พิษจำนำข้าวลาม ค้างจ่ายค่าเช่าโกดังเกือบปี พาณิชย์พลิกใช้หนี้เป็นข้าวแทน
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทยรับเสียหายหนักจากกรณีรัฐบาลค้างค่าเช่าโกดังข้าว เผย ไม่คิดออกมาเคลื่อนไหว เน้นเจรจาโดยสันติ ระบุไฟเขียวผู้ประกอบการรายใดจะเคลื่อนไหวส่วนตัวไม่ว่ากัน
หลังจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาชาวนาหลายจังหวัดออกมาร่วมตัวกันประท้วงรัฐบาลเนื่องจากการจ่ายค่าข้าวที่เข้าโครงการจำนำข้าวล่าช้าส่งผลให้ชาวนาหลายคนเดือดร้อน นอกจากชาวนาผู้ประกอบการจากโรงสีข้าวได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีค้างค่าเช่าคลังหรือโกดังในการเก็บข้าว
นายมานัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงกรณีที่รัฐบาลค้างค่าเช่าโกดังเก็บข้าวว่า ปกติรัฐบาลจะมีคลังกลางที่เก็บสต๊อกข้าวอยู่แล้ว แต่ก็มีโรงสีบางส่วนร่วมกันสร้างคลังกลางในการเก็บข้าวเพิ่ม ทั้งนี้จำนวนเงินที่นำมาใช้ในการสร้างคลังโกดังเก็บข้าวของผู้ประกอบการแต่ละรายมีจำนวนเงินหลักล้านบาท และหากคำนวณความเสียหายของผู้ประกอบการรวมกันหลายรายถือว่า เสียหายค่อนข้างมาก
"หลังจากที่สร้างคลังโกดังเก็บข้าวแล้วเสร็จ รัฐกลับไม่มีงบประมาณที่จะนำมาจ่ายค่าเช่าโกดัง โดยรัฐไม่ได้จ่ายค่าเช่าโกดังให้โรงสีมาเป็นปีแล้ว"
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สิ่งที่ทางผู้ประกอบการทำตอนนี้คือการทวงถามทางรัฐบาลถึงค่าเช่าที่ค้าง แต่ฝั่งรัฐบาลก็จะบอกกลับมาว่า ไม่มีงบ จนเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาก็การเสนอการจ่ายค่าเช่าด้วยข้าวสารแทน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับโรงสี เนื่องจากงบประมาณในการจ่ายค่าเช่าโกดังไม่มีลงมา หากผู้ประกอบการรายไหนสนใจก็แจ้งความจำนงภายในวันที่ 5 ของแต่ละเดือน ถือเป็นช่องทางการระบายข้าวทางหนึ่งของรัฐบาล โดยไม่ต้องนำงบประมาณที่จะต้องจ่ายค่าเช่าโกดังให้โรงสี นำไปจ่ายให้ชาวนาแทน
นายมานัส กล่าวด้วยว่า กรณีการจ่ายค่าเช่าด้วยข้าวนั้น เมื่อผู้ประกอบการยื่นความจำนงไปที่กระทรวงพาณิชย์แล้ว ข้าวที่จ่ายจะเป็นข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าวในปีเดียวกันโดยให้โรงสีระบุว่าจะมารับข้าวที่โกดังไหน ส่วนการคำนวณจ่ายข้าวในอัตราที่ค้างค่าเช่านั้นจะเป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายในโดยจะอิงราคาตลาดที่กรมการค้าภายในได้สำรวจมา ทั้งนี้ยอมรับว่าจากการค้างค่าเช่าของรัฐบาลส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงสีหลายรายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ผู้สือข่าวถามถึงตัวเลขความเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ปฎิเสธไม่ขอเปิดเผยตัวเลข
และเมื่อถามว่าหากทางเลือกที่รัฐบาลเสนอมามีผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยและรัฐก็ยังคงค้างค่าเช่าต่อไปเรื่อยๆ จะมีการร่วมกลุ่มของผู้ประกอบการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายมานัส กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ไม่อยากที่จะไปสร้างกฎเกณฑ์อะไรมาก เพราะเราไม่ได้อยากจะเลือกว่าเราจะไปฝั่งไหน ไม่อยากถูกมองเชื่อมโยงไปเรื่องการเมือง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงเน้นวิถีของการเจรจาเป็นหลักคงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร
"หากผู้ประกอบการรายใดอยากจะเคลื่อนไหวก็ปล่อยให้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่องค์กรหรือสมาคมคงไม่มีทางออกไปเคลื่อนไหวแน่นอน"
ภาพจาก voice tv