นิธิ : ผู้ก่อการชายแดนใต้ไม่เห็นด้วยเลือกตั้ง แต่ไม่ขวางคนใช้สิทธิ์!
ประเด็นถกเถียงเรื่องควรมีเลือกตั้งหรือไม่มีเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 ลุกลามไปทั่วประเทศจริงๆ แม้แต่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบ
ที่ผ่านมาทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เคยมีข่าวครึกโครมที่ผู้คนทั่วไปต่างให้ความสนใจ นั่นก็คือการรวมกลุ่มกันของฝ่าย "ไม่เอารัฐบาล" จนเป็นความเคลื่อนไหวในนาม กปปส.จังหวัด (เครือข่ายของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : กปปส.) เพื่อรณรงค์ "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" โดยบางจังหวัดมีการจัดชุมนุมต่อเนื่องยาวนาน เช่น ยะลา และมีผู้ชุมนุมบางส่วนขึ้นไปเคลื่อนไหวร่วมกับ กปปส.ใหญ่ที่กรุงเทพฯด้วย
แต่ความเคลื่อนไหวเงียบๆ อีกด้านหนึ่งก็คือ กลุ่มคนอีกจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาสังคมก็ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้ ดังเช่นเวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ (สปต.) Southern Democracy Forum (SDF) ร่วมกับมูลนิธิศักยภาพชุมชน ที่จัดเสวนาหัวข้อ "อนาคตปาตานีหลังการเลือกตั้ง" ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีนักวิชาการจากส่วนกลางและชายแดนใต้ร่วมเสนอมุมมองต่อเหตุการณ์บ้านเมือง และต่อสถานการณ์ในพื้นที่
เปลี่ยนผ่าน-ยัดเยียดความเป็นไทย
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ปาฐกถาเรื่อง "ทำไมจึงต้องมีประชาธิปไตย" โดยระบุตอนหนึ่งว่า "เมื่อถามว่าทำไมต้องมีหรือเป็นประชาธิปไตย จริงๆ เราเป็นช้าไป ไม่ใช่มาเป็นเอาตอนนี้ เราจำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยให้เร็ว ไม่เช่นนั้นจะสายเกินไปจนแก้ยากขึ้น
ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่สถาปนาระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในกลางรัชสมัย ก่อนหน้านั้นเป็นระบอบราชาธิราชที่กษัตริย์พระองค์เดียวมีอำนาจเหนือกษัตริย์องค์อื่นๆ แต่ในประเทศที่จะเป็นรัฐรวมศูนย์สมัยใหม่ต้องผ่านช่วงหนึ่งของรัฐที่จะเกิดรัฐสมบูรณ์ก่อนก้าวข้ามไปสู่รัฐสมัยใหม่ที่มีอำนาจรวมศูนย์เป็นปึกแผ่น
การเกิดขึ้นของรัฐสยามทำให้มีขอบเขตที่แน่นอน มีการสร้างระบบราชการส่วนกลาง แต่ความต่างของความเป็นรัฐชาติและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างกันนิดเดียว คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ ถือว่าเป็นของกษัตริย์ เป็นรัฐราชสมบัติ ขณะที่รัฐชาติยอมรับว่าประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ จุดนี้ที่มีปัญหาความลักลั่นขึ้น
ความลักลั่นมี 2 อย่างที่ตกทอดมาจนทุกวันนี้ คือ หนึ่ง ไทยเป็นรัฐที่เน้นเรื่องช่วงชั้นทางสังคม สังคมไทยยังยึดถือเคร่งครัด มีเส้นคั่นในความเป็นเจ้า มีชนชั้นระหว่างเจ้ากับสามัญชน ยังมีชนชั้นของคนที่ถูกทำให้เป็นไทยมากหรือน้อย ที่ผ่านมาคนที่พูดภาษาไทยกลางมีไม่มาก ความเป็นไทยจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องสร้างขึ้น มีคนที่ไม่ถูกทำให้เป็นไทยเยอะมากในสังคมไทย คือคนที่เป็นพลเมืองชั้นสอง จึงต้องพยายามปรับตัว เช่น คนจีนพยายามปรับตัวเป็นข้าราชการ มีกลุ่มที่ไม่ปรับตัว คือกลุ่มมลายูที่ใช้อัตลักษณ์ต่อรองทางการเมืองได้ มีสิทธิ์ในดินแดนเท่ากับคนอื่นๆ สร้างอัตลักษณ์ที่มีความหมายกับรัฐไทย
มีบางเรื่องที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดให้ เช่น คำเรียกว่าไทยมุสลิม แต่ไทยทำไม่สำเร็จในการทำให้คนรู้สึกว่าเป็นไทย เพราะพยายามรักษาความเป็นช่วงชั้นทางสังคม นั่นคือความลักลั่นข้อหนึ่ง
มรดกความลักลั่น...มองคนไม่เท่ากัน
ความลักกลั่นยังไม่หมด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 (วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย) เป็นครั้งแรกที่มีการยอมรับว่าประเทศไทยเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน ความเป็นชาติจะเป็นไม่ได้หากไม่ยอมรับว่าชาติเป็นของทุกคน คณะราษฎร (คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ต้องการให้ประเทศสร้างชาติไทยและเป็นรัฐประชาธิปไตยด้วย แต่ไม่สามารถบังคับอำนาจที่มีอยู่จริง กลับไปรับสังคมที่มีช่วงชนชั้นกับการรวมศูนย์ของประเทศสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อย้อนดูประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ จะพบว่าปัญญาชนที่สืบทอดมาจากผู้ปกครองและสามัญชนกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในกรุงเทพฯมาก ชนชั้นนำอยากเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะคิดว่าคือวิธีการแก้ปัญหา แต่ก็ถูกครอบงำโดยฝ่ายทหาร มุสลิมในพื้นที่ต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เปิดเวทีให้เข้ามากำหนดชะตาชีวิตของเขาได้จริง แม้เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ประเทศก็ไม่ได้พัฒนาความเป็นชาติแท้จริงได้ เพราะความลักลั่นของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมาจนทุกวันนี้ และกลายเป็นการไม่ยอมรับความเท่าเทียม ยังมีคนพูดว่าคนไม่เท่าเทียมกัน หรือพูดถึงคนมลายูเหมือนคนมาอยู่อาศัย ไม่ใช่เป็นเจ้าของชาติ
หลังปี พ.ศ.2510 ความเป็นอันเดียวกันของชาติก็ยังมีน้อย มีจุดที่รัฐก้าวไปไม่ถึงเยอะมาก อย่างเพลงผู้ใหญ่ลี สะท้อนความห่างไกลของเมืองที่เป็นรัฐกับชนบท ระยะทางของรัฐกับชีวิตจริง
ต่อมาเกิดคนงานคอปกขาว (white collar workers หมายถึงคนทำงานสำนักงาน หรือคนชั้นกลางรุ่นใหม่ : อธิบายความหมายโดยกองบรรณาธิการศูนย์ข่าวอิศรา) ขยายตัวขึ้นมาก กระทบในเขตเมืองกรงเทพฯมากที่สุด เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 การแข็งขืนอำนาจของคนคอปกขาวที่มีการศึกษาในเมืองร่วมกับชนชั้นล่างในเมืองที่ไม่สามารถอยู่ในระบบเผด็จการทหารได้อีก กลุ่มชนชั้นนำเปิดโอกาสมากขึ้น คนเหล่านั้นเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหลังป่าแตก พรรคคอมมิวนิสต์สลายตัวไปโดยไม่ได้สัมพันธ์กับคนชนบทมากนัก
ความเปลี่ยนแปลงต่อชนบทเริ่มจริงจังเมื่อปี พ.ศ.2530 รัฐบาลรู้สึกมีสัมพันธ์กับคนชนบทมากขึ้น ทุกรัฐบาลลงทุนในภาคชนบทสูงรวมทั้งการจำนำข้าวด้วย อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี (2523-2531) อยากให้ทุกหมู่บ้านในประเทศมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เกิดการขยายตัวของการบริโภค แต่ยังมีความแตกต่างของรายได้ เชื่อมโยงมาจนถึงปี พ.ศ.2540 เกิดการพังทลายของเศรษฐกิจภาคเมือง กระทบกับชนบทสูงมาก แต่ไทยอยู่รอดมาได้
หลังปี 40 เปลี่ยนผ่านอีกครั้ง
ตั้งแต่ปี 2540 ชาวนาที่ทำนาเลี้ยงตัวเองไม่มีแล้ว เมืองไทยในฝันหายไปแล้ว เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก รายได้สำคัญของครัวเรือนไทยไม่ได้มาจากภาคการเกษตร ชีวิตคนในเมืองและชนบทเริ่มเหมือนกัน การสื่อสาร การคมนาคม และการศึกษามีมาก 90% ของครอบครัวไทยมีทีวีดู ชาวบ้านเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตแล้วลือกันต่อ กระจายข่าวสารได้ดีมาก เปลี่ยนสภาพสังคมไทยไปมาก
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง พรรคการเมืองไม่อยากปรับตัวตามเพราะมีฐานคะแนนเดิมอยู่แล้ว พรรคใหม่ต้องมองหาคะแนนเสียงให้ตัวเอง พรรคไทยรักไทยมองเห็นเรื่องนี้ก่อนพรรคอื่น และขายนโยบายแก่คนหน้าใหม่ (คนชั้นกลางใหม่ในชนบท : ขยายความโดยกองบรรณาธิการฯ)
มีงานวิจัยว่ารายได้ของคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมอยู่ที่ประมาณ 12,000-13,000 บาทต่อเดือน เป็นคนชั้นกลางระดับล่างใหม่มีความต้องการ 3 อย่าง คือ 1.สุขภาพที่ดี 2.ให้ลูกมีการศึกษาที่ดี พร้อมลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก และ 3.ต้องการเข้าถึงเงินกู้ พรรคไทยรักไทยตอบสนองเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่อง 1 ทุน 1 อำเภอ และกองทุนหมู่บ้านละล้าน เป็นโครงการที่ได้ผลถึงมือคนที่ต้องการ เป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อเสียงชนิดใหม่ที่กำลังกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ การซื้อเสียงในเมืองไทยลดลง ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้เป็น ส.ส.อีกแล้ว
ดูการเลือกตั้งมา 5 ปี พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนปรับตัวตลอด ถ้าอย่าไปขวางการเลือกตั้งก็จะพัฒนาขึ้น การไม่มีรัฐประหารทำให้มีการพัฒนาอย่างน่าสนใจ ความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทย คือ ทำไมคนไทยจึงทนกับความแตกต่างได้ สิ่งที่ทำให้ทนได้คืออุดมการณ์สังคมสงเคราะห์ เป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เดือดร้อนก็มาช่วยกัน
ด้านมานุษยวิทยาคือการรวมทรัพย์และกระจายทรัพย์ไปยังคนที่ขาดทรัพย์ ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยบวกกับนโยบายประชานิยมน่าตกใจมาก เป็นครั้งแรกที่เขาบอกประชาชนว่าทรัพยากรในประเทศเราสามารถเข้าถึงได้กับการต่อรองทางการเมือง เป็นสิทธิของชาติเท่ากัน เป็นประชาธิปไตยครั้งแรกในประเทศไทย คนชั้นล่างเข้าถึงทรัพยากรได้เป็นครั้งแรก และทำไมชนชั้นนำไม่รับว่าเป็นสิทธิของพลเมืองทุกคน จะดูถูกคนชนบททำไม กีดกันทางการเมืองทำไม
เคารพกติกา...ป้องกันความขัดแย้ง
เวลานี้เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของสังคม คือสังคมไทยมีความวุ่นวายไม่ให้สังคมเปลี่ยนกับเปลี่ยนไปแล้ว เกิดสังคมที่ปะทะกัน อย่าไปมัววิตกกังวลกับความขัดแย้งในสังคมที่เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ต้องก้าวต่อคือ จะมีกติกาแก้ความขัดแย้งให้อยู่กันได้อย่างไร อย่าใช้อำนาจเถื่อนหยามคนอื่น กีดกันไม่ให้ไปเลือกตั้ง เป็นการทำเกินกติกา ทั้งที่กลุ่มผู้ก่อการในชายแดนใต้ก็ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ไปแตะคนที่ไปเลือกตั้ง
การรักษากติกาเป็นเรื่องสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงของไทยนำไปสู่ระบอบเผด็จการเต็มตัวหรือประชาธิปไตยที่ดีก็ได้ อยู่ที่สังคมไทยอยากใช้กติกาไปทางไหน ถ้าเราเชื่อระบบนี้ต้องไปเลือกตั้ง เป็นการเลือกอนาคตของบ้านเมือง สามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันกับคนอื่น เลือกระบอบไม่ใช่เลือกพรรค
เวลานี้ผมถูกมองว่าเป็นคนกระหายเลือด การรักษารัฐเป็นสิ่งสำคัญ เป็นพาหะ ถ้าไม่มีจะมีประชาธิปไตยได้อย่างไร รักษาอย่างไรให้เสียเลือดเนื้อน้อยที่สุด รัฐบาลรักษาการก็ไม่ขยับอะไร ดูเหมือนมานั่งดูมหรสพ"
ประชาธิปไตยในพื้นที่ขัดแย้ง
ในงานเดียวกันยังมีวงเสวนา "อนาคตปาตานีหลังเลือกตั้ง" โดยนักวิชาการจากหลากหลายสถาบัน...
อาจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เล่าถึงงานวิจัยของตนเองที่มุ่งศึกษาประชาธิปไตยในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ โดยแบ่งปัญญาชนมุสลิมได้ 3 ยุคผ่านงานเขียน 16 ชิ้น คือ
ยุคแรก ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มีงานเขียนถึงความเคลื่อนไหวของการเมือง ลุงแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี เข้าร่วมในคณะราษฎร สายราษฎร และสัมพันธ์กับ ฮัจยีสุหลงด้วย นายปรีดี พนมยงค์ (อดีตนายกฯ และหนึ่งในคณะราษฎร) ได้มาเปิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกในปัตตานี มีความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยอย่างมาก ตระกูลโต๊ะมีนาเข้าสู่การเลือกตั้งได้คะแนนสูงสุดในปัตตานี ในพื้นที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ชี้ชัดว่าเป็นการตอบสนองต่อประชาธิปไตยระบบใหม่
ยุคสอง หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (เหตุการณ์ 911 ที่สหรัฐถูกโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) มีการดีเบตเกี่ยวกับการก่อการร้ายว่าเป็นมุสลิม ปัญญาชนมุสลิมหลายคนจึงลุกขึ้นมาเขียนงานอธิบายว่าบริบทการเมืองเป็นวาระสำคัญ การเลือกตั้งเป็นตัวแทนของการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของมุสลิม
ยุคสาม หลังจากปี พ.ศ.2547 มีงานเขียนเกี่ยวกับชายแดนใต้ออกมาเยอะมาก แต่แปลกที่ว่ามีงานวิจัยที่พูดถึงประชาธิปไตยและปัตตานีน้อยมาก ทั้งที่ความจริงมีความสำคัญ
"เป็นที่ชี้ชัดว่าปัญญาชนมุสลิมที่เขียนงานต่างๆ ให้น้ำหนักเรื่องการเมืองไทย คนส่วนใหญ่คิดถึงประชาธิปไตยแบบเข้ากันได้ ประนีประนอม ใช้โอกาสอธิบายและพิทักษ์สิทธิ์ของตนเอง เรื่องสำคัญคือประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ไม่ใช้ความรุนแรงของคนชายแดนใต้ ข้อค้นพบคือการเลือกตั้งท้องถิ่น ใครที่ใกล้ชิดพรรคไทยรักไทยจะถูกปฏิเสธ ตัวแทน อบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวั) อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) จะไม่พยายามใกล้ชิดพรรคการเมืองใหญ่ นโยบายของพรรคการเมืองถูกปรับเปลี่ยนไปกับอัตลักษณ์ของคนที่นี่ ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่"
"การเลือกตั้งเป็นช่องทางให้ตอบสนองในสิ่งที่คนต้องการ การเลือกตั้งคืออนาคตประเทศ ไม่ว่าทิศทางจะออกมาแบบใด แม้จะมีเขตปกครองพิเศษก็ต้องมีการเลือกตั้ง และไม่แน่เสมอไปว่าคนมุสลิมที่ลงเลือกตั้งแล้วจะได้เป็นตัวแทน อย่างเช่น จ.สตูล ที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่นายก อบจ.เป็นคนจีน"
อาจารย์เอกรินทร์ กล่าวตอนท้ายว่า การเลือกตั้งจะปกป้องสิทธิ์ของคนส่วนน้อยในพื้นที่ การเลือกตั้งระดับชาติมีผลต่อท้องถิ่นแน่นอน ผลของการพยายามล้มการเลือกตั้งจะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปในท้องถิ่นยากมากขึ้น เพราะมีตัวอย่าง เป็นสัญญาณอันตรายในอนาคต
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นิธิ เอียวศรีวงศ์
2 เอกรินทร์ ต่วนศิริ