้อยละ 32 นั่นแสดงว่าคนกลุ่มนี้ “พึ่งพาตนเองและเกษตรกรรมน้อยลง แต่พึ่งพารัฐมากขึ้น”
ฉะนั้นการประชาภิวัฒน์ด้านเศรษฐกิจ จึงควรให้ประชาชนสามารถจัดการตนเอง แก้ปัญหาต่าง ๆ และสร้างระบบศีลธรรมที่สามารถอยู่รอดได้ในระบบทุนนิยม ขณะเดียวกันจะต้องมีรัฐเพื่อเป็นระบบที่มาหนุนเสริมศีลธรรมของสังคม
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตไปได้ แต่ไปไม่ได้ทั้งหมด อย่างน้อยกลุ่มคนจนที่สุดร้อยละ 20 ก็ไม่ได้มีชีวิตดีขึ้น ที่สำคัญ จะเติบโตไม่ได้นาน ฉะนั้นการจะสร้างเศรษฐกิจในกระแสประชาภิวัฒน์ จึงควรส่งเสริมให้ผู้ที่มีความคิด และจิตนาการใหม่ ทำให้การค้าขายแบบเกษตรกรรมเปลี่ยนไปได้ พร้อมกันนี้ต้องให้เกิดการร่วมทุน/ความร่วมมือ เช่น กองทุนประกันความเสี่ยงภัยด้านราคาสินค้าเกษตร
นอกจากนี้ควรปฏิบัติให้บรรลุผลตามเป้าหมาย อยู่รอดได้ ไม่ขาดทุน ห้ามเกิดประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค และจะต้องเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปฏิบัติและส่งเสริมต่อยอดไปในอนาคต
“กรณีจำนำข้าวยังไม่ได้เงิน หากใบประทวนที่ชาวนาถืออยู่สามารถถือเป็นตั๋วทางการเงินได้ ถ้ารัฐบาลรับประกันว่าจะจ่าย เราก็สามารถระดมเงินทั่วประเทศไปช่วยจ่ายชาวนาให้ก่อน และแปรสภาพเป็นเจ้าหนี้ร่วมกันฟ้องรัฐบาลแทน ซึ่งเป็นการหาทางออกอย่างหนึ่งภายใต้การประชาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ” ดร.เดชรัต กล่าว และว่า ส่วนในระยะยาวจะต้องจัดตั้ง ‘กองทุนประกันความเสี่ยงภัยทางด้านราคาข้าว’ เพื่อชาวนาได้วางแผน แต่กองทุนจะต้องไม่บิดเบือนราคาตลาดเหมือนที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ถือเป็นสิทธิเกษตรกรที่จะตัดสินใจ ซึ่งขยายไปยังพืชเกษตรชนิดอื่นได้ด้วย
ทั้งนี้ ดร.เดชรัต กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้วยว่า การเลือกตั้งจะทำให้การปฏิรูปเป็นที่ยอมรับ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากคนชั้นนำ นักวิชาการ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันการปฏิรูปก็ทำให้การเลือกตั้งมีความหมาย เพราะมิใช่เกี่ยวข้องกับการคะแนนเสียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการลงประชามติในโครงการต่าง ๆ อีก ฉะนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า ไม่ว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูปไม่สำคัญเท่ากับจะนำพาให้ทั้งสองอย่างเดินหน้าไปพร้อมกันอย่างไร
ด้านดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. ที ซี เจ เอเชีย กล่าวว่า ปี 2558 ไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC) หลายประเทศโดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียกำลังกลัวไทย เพราะถูกมองเป็นประเทศแข็งแกร่งเรื่องอุตสาหกรรมและบริการ ส่วนเกษตรกรรมหากเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นก็จะแข็งแกร่งด้วย ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ส่วนตัวจึงคิดว่าไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่
แต่จะเข้มแข็งยาวนานเพียงใดนั้น หากผู้ประกอบการเอกชนและผู้บริหารภาครัฐมีการ ‘ให้’ และ ‘รับ’ ที่ฝังลึกถึงรากจากรัฐบาลกลางสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว โดยถือว่าเป็นตัวบ่อนทำลายชาติในหลายระดับ และไทยคงจะเข้าสู่ ‘ภาวะล่มสลาย’ อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า
“ทุกคนต้องใจแข็ง ไม่ใจอ่อนต่อสิ่งยั่วยุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีเงินมาซื้อเราได้ เชื่อว่าอีก 10 ปี คนรุ่นใหม่จะช่วยสร้างชาติ กลายเป็นประชาภิวัฒน์จากประชาชน แล้วจะไม่เกิดเหตุการณ์น่าสลดเหมือนไทยขณะนี้” ดร.ทรงวุฒิ กล่าว และว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีประสิทธิภาพ เฉียบขาด และรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้ควบคู่กับการพัฒนาด้านเศรษฐศาสตร์ ประเทศจะได้อยู่รอดปลอดภัย .