นักวิชาการ ชี้นโยบายโซลาร์เซลล์ ส่อทุจริตเชิงนโยบาย เล็งยื่นป.ป.ช.สอบ
ดร.ปรีดา วิบูลสวัสดิ์ ชี้นโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่อทุจริตเชิงนโยบาย เผยทำให้คนไทยเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นถึงหน่วยละ 6 บาท เตรียมรวบรวมข้อมูลยื่นป.ป.ช.ตรวจสอบ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงนโยบายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโครงการโซลาร์เซลล์ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่กระทรวงพลังงานประกาศออกมาเป็นนโยบายนั้น สุ่มเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นเชิงนโยบายเป็นอย่างมาก ทั้งนี้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เราทุกคนเสียค่าไฟเพิ่มขึ้นถึงหน่วยละ 6 บาท เป็นพลังงานที่ราคาแพง
"แม้แผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานต้องการเพิ่มปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้า แต่แท้จริงแล้วเราสามารถใช้พลังงานทดแทนอื่นที่ถูกกว่าได้ เช่นพลังงานชีวมวล หรือพลังงานน้ำ ซึ่งในเมืองไทยมีเพียงพออยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งพลังงานลม เนื่องจากพลังงานเหล่านี้มีราคาถูกกว่าพลังงานแสงอาทิตย์"
ศ.ดร.ปรีดา กล่าวถึงพลังงานชีวมวลและพลังงานน้ำเป็นพลังงานที่เราจะนำมาผลิตไฟฟ้าได้นานถึง 15 ปี หากพลังงานเหล่านี้หมดไปสภาพภูมิประเทศบ้านเราก็ยังเหมาะกับพลังงานลมที่สามารถผลิตได้ทั้งปี ดังนั้นในการวางแผนพัฒนานโยบายในด้านพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เราจะนำมาใช้ เนื่องจากพลังงานนี้เป็นพลังงานที่แพงที่สุด
"การที่นโยบายพลังงานแสงอาทิตย์ถูกเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในขณะนี้เป็นการกระทำที่ขาดความรอบคอบ และส่อไปในการทุจริตเชิงนโยบายกับบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นขบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการคอรัปชั่นของวิศวกรบางคน อีกทั้งแผงโซลาเซลล์ใช้เพียงไม่กี่ปีก็พัง"
ศ.ดร.ปรีดา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรากำลังเก็บข้อมูลต่างๆ เพื่อที่จะเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบนโยบายนี้ เพราะเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่มีการคอรัปชั่นสลับซับซ้อนมาก
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การที่รัฐบาลผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบ โดยอ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด และไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานลม พลังงานน้ำ จนมีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เพราะว่ารัฐบาลมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับบริษัทผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์รายใหญ่จากประเทศจีนด้วย