'เปลี่ยนขั้วอำนาจ VS ใจล่มสลาย' อะไรที่ใช่ ปรากฏการณ์มวลมหาประชาชน
เราคิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ มวลมหาประชาชน ? ไล่ตั้งแต่แนวทางการต่อสู้ ไปจนกระทั่งกิจกรรมบางที่เกิดขึ้นในการต่อสู้ รวมถึงผลสะเทือนที่ตามมาเมื่อการต่อสู้ดำเนินไประยะหนึ่ง
ท่ามกลางบรรยากาศความคิดเห็นที่แตกต่างกัน การคิดไม่เหมือนกัน เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันอาศรมศิลป์ และผู้ปกครองโรงเรียนรุ่งอรุณ เปิดเวที “เรียนรู้ ปรากฏการณ์ มวลมหาประชาชน” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสได้ช่วยกันไตร่ตรอง เรียนรู้ปรากฎการณ์มวลมหาประชาชนด้วยสติ สัมปชัญญะ โดยไม่ถูกแรงกดดันจากสถานการณ์ เหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งความสูญเสียมากดดัน เร้าอารมณ์
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ ไว้อย่างน่าสนใจ ที่เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองทุกวัน คอยตรวจเช็ค ตรวจอุณหภูมิ มีไข้ขึ้นหรือยัง เรามีความดันขึ้นหรือยัง เราต้องกลับมาตรวจดูตัวเอง กำลังคิด หรือกำลังทำอะไรอยู่
สำหรับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ รศ.ประภาภัทร มองว่า ได้สอนเราให้เกิดทักษะใหม่ ทักษะการกลับมารู้จักตัวเองมากขึ้น "เราเข้าขั้นสับสนไหม มีอารมณ์ร่วมกับม็อบหรือไม่ หรือเบื่อ รำคาญ หงุดหงิด ไม่เอาด้วยดีกว่า เป็นไทยเฉยก็ดีแล้ว"
“คนไทยทุกคนอยู่ในโหมดเดียวกัน เริ่มเกิดการตระหนัก เรียนรู้บางอย่างแล้วเราก็หันกลับไปมองสังคม ทำไมมาถึงจุดนี้ได้ ทำไมถึงผ่านเหตุการณ์มาถึงเราได้ มาได้อย่างไร หลุดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมคนไทยถึงได้มีความคิดที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่สุดในโลก
ความแปลกประหลาด ใน 2 ทาง
ทางหนึ่ง คือ ไม่เอาด้วยกับกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ปฏิเสธ ไม่ยอมรับรู้ในความผิด ไม่ดี แปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นพันธุ์ใหม่ของมนุษย์หรือไม่ ?
อีกด้าน เราพบว่า คนไทยมีความอดทนเป็นเลิศ แม้แต่ตัวเราเองไม่รู้ตัว ที่เราสามารถอยู่กับความไม่ชอบมาพากลเป็นเวลานานมาก
จากตอนแรกๆ เราเริ่มตำหนิ โน้นนี่นั่น นี่ก็ไม่ดี โน้นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ใช่ เราก็เป็นคนดี อยากทำอะไรดีๆ แต่ทำไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ทำเรื่องดีๆ ยากมาก เราก็เริ่มหาแพะ โทษ หาว่า เหตุการณ์อะไรทำให้สังคมก้าวผิดพลาดมาถึงขนาดนี้
และเมื่อมองหาไปหามา ก็ไม่เจอ...
ปัจจุบันนี้ รศ.ประภาภัทร บอกว่า หมดยุคแล้ว ที่จะได้คำตอบอะไรมาง่ายๆ หรือได้จากสติปัญญาชุดเดิมๆ หรือไปมองหาจากคนอื่น เรียกร้องจากคนอื่น
“ทุกวันนี้ต้องไปเปิดหนังสือ เพื่อค้นหาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) เกิดขึ้นได้อย่างไร เริ่มสนใจคำนี้ เริ่มมองหาอะไรที่ใช่สักอย่าง เราต้องยอมรับว่า สังคมเราตกอยู่ในสิ่งที่ตรงข้ามกับสัมมาทิฏฐิมาก สังคมไทยเลยไปไม่เป็น ไปไหนก็ไม่ได้ สติปัญญาระดับเดิมเริ่มไม่พอแล้ว จากที่เคยใช้ได้ดีตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ปัจจุบันนี้พาให้เราวนหลงกับความไม่ชอบมาพากล และเราก็อยู่กันได้”
รศ.ประภาภัทร เล่าว่า ได้เริ่มค้นหาสติปัญญาชุดใหม่ ซึ่งก็เปิดไปเจอหนังสือของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านพูดสิ่งที่โดนใจ “ธรรมาธิปไตยไม่มา ก็หาประชาธิปไตยไม่เจอ” โดยพบว่า ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นภาวะของบุคคลภายในของแต่ละคน ของอำนาจการตัดสินใจที่จะกระทำสิ่งต่างๆ บนหลักง่ายๆ 3 ประการ
1. ใช้ปัญญาแยกแยะผิดถูกชั่วดีให้ชัดเจน
2.มีความซื่อสัตย์ สุจริต ทำไปตามปัญญาที่บอกว่า อะไรถูกอะไรควร ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร
และ 3.เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
“พอสถานการณ์สังคมเข้าสู่วิกฤต คนไทยก็ช่วยกัน เช่น กรณีสึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วม พอถึงเหตุการณ์คราวนี้ มันยิ่งใหญ่กว่า สึนามิและน้ำท่วม นั่นคือ เหตุการณ์หัวใจล่มสลายทั้งชาติ จนทำให้คนไทยต้องลุกออกมาช่วยกัน อยากให้ประเทศชาติดีขึ้น เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว”
ขณะที่อาจารย์สุรพล ธรรมร่มดี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพสถาบันอาศรมศิลป์ มองปรากฏการณ์มวลมหาประชาชนแตกต่างไป โดยมองว่า คือการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง ของผู้ที่ยึดกุมอำนาจ งบประมาณ และกลไกทางตำรวจจะต้องถูกเอาออกไป โดยต้องมีผู้กุมอำนาจชุดใหม่เข้ามาแทน
ฉะนั้นเป็นธรรมดาที่ผู้กุมอำนาจเดิม ย่อมต้องขัดขืนต่อสู้แน่นอน ส่วนฝ่ายโค่นรัฐบาลก็ย่อมเพิ่มวิธีการ กลยุทธ์ต่างๆ ที่จะโค่นอำนาจ จนนำไปสู่การปะทะ
“การเปลี่ยนแปลง หรือปรากฏการณ์นี้ที่ผู้คนออกมากันเยอะ อย่าง 14 ตุลาฯ โค่นรัฐบาลถนอม กิตติขจร พฤษภาคม 2535 โค่นรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ ปี 2549 โค่นรัฐบาลทักษิณ มาถึงปัจจุบันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง และทุกครั้งจะตามมาด้วยการตอบโต้การปฏิวัติของประชาชน”
อาจารย์สุรพล เชื่อว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่เรามีชีวิตอยู่ ท่ามกลางความเป็นจริงของสังคม กับสิ่งที่เรียกว่า การปฏิวัติประชาชน และการตอบโต้ของการปฏิวัติประชาชน ซึ่งหากเราเข้าใจตรงนี้ เราก็จะเข้าใจน้ำหนักของปัญหาว่า เรื่องขัดแย้งในครอบครัว เป็นแค่ปรากฏการณ์เล็กๆ เท่านั้น
“ผมอยากชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลถนอม รัฐบาลสุจินดา โดนโค่นไป พวกเขาเป็นข้าราชการระดับสูง การประนีประนอมจึงง่ายกว่ารัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ ด้วยฐานเสียง กำลังคน และด้วยความสามารถในการครอบงำการเลือกตั้ง เขาสามารถกลับมาได้เสมอด้วยกลไกการเลือกตั้ง ฉะนั้นมวลมหาประชาชนกำลังสู้อยู่กับรัฐบาลสามารถกลับมาด้วยกลไกการเลือกตั้งเสมอๆ”
และทันทีที่ข้อเสนอของมวลมหาประชาชน ยกระดับจากพ.ร.บ.นิรโทษฯ เป็นการเปลี่ยนรัฐบาล จึงเป็นเหรียญด้านเดียวกับการไม่เอาสิ่งเก่า และสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา อาจารย์สุรพล ย้ำชัดว่า การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ เป็นการเปลี่ยนแปปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ข้าราชการระดับสูงไม่กี่คน หรือนักการเมือง 300 กว่าคน ปรากฏการณ์แบบนี้ทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปประเทศชัดเจนขึ้นมา กอปรกับมาพ้องกับประชาชนที่เห็นว่า ต้องเปลี่ยนกติกากันขนานใหญ่
“หากเราบอกว่า นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่กลไกปกติ หรือถามว่า เป็นประชาธิปไตยแค่ไหนอย่างไร แล้วจะมีช่องทางไหนที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมได้ เราต้องหามาอธิบาย เพื่อให้ความคิดอ่านอนาคตตามมา”