เปิดมุมคิด 'ธีรยุทธ บุญมี' กับภารกิจปฏิรูปประเทศไทย
เปิดมุมคิด 'ธีรยุทธ บุญมี' รีสตาร์ทปฏิรูปประเทศไทย เชื่อทบทวนข้อมูล-ความคิด-ข่าวสาร อย่างไร้อคติ ช่วยลดรุนเเรงได้ ระบุจะต้องเกิดจากความร่วมมือทุกฝ่าย โดยปชช.เป็นพลังนำ
ศ.ธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย นำเสนอมุมคิดในงานเเถลงข่าว 'Restart ประเทศไทย' ซึ่งจัดขึ้นโดย เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศโดยสันติของประชาชนไทย ณ โรงเเรมสุโกศล กรุงเทพฯ มีใจความดังนี้...
แรงบันดาลใจ (inspiration)
ผมได้ข้อสรุปทางการเมืองมานานแล้วว่า ความโลภอย่างไม่มีขีดจำกัด (unlimited greed) ความบ้าอำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดของนักการเมือง (unlimited arbitrary power) นำไปสู่การพังพินาศแบบสมบูรณ์ของประเทศ (absolute catastrophe)
โครงสร้างประเทศที่พังทลายแล้ว คือ ระบบพรรคการเมือง
โครงสร้างดุลอำนาจ 3 ฝ่าย ระบบตรวจสอบ โครงสร้างระบบราชการ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน กลุ่มธุรกิจ ข้าราชการ พังทลาย
โครงสร้างสุดท้ายที่กำลังพังทลายคือระบบคุณธรรมและศีลธรรม ลึก ๆ ผมไม่มีความหวังและไม่มีกำลังใจจะแก้ไข
ตั้งแต่กลางปี 2556 ผมตั้งข้อสังเกตว่า การชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาอาชีวะกลุ่มหนึ่งที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ มีลักษณะมั่นคง มีคำขวัญที่ชัดเจน คือ ปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งตรงประเด็นถูกต้องกว่าความคิดของพวกผู้ใหญ่ใน “การปฏิรูปกฎหมาย” ในปี 2540 และที่เรียกร้อง “ปฏิรูปการเมือง” ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยได้ผลและจะไม่ได้ผล
ต่อมาคนกรุงเทพฯ ทุกอาชีพและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศหลายล้านคน รวมทั้งชาวบ้านที่ออกมาบริจาคเงินให้ขบวนมวลมหาประชาชน สะท้อน “อาการทนไม่ไหว” กับการคอร์รัปชั่นที่ไม่มีขีดจำกัด บวกกับการใช้อำนาจแบบไม่มีขีดจำกัดของภาคการเมืองโดยเฉพาะระบอบทักษิณ และตกผลึกเป็นความคิด “การปฏิรูปประเทศ” โดยพลังประชาชนชัดเจนมากขึ้น
แง่คิด (reflection)
โดยส่วนตัวเกษียณราชการแล้ว ตั้งใจทำงานเป็นนักคิดนักวิชาการสังคมการเมือง ทั้งที่ลึก ๆ หมดหวังกับการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่แรงบันดาลใจนี้ทำให้คิดว่า น่าจะยอมเหนื่อยเพิ่มขึ้น ทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมผลักดันให้การปฏิรูปโดยประชาชนเป็นจริงมากขึ้น
มีประสบการณ์ชีวิตที่ควรเป็นแง่คิดกับสังคมไทยปัจจุบัน คือ
1. การทบทวนย่อยความรู้ ความคิด ข่าวสาร อย่างปราศจากอคติ จะช่วยแก้ปัญหาลดทอนความรุนแรงได้มาก เช่น ประเด็นการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นความต่างความคิดในระดับประชาชน (ไม่ใช่ระหว่างประชาชนกับกลุ่มผู้ครองอำนาจ) กลุ่มที่ต้องการจะใช้สิทธิของตนกับกลุ่มที่มองว่า การแก้ไขคอร์รัปชั่นใช้อำนาจบาตรใหญ่สำคัญกว่า ที่จริงข้ออ่อนทั้งสองกลุ่มที่ผ่านมาก็คือ ไม่ได้รักษาสิทธิ เคารพสิทธิของตนเอง ป้องกันไม่ให้นักการเมืองโกงมาทำลายบ้านเมือง ถ้าไม่ใช้อารมณ์เข้าใส่กันก็จะเลี่ยงความรุนแรงได้ และมองเห็นว่า ในอนาคตต่างต้องมีภารกิจในการแก้ปัญหาการโกงร่วมกัน (เช่นโครงการจำนำข้าว) อีกด้านหนึ่งการดูหมิ่นดูแคลนระหว่างคนรวย-คนจน ระหว่างท้องถิ่น เคยมีอยู่จริงแต่ลดลงไปมาก และหลายฝ่ายมากพยายามจะแก้ไขปัญหานี้อยู่
2. ประเทศไทยคงมีกรรม เพราะเคยมีกระแสการปฏิรูปมาหลายหน เช่น หลัง 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ก็วูบหายไป หรือเมื่อปี 2540 มีการปฏิรูปแต่ก็ตกหล่มปฏิรูปเฉพาะกฎหมาย จึงต้องมองว่า การปฏิรูปประเทศ
ก. ยาก เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะเนื้อหาการปฏิรูป (อะไรบ้าง) แต่เป็นเรื่องความมุ่งมั่นขจัดความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ซึ่งจะเจออุปสรรคการต่อต้านมากมาย ต้องมีทั้งพลังใจ อำนาจกฎหมาย อำนาจสนับสนุนทางสังคม ฯลฯ
ข. ยาวนาน หลายเรื่องต้องใช้เวลายาวนาน เช่น การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ วัฒนธรรมคนไทยก็มักไม่อดทน ด่วนตัดสิน หมดกำลังใจ ฯ
ค. ต้องลดอคติทางความคิดและวัฒนธรรม ที่คิดว่าชนชั้นนำหรือบุคคลที่มีชาติวุฒิ คุณวุฒิ ตำแหน่ง เป็นผู้มีความสามารถแก้ปัญหา หรืออคติในเรื่องการรวมศูนย์ทางสังคม วัฒนธรรม อยู่ที่กรุงเทพฯ ละเลยชาวบ้านและภูมิภาคท้องถิ่นต่าง ๆ เครือข่ายที่ได้ร่วมกันทำนี้จึงตั้งใจจะขยายไปยังชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ จังหวัดต่าง ๆ ให้กว้างขวางที่สุด
ง. เป็นศิลปะมากกว่าเป็นศาสตร์ จากประสบการณ์การปฏิรูปแบบเหวี่ยงแหหรือแบบเป็นงานประจำจะล้มเหลว ผู้ที่รับผิดชอบต้องมีความคิดริเริ่ม มีศิลปะที่จะเลือกงานปฏิรูปบางด้านให้สำเร็จ เป็นแรงบันดาลใจและได้รับแรงสนับสนุนจากสังคม
ปรัชญาหรือการนิยามตัวตน (self definition)
1. เครือข่ายนี้เป็นกลุ่มสนับสนุนในภาคสังคม-ประชาชน เป็นวงนอกมากกว่าจะเป็นผู้ไปดำเนินการปฏิรูปโดยตรง
2. การปฏิรูปต้องเกิดจากการร่วมมือของทุกฝ่าย แต่ถึงเวลาที่ภาคประชาชนจะต้องเป็นพลังนำได้แล้ว เนื่องจากเครือข่ายนี้ต้องการอุทิศตนรับใช้การปฏิรูปตามกำลังของแต่ละคน อาจเป็นด้วยแรงงาน กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา ประสบการณ์ ก็ได้ จึงเรียกตัวเองเป็นผู้สนับสนุน ข้ารับใช้สังคม (social servant) เพื่อให้เทียบเคียงกับคำข้าราชการ (public servant)
3. คาดว่าเครือข่ายนี้จะมีโครงงานสำคัญ ๆ คือ
ก. การต่อต้านคอร์รัปชั่น ประสานร่วมมือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอื่น ๆ
ข. เชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อหาแนวคิดการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำทุกด้านในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ
ค. สนับสนุนเครือข่ายปฏิบัติการปฏิรูปโดยประชาชนในระดับท้องถิ่น ชุมชน