เอนก เหล่าธรรมทัศน์ : อย่าประมาท “ชนชั้นกลางใหม่”
“ผมพยายามจะเข้าใจเขาว่าเป็นเรื่องของ ‘มวลมหา’ มารวมกับ ‘คนชั้นกลาง’ มันเป็นเรื่องที่ใหม่และน่าสนใจ แต่ว่า มันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร มันก็ต้องเกี่ยวข้องกับของเก่าที่เกิดขึ้นแล้ว มันคงไม่ใช่เดินไปได้เองตลอด ดังนั้น พลังใหม่นี้มันจึงจะต้องสัมพันธ์ สนทนา เจรจาต่อรองกับคนที่มีอยู่เดิมให้ได้”
การเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.2557 จะคลี่คลายสถานการณ์ หรือจะสร้างวิกฤตซ้ำ แต่ดูเหมือนจะเป็นอย่างหลัง เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาฟันธง ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะแน่นอน ขณะที่หลายฝ่ายยังมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้งใหญ่ครั้งนี้ว่า จะจบอย่างไร และอีกยาวนานแค่ไหนถึงจะมีรัฐบาลใหม่
“ศ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” นักวิชาการอิสระ กล่าวกับ “ศูนย์ข่าวอิศรา” ว่า การเมืองหลังวันที่ 2 ก.พ.จะเป็นการต่อสู้ฉากใหม่หลังการเลือกตั้งว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น จะถูกจัดการกันอย่างไร และเชื่อว่า ทั้ง กปปส.และพรรคเพื่อไทย คงต้องต่อสู้กันไปอีกระยะยังไม่มีใครแพ้ชนะ แต่ในระยะยาวทั้งสองฝ่าย จะกลับมาคิดกันว่า เป็นเรื่องยากที่จะแพ้หรือชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มันก็คงต้องเข้าสู่การเมืองแบบรอมชอมมากขึ้น
“ในระยะเฉพาะหน้า ทั้งสองฝ่าย ยังไม่มีใครคิดแบบนี้ว่าจะต้องรอมชอมกัน คิดแต่ว่า ใครจะชนะ ใครจะแพ้ คงอีกซักพัก คือ ในระยะปานกลาง และระยะยาว ทั้งคู่คงจะคิดได้และรับข้อที่ถูกต้องของฝ่ายหนึ่งมาพิจารณาแลกเปลี่ยนกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งพูดถูกที่ว่า อย่าเอาสถาบัน มายุ่งกับการเมือง อย่าเอาทหารเข้ามารัฐประหาร อีกฝ่ายก็พูดถูกตรงที่ว่า อย่าเอาทหารเข้ามารัฐประหาร คอรัปชั่นเป็นปัญหาร้ายต่อการเมือง โดยเฉพาะคอรัปชั่นที่โยงไปถึงธุรกิจและครอบครัวตัวเองอย่างเป็นระบบ หรือว่า เรื่องการทำการเมืองที่วนเวียนอยู่ในครอบครัวของตัวเอง เป็นอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยง แม้จะมีคนสนับสนุนก็ตาม เพราะจะทำให้เป็นการเมืองแบบที่ล้มกันมาแล้ว ทุกประเทศ หรือแม้แต่ในเมืองไทย การเมืองแบบถนอม ประภาส ณรงค์ ก็เป็นแบบนี้”
การต่อสู้ครั้งนี้จะขยายตัว เผชิญหน้าเป็นสงครามกลางเมืองหรือไม่ ศ.เอนก เชื่อว่า ไม่น่าเกิดขึ้นเพราะ คนไทยมีประสบการณ์หลีกเลี่ยงความรุนแรงมาหลายปี ต่างฝ่ายก็ต่างทะนุถนอม ไม่ให้เกิดขึ้น และมาถึงขณะนี้ความรุนแรงก็ยังจำกัด ไม่ได้มากมายเหมือนสมัยเหตุการณ์ปี 2553 ก็หวังว่า คนไทยจะยกระดับขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการรักษาความรุนแรงที่จะไม่ขยายวงออกไป
ศ.เอนกมองภาพการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้อย่างน่าสนใจ เขาเห็นว่า แต่ละฉาก แต่ละตอน ไม่เหมือนในทฤษฎีการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเรื่องใหม่
“ทฤษฎีบอกอะไรได้น้อยลง ถ้าไม่คิดทฤษฎีใหม่มาอธิบาย ทฤษฎีใหม่ตอนนี้ เช่น โซเชียลมีเดีย แมสมีเดีย ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเมืองไทย 5 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ละช็อต เต็มไปด้วย เซอร์ไพรส์หมด เกิดการตื่นตัว การก้าวกระโดดทางความคิด มันใช้การชุดความคิดแบบต่อเนื่องจากของเดิมมาอธิบายแทบไม่ได้แล้ว ต้องอธิบายด้วยของใหม่เป็นชุดๆ สิ่งสำคัญ มันมีโซเชียลมิเดียเข้ามา ราคาคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต อะไรมันก็ต่ำลงทำให้คนมีโอกาสใช้ได้มากขึ้น”
ทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” คนกรุงไล่รัฐบาล-คนชนบทตั้งรัฐบาล อันเลื่องลือ ซึ่งอธิบาย ภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 หากนำมาเปรียบเทียบ กับ “มวลมหาประชาชน” ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีฐานเสียงรากหญ้าคนต่างจังหวัดครั้งนี้ยังใช้ได้หรือไม่
ศ.เอนก ให้ข้อสังเกตว่า มันก็เป็นข้อสังเกตในช่วงเวลา 2535 แต่ปัจจุบัน ยังมีคนเอามาใช้มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
“ผมก็ไม่ยืนยันว่า ของผมใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องที่ใครจะดูแล้วเข้าใจอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าผมจำไม่ผิด มันมีการถกเถียงกัน แล้วมีคนบอกว่า ทฤษฎีสองนครานี่ ใช้ไม่ได้แล้ว และก็อ้างจากงานวิจัย ข้อมูลต่างๆมาเยอะ แต่บางท่านก็สรุปว่า สองนครายังใช้ได้ โดยให้ดู ที่คนชั้นกลาง อย่าประมาทเขาว่า หมดแรงแล้ว หรือมองว่า คนมันเปลี่ยนไม่ได้”
ทว่า ปรากฏการณ์นี้ ศ.เอนก สะท้อนว่า วันนี้ คนชั้นล่าง คนรากหญ้า คนจน ไม่ใช่คนส่วนใหญ่แล้ว แต่เปลี่ยนเป็นคนชั้นกลางส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ผมว่า มันเป็นการอธิบายแบบใหม่ และเป็นทฤษฎีใหม่ว่า คนชั้นกลางปัจจุบันไม่ใช่คนส่วนน้อยแล้ว แต่กำลังกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”
เขาขยายความว่า ถ้าดูวิวัฒนาการจาก 14 ต.ค.2516 จนกระทั่งปัจจุบัน ร่วม 40 ปี มีพัฒนาการที่แตกต่างมา กล่าวคือ 14 ต.ค. ยังไม่มี ชนชั้นกลาง มีแต่นิสิต นักศึกษา ซึ่งถ้าจบไปแล้ว มีงานทำก็จะกลายเป็นชนชั้นกลางได้ พอมาถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็เห็นชนชั้นกลางออกมาเดินขบวนอย่างจริงจัง ที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” อันนี้พูดได้เต็มปากว่าเป็นชั้นกลาง เพราะมีอาชีพ มีความมั่นคง การศึกษาพอสมควร และมีความมั่นใจในตัวเอง ถือเป็นชนชั้นกลางรุ่นที่ 1 หมายถึงพ่อแม่ไม่ได้เป็นชนชั้นกลาง แต่ตัวเองเป็นชนชั้นกลาง
เมื่อเข้าสู่ ม็อบมวลมหาประชาชน ปี 2556-2557 ถือเป็นคนชั้นกลางรุ่นที่ 2 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ยังมี คนชั้นกลางรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นรุ่นพ่อแม่เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้มวลมหาประชาชนก็เป็นคนชั้นกลางที่มาจากภาคใต้ด้วย เป็นคนชั้นกลางที่มาจากแรงงานในภาคเกษตร เป็นเจ้าของสวนยาง เรื่อยไปถึง คนชั้นกลางใหม่ในกรุงเทพ เช่น วินมอเตอร์ไซด์ แท็กซี่บางส่วน ซึ่งคนกลุ่มนี้ กำลังเขยิบฐานะผู้ใช้แรงงาน จากลูกจ้าง เป็น เริ่มพออยู่พอกิน เริ่มมีความมั่นใจ มีความคิด
“ที่ผมดูว่า มันเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ คือ ตรงนี้ แต่ก็ขอยืนยันว่า มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นแค่ คนชั้นกลางเท่านั้น ยังมีคนชั้นสูง คนรวย มาปะปนอยู่เป็นพันๆ หรือ ที่มีฐานะพอสมควรก็น่าจะมีหลายหมื่น นอกจากนั้น ผมว่า น่าจะมีพวกตระกูลเก่าแก่แบบที่ คุณตั๊น (จิตภัสร์ กฤดากร ณ อยุธยา) ลงไปเดินเต็มไปหมด และพอขบวนมหาประชาชน จัดให้เป็นเหมือน แฟนซี เฟสติวัล เหมือนการแสดงรื่นเริง บันเทิง ยิ่งกระตุ้นให้ลูกหลานของคนชั้นล่างที่อยู่ในกรุงเทพที่มีการศึกษาและเริ่มมีชีวิตไปร่วมในขบวนม็อบมหาประชาชน”
เขาว่า ในแง่นี้ชี้ว่า ฐานะทางชนชั้นของขบวนม็อบมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 ตั้งแต่คนที่มียังไม่มีชนชั้นที่ชัดเจน คือ เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งยังไม่มีงานทำ ไล่มาเรื่อยๆ จนมีคนชั้นกลางในพฤษภาทมิฬ และ คนชั้นกลางระดับสูง ในมวลมหาประชาชน ขณะเดียวกัน ก็เชื่อว่าก็ยังมีคนรากหญ้าอยู่ มวลมหาประชาชน จึงไม่ใช่การต่อสู้ของ ชนชั้นนำ แค่หยิบมือเดียว หรือว่า อำมาตย์จำนวนน้อยนิด แต่มันเป็น "มวล" ของคนที่มหาศาลลานตาน่าทึ่งเต็มไปหมด
“มันเป็นการรวมกันระหว่างการคิดการเมืองแบบเดิม ว่า ถ้ามันมีมวลมหาอะไรใหญ่โตชุมนุมขี้นมา มันต้องเป็นคนชั้นล่าง ต้องเป็นกรรมกร ชาวนา แต่ครั้งนี้ มันไม่ใช่ ผมก็เลยคิดว่า คนชั้นกลางของเรา ปริมาณมันไม่น้อยแล้ว และก็ขยายตัวขึ้นทุกวัน มันเป็น มวลมหาเหมือนกันที่เยอะ และก็อยู่ในกรุงเทพ ซึ่งถ้าจะมีการชุมนุมมันระดมง่าย ขณะที่ มวลรากหญ้าซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เวลาจะรวมตัวกันแต่ละครั้งใช้เวลาเยอะเหมือนกัน และเมื่อมาอยู่กรุงเทพ ก็ต้องทำงานมีที่อยู่ อยู่ได้ไม่นาน แต่คนชั้นกลางที่อยู่กรุงเทพ บ้านเขาอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เขาก็ทำงานไปด้วยและเลิกงานก็มาชุมนุม”
นักวิชาการผู้นี้ ฝากถึง พรรคการเมือง และทุกฝ่ายให้สนใจคนชั้นกลางให้มาก มิฉะนั้นจะเสียโอกาส และการคิดอะไรที่เกี่ยวกับพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ต้องพยายามมองว่า จะเพิ่มคนชั้นกลางอย่างไร หรือ ช่วยคนยากคน ให้พึ่งตัวเองได้อย่างไร โดยต้องให้เขามีโอกาสเป็นคนชั้นกลางเหมือนกัน
“ที่ผมเห็นมาตลอด คือ ไม่มีใครอยากเป็นรากหญ้าตลอดกาล เขาอยากจะเป็นคนชั้นกลางกันทั้งนั้น แม้แต่ลูกหลานของคนรากหญ้าก็อยากจะขยับตัวเองขึ้นเป็นคนชั้นกลาง ที่มาเรียนหนังสือ มามีอาชีพ ก็อยากมีชีวิต ความเป็นอยู่แบบคนชั้นกลาง
“ฉะนั้น ฝ่ายที่เคยสนใจแต่เรื่องรากหญ้าคงต้องทบทวน ส่วนฝ่ายที่สนใจเรื่องคนชั้นกลางอยู่แล้ว ผมคิดว่า ยังทำโดยสำนึกยังไม่มากนัก ก็ต้องทำให้มันเกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แทนที่จะพูดแค่ว่า เราจะต้องช่วยกันพัฒนาหรือว่า ให้คนหายยากจน มีการศึกษา มันอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้มีคนชั้นกลางมากขึ้น”
ศ.เอนก บอกว่า เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับคนชั้นกลางเพราะว่า ประชาธิปไตยจะมั่นคงและลดความขัดแย้งลงไปได้ คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องมีฐานะความเป็นอยู่ ความคิดที่ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ คนส่วนใหญ่ในสังคม ต้องเป็นคนชั้นกลาง ดังนั้น เราต้องคิดสร้างคนชั้นกลาง หาโอกาสให้คนได้เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งจะทำให้การเมืองแม้จะยังมีความขัดแย้ง แต่มันจะไม่ขัดแย้งแบบรุนแรงมากเหมือนที่เราเห็นครั้งนี้
ถามถึง ปัจจัยที่ทำให้มวลมหาประชาชนดำรงอยู่ได้ ทั้งๆที่การขับเคลื่อนหลายเรื่องกระทบกับสิทธิ์ของประชาชนไม่ว่า การยึดกระทรวง การปิดถนน ศ.เอนก มองว่า การที่ กปปส.สามารถรักษาหลักสันติวิธีไว้ได้ คือ สิ่งสำคัญสุดที่ทำให้การชุมนุมสามารถดำรงอยู่ได้ทุกวันนี้
“เขารักษาวิธีอหิงสา คือ ถ้าจะมีความรุนแรงก็ต้องคนอื่นเป็นคนก่อ ไม่ใช่ กปปส.เป็นคนก่อ และมาถึงตอนนี้ เขาก็ทำได้สำเร็จ รักษาเรื่องนี้เอาไว้ได้ และการเคลื่อนของเขาผมว่า เป็นกระบวนการเรียนรู้ไป และก็ทำอย่างไปเรื่อยๆ ประมวลเหตุการณ์ แต่ละเรื่อง แล้วมาคิดใหม่ ผมว่า เขาไม่มีการวางแผน หรือ มีพิมพ์เขียวมากมาย และไม่มีผู้นำชัดเจนที่สั่งการจากบนลงล่าง มันเป็นกระบวนการที่ช่วยกันนำพาไปข้างหน้า”
มองอย่างไรกับ ปรากฏการณ์ “ชัตดาวน์ กทม.” ยึดกระทรวง ที่คนกรุงไม่ออกมาคัดค้าน ศ.เอนก ตอบว่า
ทุกอย่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฝ่ายชัตดาวน์ก็เรียนรู้ว่า มันชัตดาวน์ได้แค่นี้ และก็ไม่ได้สามารถห้ามคนไม่ให้ไปทำงาน ส่วนการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.มั่นคง ก็ไม่สามารถขวางเขาได้ ตราบใดที่ยังมีคนสนับสนุนกปปส.อยู่มากมาย ฝ่ายรัฐบาลก็ได้เรียนรู้ว่า ยังเอาม็อบไม่อยู่ แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่ได้เพลี้ยงพล้ำมากนัก ทุกอย่างก็ดูกันไป ทดสอบความอดทนของกันและกัน แต่เห็นว่า ส่วนหนึ่งที่สถานการณ์ไม่แรงเพราะทหารก็ดูอยู่แบบไม่ห่างมากนัก และเขาก็พูดชัดเจนว่า เขามีหน้าที่เหมือนไลน์แมน มันจึงช่วยสถานการณ์ได้บ้าง
จุดเปลี่ยนของสถานการณ์ เกมจะจบอย่างไร ศ.เอนก ไม่ขอวิเคราะห์ตรงๆ โดยบอกว่า ต้องดูไปเรื่อยๆ และเข้าใจสถานการณ์ ใช้ความคิดที่มีอยู่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก มันใหม่กว่าทฤษฎี ฉะนั้นทำใจโล่งๆ อย่าดูด้วยความน่ารำคาญหรือเป็นปฏิปักษ์กับความคิดจนเกินไป ทุกอย่างมันก็จะคลี่คลายของมันเอง ทฤษฎีเรื่อง การบังเกิดใหม่ หลังเกิดความโกลาหล อาจจะใช้ได้ แต่จะผุดบังเกิดแบบไหน ไม่มีใครรู้ มันจะไม่เป็นไปตามแบบ ศาสตราจารย์ ก. นายข. ชี้แนะ เดี๋ยวมันก็ผุดขึ้นมาเอง
“ประวัติศาสตร์ ศึกษาได้ แต่อย่าเอามาเพื่อคิดว่า มันจะซ้ำรอย ที่มันไม่ค่อยซ้ำรอย เพราะฐานะทางสังคมของคนมันเปลี่ยนไปเยอะด้วย คนใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น คนเก่าๆ ก็อ่อนกำลังลง และก็มีการท้าทายจากคนกลุ่มใหม่ๆ ทีนี้การเป็นคนกลุ่มใหม่ ก็อย่าทะนงตนหรือประมาทเกินไป เพราะมันจะมีคนกลุ่มใหม่กว่าเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตอนปี 2551-2553 ที่มีม็อบนปช. ก็ดูเป็นของใหม่ ตอนนั้นเขาก็คิดว่า พวกที่ต่อต้านเขา เป็นคนกลุ่มเก่าทั้งหมด สุดท้าย มันก็เกิดอะไรที่มันใหม่กว่าพวกนปช.ขึ้นมาอีก
“ผมพยายามจะเข้าใจเขาว่าเป็นเรื่องของ ‘มวลมหา’ มารวมกับ ‘คนชั้นกลาง’ มันเป็นเรื่องที่ใหม่และน่าสนใจ แต่ว่า มันจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร มันก็ต้องเกี่ยวข้องกับของเก่าที่เกิดขึ้นแล้ว มันคงไม่ใช่เดินไปได้เองตลอด ดังนั้น พลังใหม่นี้มันจึงจะต้องสัมพันธ์ สนทนา เจรจาต่อรองกับคนที่มีอยู่เดิมให้ได้”
ศ.เอนก ฝากไว้ว่า แม้ มวลมหาประชาชน จะมีบทบาทและการขับเคลื่อนของสถานการณ์ขณะนี้ แต่ ก็อย่าประมาทหรือดูเบาคนเสื้อแดง ถ้าเขามีความคิด ก็ต้องเปิดโอกาสและสนับสนุน และเราจะต้องสร้างระบบที่ให้คนชั้นล่างรากหญ้าให้เข้ามาอยู่ในสภามากขึ้น โดยอาจต้องให้โควต้าพิเศษในสภา หรือ ในวุฒิสภา
ภาพประกอบ - เอนก เหล่าธรรมทัศน์ จาก www.matichon.co.th