เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เรียกร้องคู่ขัดแย้ง "หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป"
เปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป รวมรวบภาคีกว่า 60 องค์กร ปฏิบัติการปฏิรูปด่วนใน 3 เรื่อง “การเมือง-กระจายอำนาจ-ต้านคอร์รัปชั่น” เชื่อคือต้นทางช่วยปฏิรูปเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นง่าย
วันที่ 30 มกราคม 2557 ณ ห้องกมลทิพย์ ชั้น2 โรงแรมเดอะ สุโกศล “องค์กรวิชาชีพ” ทุกภาคส่วนกว่า “ 60 องค์กร” ได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ ภาคประชาสังคม ภาคข้าราชการ สื่อมวลชน แถลงข่าวเปิดตัว “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” (Reform Now Network) เพื่อเรียกร้องคู่ขัดแย้งใน 3 ประเด็น ได้แก่ ขอให้ "หยุดความรุนแรง เริ่มการเจรจา เดินหน้าปฏิรูป"
สำหรับตัวแทนองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วม ประกอบด้วย ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตกรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และปลัดกระทรวงยุติธรรม ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักสันติวิธี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสมัชชาเกษตรกรแห่งชาติ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณะสุขแห่งชาติ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น
ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าและออกจากความขัดแย้งได้นั้น การปฏิรูปประเทศไทยสำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดร่วมของทุกฝ่าย โดยจุดที่ต้องมารวมตัวกัน เพราะความขัดแย้งเริ่มนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง มองเป็นพวกเขาพวกเราอย่างมาก อาจทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไม่มีมาก่อนในบ้านเมือง ดังนั้นกระแสแบบนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย จำเป็นต้องปฏิรูปทันที เป็นวาระของประชาชน โดยประชาชนมีส่วนร่วม
ด้านศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงภาควิชาการที่มีความเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา ทปอ.ก็ออกแถลงการณ์มาเป็นระยะๆ
“เรามองเห็นว่า ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมาร่วมกันหาทางออกร่วมกัน ถึงแม้จะเห็นแตกต่างกันก็ตาม แต่เรามีจุดร่วมเดียวกัน คือ ผลประโยชน์ของประเทศ” ประธาน ทปอ. กล่าว และว่า ทปอ.ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดมั่นในสันติวิธี และยึดมั่นการปฏิรูปประเทศไทย จึงพร้อมร่วมเป็นเครือข่ายรวมพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยไม่สามารถละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปได้
ส่วนดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงโจทย์ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน คือ 1.เรื่องการปฏิรูปการเมือง ทั้งการเข้าสู่อำนาจ และการกำกับการใช้อำนาจ 2.กระจายอำนาจ และ3.การต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่ง 3 เรื่องนี้คือต้นทางของการช่วยให้การปฏิรูปเรื่องอื่นๆ เกิดขึ้นได้โดยง่าย หากเริ่มต้นทำก่อน
“แม้วันนี้ยังไม่มีบรรยากาศการเดินหน้าปฏิรูป แต่ทางเครือข่ายฯ ได้ชวนคนที่เคยทำงานปฏิรูปก่อตัว และปฏิบัติการเลย ชวนคุยปฏิรูปใน 3 เรื่องดังกล่าว โดยไม่รอการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ”
ขณะที่ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะทำให้บ้านเมืองไม่มีทางออก ทางไปข้างหน้า ดังนั้นข้อเสนอของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ก็เพื่อหยุดความรุนแรง พร้อมกันนี้ เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ความขัดแย้งก็ยังไม่หยุด ฉะนั้นการพูดคุย เจรจา และเดินหน้าปฏิรูปจึงเงื่อนไขสำคัญในระยะยาว
นายประพัฒน์ กล่าวถึงความขัดแย้งทางเมือง ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง จึงควรหยุดความรุนแรง นั่งเจรจา และมานั่งคุยเรื่องปฏิรูปประเทศไทยกัน พร้อมกันนี้ได้ขอให้คนไทยลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น เป็นเรื่องระยะยาว จะเกิดได้หรือไม่ท่ามกลางความขัดแย้งคงไม่ง่าย แต่หากความต้องการเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้น ก็ควรได้รับการสานต่อ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมพลังประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่รอให้ผู้มีอำนาจ หรือรัฐบาลรับไปทำ
สุดท้ายนางปิยะมาน กล่าวถึงปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ จำเป็นต้องมีการปฏิรูป เพราะเดินมาถึงทางตันแล้ว จำเป็นต้องลดความรุนแรงก่อน มาคุยกันเจรจากันในฐานะคนไทยด้วย พร้อมเสนอให้หยุดพูดเรื่องกฎหมายไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” ออกแถลงการณ์ ดังนี้
1.หยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้าและการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนและมีผู้มีความเห็นต่าง โดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป และประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง
2.เริ่มต้นเจรจาเพื่อหาทางออกประเทศ เพราะไม่มีความขัดแย้งใดในโลกที่หาทางออกได้โดยปราศจากการเจรจา ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าไปได้หรือไม่ก็ตาม คู่ความขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไก องค์กร ที่มาของตัวแทนจากประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม
3.เดินหน้าปฏิรูปทันที ปกป้องวาระการปฏิรูปประเทศมิให้ถูกลดความสำคัญลงภายใต้บรรยากาศการเผชิญหน้าของฝ่ายต่างๆ และมิให้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศถูกซุกไว้ใต้พรม และสูญเสียโอกาสของความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนและความเห็นพ้องร่วมกันเองการปฏิรูป
รวมถึงอาสาร่วมสร้าง "เวทีกลาง-พื้นที่การมีส่วนร่วม" เพื่อให้ทุกฝ่ายนำเสนอความคิดเห็นแลกเปลี่ยน เพื่อรวบรวมประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูป โดยไม่รวมศูนย์ รวบอำนาจ
-
file download