ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง ฟัน “ปู-เพื่อไทย” ปมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ศาล รธน.มีมติด้วยเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง ฟัน “ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย” ปมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่สุจริต ชี้ยังไม่มีมูลเพียงพอ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติด้วยเสียงข้างมาก “ไม่รับคำร้อง” ของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กับนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กรณีที่ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวกได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จากกรณีที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัด อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนอาจทำให้การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ.2557 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม พร้อมขอให้เพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และขอให้ยุบ พท. รวมถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมารบริหาร พท.ทั้งหมด
เนื่องจาก ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ 4 จังหวัด เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และระเบียบ กกต.นั้น กรณีตามคำร้องยังไม่มีมูลที่จะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่ง “ไม่รับคำร้อง” ของนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิก พท.ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ เป็นการล้มล้างการปกครองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
เนื่องจากการชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารงานของรัฐบาล หากมีการกระทำผิดกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ผุ้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กรณีนี้จึงยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำสั่ง “จำหน่ายคำร้อง” กรณีที่ ส.ส.จำนวน 134 คน ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าปชป.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) หรือไม่ ภายหลังกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พรฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 แล้ว ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์สิ้นสุดลง กรณีจึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป