อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุดเผยคณะกรรมการกฤษฎีกาไร้อำนาจชี้ขาดปมจำนำข้าว ย้ำหากสถาบันการเงินให้กู้ทั้งที่รู้ว่าผู้กู้ไม่มีอำนาจในการทำนิติกรรม เข้าข่ายมีความผิดและอาจถูกฟ้องทางแพ่ง
นายเฉลิมชัย วสีนนท์ อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต นิติกรกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการเปิดให้สถาบันการเงินเข้าประมูลสินเชื่อในโครงการรับ จำนำข้าวของรัฐบาล หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่ารัฐบาลสามารถกู้เงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ในส่วนที่เป็นข้อห้ามของรัฐบาลรักษาการในการอนุมัติงานหรือโครงการที่ส่งผล ผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ในสังคมกำลังเถียงกันว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เป็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนเดียว คือเป็นความเห็นส่วนตัว หรือเป็นขององค์คณะ เรื่องนี้มองว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะถึงอย่างไรเสียคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ใช่องค์กรผู้ชี้ขาดตามกฎหมาย ฉะนั้นแม้จะเป็นความเห็นขององค์คณะ หรือที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกาเลย ก็ไม่ใช่ประเด็นอยู่ดี การกู้เงินในโครงการรับจำนำข้าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาหรือตีความบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ สมมติต่อไปมีผู้ไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าสามารถยื่นได้เพราะปัญหาเกิดขึ้นแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำเนินการของรัฐบาลกระทำไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้น
"หากศาลชี้อย่างนั้น ต่อไปรัฐบาลจะจ่ายเงินแผ่นดินในเรื่องนี้ไม่ได้เลย ออกกฎหมายกู้เงินก็ไม่ได้ ออกเป็นกฎหมายพิเศษก็ไม่ได้ ใช้งบประมาณรายจ่ายก็ไม่ได้ เพราะการกระทำมันไม่ชอบเสียแล้ว" นายเฉลิมชัยซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาศาลปกครองสูงสุด ระบุ
อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ให้กู้ หมายถึงสถาบันการเงินต่างๆ หากคาดได้อยู่แล้วว่าผู้กู้ไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรม ย่อมเข้าข่ายมีความผิดด้วย และจะถูกฟ้องร้องทางแพ่ง ยกตัวอย่างผู้เยาว์ทำนิติกรรมไม่ได้ แต่กลับปล่อยให้ทำนิติกรรม สถาบันการเงินรู้อยู่แล้วว่าทำไม่ได้ แต่ยังไปฝืนทำ ก็ต้องถูกฟ้องร้องทางแพ่ง สำหรับข้าราชการ หากไปฝืนทำ ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข จะโดนดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญาอย่างแน่นอน
"ผมเคยเป็นกรรมการกฤษฎีกา เคยอยู่กรมบัญชีกลาง เคยเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต ทราบเรื่องนี้ดี ฉะนั้นความเห็นของกฤษฎีกาไม่ใช่ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของตัวเลขาธิการเอง ความเห็นขององค์คณะ หรือแม้แต่ที่ประชุมใหญ่ก็ตาม ก็ลองย้อนดูว่ากี่เรื่องแล้วที่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาพอไปถึงศาลแล้ว แพ้ เมื่อก่อนศาลไม่ค่อยกลับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกานะ แต่เดี๋ยวนี้ตั้งใครเข้าไปบ้างก็ลองไปดูก็แล้วกัน ทำไมความเห็นถึงถูกกลับเป็นประจำ"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าท่าทีของรัฐบาลในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นายเฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาลก็คงดึงดันเดินหน้าต่อไป เพราะการจ่ายหรือไม่จ่ายเงินให้กับชาวนามีผลต่อการเลือกตั้งอย่างมาก และรัฐบาลต้องการนำผลการเลือกตั้งไปอ้างความชอบธรรมว่าเป็นรัฐบาลมาจากการ เลือกตั้งเสียงข้างมาก แต่ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินชาวนาไม่ได้ ผ่านเลือกตั้งไปเป็นเดือนแล้วก็ยังจ่ายไม่ได้ ก็จะยิ่งสร้างความเสียหาย และรัฐบาลก็คงอยู่ยาก ฉะนั้นคิดว่ารัฐบาลคงเดินหน้ากู้ต่อไปและจะไม่ลาออก
"รัฐบาลนี้คงไม่ไปด้วยเหตุของการชุมนุม แต่จะไปด้วยกฎหมาย ให้ลาออกเขาก็ไม่ยอมหรอก เพราะถ้าลาออกเขาก็อยู่เมืองไทยไม่ได้ ไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่บริวารเขาอีกเท่าไร รัฐบาลชุดนี้จะไปด้วยคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
นายเฉลิมชัย ยังกล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครง สร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... มูลค่า 2 ล้านล้านบาท หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่ขอก้าวล่วงการพิจารณาของศาล แต่หากเป็นไปตามที่รัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่เป็นเงินแผ่นดิน บอกได้คำเดียวว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบไม่ได้เลย เพราะกฎหมาย สตง.ระบุชัดว่า สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบเงินแผ่นดิน เมื่อไม่เป็นเงินแผ่นดินก็ตรวจสอบไม่ได้
ทั้งนี้สำหรับคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะกล้าชี้หรือไม่ว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่เป็นเงินแผ่นดิน ส่วนเป็นเงินแผ่นดินแล้วต้องจ่ายผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือไม่ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ขอตอบ
ภาพข่าวจากmthai และมหาวิทยาลัยศรีปทุม