อดีตกกต.ชี้ 2 ก.พ.ตัวชี้วัดปชช.ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ฝ่ายไหน
'ประพันธ์' ระบุ การเลือกตั้งคือสิทธิและหน้าที่มวลมหาประชาชนไม่ควรขัดขวาง เชื่อเป็นการวัดผล "โหวตโน" บวก "โนโหวต" กับกาเลือกผู้สมัครใครจะชนะ ด้านที่ปรึกษา Human Right Watch จี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าระวังเหตุรุนแรง
วันที่ 30 มกราคม มูลนิธิต่าสว่าง (Insight Foundation) ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน(Friedrich Naumann Foundation) จัดเสวนา ทางออกประเทศไทยในวิกฤติเลือกตั้ง'57 โดยมี Mrs.Katrin Bannach ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิฟรีดิช เนามัน กล่าวเปิดการเสวนา ณ ห้องประชุม Dipak C. Jain ชั้น 1 อาคารศศนิเวศน์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับผิดชอบงานด้านการบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. นี้ ที่ฝ่ายรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อ ขณะที่ทางกกต.เห็นต่างเพราะว่า มีข้อเสีย โดยส่วนตัวเห็นว่า ในเมื่อนายกฯ ไม่เลื่อนการเลือกตั้งแล้ว เราต้องมาจัดการปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างการรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำในแต่ละหน่วย ทำอย่างไรให้เขารู้สึกปลอดภัยและเต็มใจมาปฏิบัติหน้าที่ เพราการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความขัดแย้ง และการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนเรื่องของการที่มีผู้สมัครไม่ครอบทุกเขตการเลือกตั้งนั้นตนถือว่าเป็นเรื่องรองซึ่งสามารถค่อยๆแก้ไขได้หลังจากที่มีการเลือกตั้ง
“จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่มีการขัดขวางไม่ใช้ประชาชนเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งที่การเลือกตั้งเป็นสิทธิและกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของไทย หากใครไม่ไปทำหน้าที่ก็จะเสียสิทธิ อยากฝากไปถึงมวลชนว่าอย่าไปขัดขวางคนที่จะเข้าไปใช้สิทธิ เพราเขาเป็นชาวบ้านเป็นราษฎรเต็มขั้น หากเขาไม่ยอมอาจทำให้เกิดเหตุปะทะกันได้ อีกทั้งขณะนี้คนไทยมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ฝ่ายไหน จึงอยากให้ทุกคนไปใช้สิทธิของตัวเอง อาจทำโดยวิธีการ ‘โหวตโน’ หรือรณรงค์ให้โหวตโนดีกว่าที่จะไปขัดขวางการใช้สิทธิของผู้อื่น เพราะไม่ได้ทำให้เกิดผลดี ประเทศไทยมีประชาธิปไตยมานานกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่อยากให้กลายเป็นตัวตลกในอาเซียน ” นายประพันธ์ กล่าว
นายประพันธ์ กล่าวถึงทางออกของประเทศไทยที่น่าจะเป็นไปได้ คือการให้คู่กรณีทั้ง 2 มาคุยกัน โดยอาศัยคนกลางที่ทั้ง 2 ฝ่ายเคารพนับถือ ซึ่งตนได้เคยเสนอไว้ขณะที่ทำการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า ให้จัดตั้งกรรมการชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้นำเหล่าทัพ ประธานศาลต่างๆ เพื่อมาเป็นคนกลางในการเจรจาหากประเทศมีวิกฤติโดยให้มีอำนาจตามกฎหมายแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับไว้
ด้านนายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Right Watchประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งท่ามกลางวิกฤติที่รุนแรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประเทศไทย และการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มกระทำการขัดขวางการเลือกตั้งของคนที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถือว่าเป็นการก้าวล่วงการแสดงออกอย่างสันติตามระบอบประชาธิปไตยและตามหลักปฏิญญาสากลระหว่างประเทศ ซึ่งในสังคมที่มีคนเห็นต่างกันมากมายนั้น การเลือกตั้งเป็นช่องทางที่สามารถแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างได้อย่างสันติโดยไม่ต้องจับอาวุธมาสู้กัน
"ในเรื่องความรุนแรงที่ เป็นวาระเร่งด่วนที่ Human Right Watch ได้มีข้อเรียกร้องไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่ายและรัฐบาลให้ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งความรุนแรงทางกายภาพที่มีความผิดตามกฎหมาย และความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ อย่างการใช้คำพูดเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างสันติไม่ได้หากยังมีความรุนแรง"
นายสุณัย กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเทศกิจก็ควรดูแลรักษาความสงบอย่างเข้มงวดโดยไม่ใช้ความรุนแรง และให้มีการการจัดตั้งด่านสกัดอาวุธที่จะเข้าไปในจุดเลือกตั้ง รวมถึงการเข้าไปเจรจาห้ามปราม ซึ่งสิ่งที่เราเรียกร้องเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยและการรักษาความปลอดภัย หลังจากที่เกิดเหตุรุนแรงในวันเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในหน่วยเลือกตั้งมิได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม
ด้านดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีอาการเบื่อการเมือง ทั้งคนที่เห็นว่า เบื่อแล้วเข้ามาจัดการโดยการชุมนุมประท้วง กับคนที่เบื่อแล้วเห็นว่า ถ้าเข้ามาจัดการแล้วเชื่อว่าจะไม่เกิดประโยชน์เขาก็จะไม่มีส่วนร่วม และบางคนก็ไม่สนใจไปเลย
"วิกฤตินี้ทางวิชาการอธิบายว่า จะมาถึงจุดจบของเหตุการณ์หรือยัง จากการทำงานวิจัยทางการเมืองนั้นจะเห็นว่า การเมืองจะต้องมีผู้เล่น สถาบัน กติกา และประชาชน ไม่ว่าใครมาเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ย่อมมีคนต่อต้านเช่นกัน จากการศึกษาพฤติกรรมของ ส.ส.ในเมืองไทยจะเห็นว่า การทำงานและพฤติกรรมจะเปลี่ยนไปตามสถานะของพรรคว่า เป็นรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ตัวอย่าง สมัยที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าประชุมสภาฯ น้อยมากมีสถิติว่า ไม่ถึงครึ่ง แต่พอมาสมัยที่พรรคตนเองเป็นฝ่ายรัฐบาลกลับเข้าประชุมสภาฯ กันอย่างขยันขันแข็ง"
ทั้งนี้ ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาปัจจุบันนี้คือการนำคำว่า คนดีเข้าไปอยู่ในการเมือง ซึ่งการมองความดีของแต่ละคนแตกต่างกัน อยู่ที่ทัศนคติและมุมมองของแต่ละคน ที่มีชุดความรู้และความคิดที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่ควรกีดกันคนที่เห็นต่าง โดยการไม่ไปกำหนดว่าใครบ้างควรมีส่วนร่วมทางการเมือง การเลือกตั้งยังไปเพียงพอต่อความเป็นประชาธิปไตยหากเป็นการไปเลือกเพราะถูกบังคับ เพราะบางคนยังไม่ทราบชื่อผู้สมัครที่ตนเองเลือกด้วยซ้ำ