10 ปี ทุ่มการศึกษา “บราซิล” พัฒนาแบบก้าวกระโดดแซงหน้าไทย
การศึกษาไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน สสค.ถอดบทเรียน บราซิล พบว่า พัฒนาก้าวกระโดด แซงหน้าไทยระยะเวลา 10 ปี ด้วยระบบข้อมูล "อีเด็ป" ทั้งทุ่มงบฯ แก่ผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะออกนอกระบบ อุดหนุนตรงไปที่ครอบครัวผู้เรียน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้คุณภาพเยาวชน(สสค.) จัดการประชุมเสวนาวิชาการนานาชาติครั้งที่ 7 เรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศบราซิล โดย ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร รองประธาน สสค. คนที่ 2 กล่าวเปิดการเสวนา ณ ห้องประชุมทิวลิป โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.ไกรยศ ภัทรวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. นำเสนอ การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาประสบการณ์จากบราซิล ที่เริ่มต้นพร้อมกับไทยเมื่อปี พ.ศ. 2542 แต่ประเทศบราซิลกลับมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดกว่า 40 คะแนนใน 10 ปี โดยเร็วเป็นอันดับหนึ่งจาก 65 ประเทศที่เข้าร่วมในการประเมินในการทดสอบ PISA (Programme for International Student Assessment หรือโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ ของประเทศสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ)เมื่อปี 2552
เมื่อเปรียบเทียบกับไทย พบว่า บราซิลมีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยที่เคยมีค่าคะแนนเฉลี่ยมากกว่า กลับมีค่าคะแนนเฉลี่ยที่ลดลง ทั้งนี้ บราซิลได้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Basic Education Development Index:IDEB) ในทุกโรงเรียน ที่เรียกว่า "อีเด็ป" เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสถานศึกษา ด้วยการปฏิรูประบบแรงจูงใจและความรับผิดชอบของโรงเรียนและผู้บริหาร ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งไปยังส่วนกลางและท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายและสร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนในการบริหารจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนมุ่งไปยังกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบการศึกษา
ดร.ไกรยศ กล่าวถึงประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการศึกษา 6.7% ของจีดีพี ขณะประเทศบราซิลที่มีประชากรมากว่าถึง 3 เท่า กลับใช้งบประมาณด้านการศึกษาเพียง 5% ของจีดีพีเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน โดยบราซิลได้มีมาตรการในการเพิ่มงบประมาณการศึกษาผ่าน 2 มาตรการ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการการศึกษาด้วยระบบข้อมูล IDEP ในการติดตามการเข้าเรียนและพัฒนาด้านการเรียนรู้ ของนักเรียนเพื่อประเมินผลงานของโรงเรียนทุกๆ 2 ปี และการเพิ่มเงินอุดหนุนโดยตรงต่อผู้เรียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้
ซึ่งมาตรการเพิ่มเงินอุดหนุนในโรงเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 1. เงินอุดหนุนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบ 2. เงินอุดหนุนเงินเดือนครู เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ตามภาวะความยากลำบากของโรงเรียน และ3. เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข โดยอุดหนุนตรงไปที่ครอบครัวผู้เรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวสบับสนุนการศึกษาของลูกหลานจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ขณะที่ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า "อีเด็ป" เป็นการวัดมาตรฐานคล้าย O-Net ของประเทศไทย แต่บราซิลจะมีการจัดระเบียบสัมมโนประชากรเด็กไว้ เพื่อทำเป็นข้อมูลพื้นฐานของเด็กแต่ละคนคล้ายกับการเก็บข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แต่ต่างตรงที่ บราซิลจะมีการส่ง IDEP ให้โรงเรียน และให้โรงเรียนส่งผลการเรียนกลับมา ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมีทั้งข้อมูลจากการสอบ และจำนวนนักเรียนที่ผ่านการสอบเลื่อนชั้นในแต่ละโรงเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลท้องถิ่นมอบรางวัลแก่โรงเรียนที่มีคุณภาพดี และให้งบประมาณพัฒนาสถานศึกษาที่ประสบปัญหาด้านคุณภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ส่วนการปฏิรูปการศึกษาในประเทศบราซิล ดร.วรลักษณ์ กล่าวว่า มีการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางไปสู่ท้องถิ่นในการนำ IDEP ไปเป็นตัวชี้วัดในการออกนโยบาย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับท้องถิ่นมีการทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้น
"แม้บราซิลจะมีการพัฒนาการศึกษาที่ดี แต่ยังมีปัญหาตรงที่ไม่มีหลักสูตรศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย การติดตามประเมินผลนักเรียนรายบุคคลยังไม่จริงจังชัดเจน และการประเมินผลการเรียนยังมีความถี่ไม่เพียงพอ รวมถึงนักเรียนที่ประเมินปีละ 2 ครั้งนั้นไม่ใช่นักเรียนกลุ่มเดิม ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่ประเมินไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ทั้งนี้ ดร.วรลักษณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยเองก็มีจุดที่ต้องพัฒนาอยู่หลายอย่าง คือ นโยบายระดับชาติที่ยังขาดแรงจูงใจในการพัฒนาและนโยบายไม่มีความต่อเนื่อง เรื่องการกระจายอำนาจยังขาดความชัดเจนในเรื่องของภาระหน้าที่ และขาดแรงจูงใจที่ผูกติดระบบความรับผิดชอบในหน้าที่แต่ละระดับ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีข้อดีที่ว่า ครูมีคุณภาพ เพราะไทยมีหลักสูตรศึกษาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และค่าตอบแทนครูค่อนข้างสูง และมีจำนวนชั่วโมงเรียนมากกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงท้าย นางสาวเกศรา อมรวุฒิวร ผู้จัดการโปรแกรมนวัตกรรมการศึกษา สถาบันคีนานแห่งเอเชีย ได้เสนอว่า การศึกษาของไทยนั้นควรจะปรับอีก 2 ด้าน คือ ความถี่ในการสอบวัดผลให้มีในทุกปี เพื่อให้ครูได้มีเครื่องมือในการตรวจสอบว่าเด็กคนไหนมีปัญหา เพื่อให้ครูสามารถยกระดับ วางแผน สามารถพาเด็กให้ไปตลอดรอดฝั่งอย่างทันท่วงที และด้านความละเอียดของเนื้อหาที่ทดสอบ ควรครอบคลุมทุกศาสตร์ความรู้ เพื่อให้สามรถวัดทักษะการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง 2 ด้านที่กล่าวมานี้ เชื่อว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนมีการกระตุ้นเด็กให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่