ประกันสังคมยันไม่ปล่อยกู้ 1 แสนล.อุ้มจำนำข้าว
ประธานบอร์ด สปส. ยันไม่มีการติดต่อให้นำเงินกองทุนประกันสังคมใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าว ระบุติดต่อจริงก็ทำไม่ได้เหตุขัดกม. แจงรบ.ค้างจ่าย 7 หมื่นล้านไม่จริง โทษกรรมาธิการสภาตัดทิ้ง ‘วิไลวรรณ แซ่เตีย’ เตรียมยื่นป.ป.ช.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินผิดวัตถุประสงค์เพิ่ม
วันที่ 28 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) กว่า 50 คน รวมตัวประท้วงบริเวณหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายจิรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เพื่อคัดค้านแนวคิดการเตรียมนำเงินจากกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท ไปใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าว
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนประมาณ 12 ล้านคน มีเงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นเงินออมไว้ให้ยามชราภาพ ซึ่งเครือข่ายฯ กังวลหากรัฐบาลมีการกู้เงินไป 1 แสนล้านบาทจริง อนาคตใครจะรับผิดชอบ เพราะรัฐบาลปัจจุบันอยู่ในฐานะรักษาการ รวมถึงบอร์ด สปส. เองก็มิได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ทั้งนี้ ทราบข่าวว่ารัฐบาลเตรียมให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรค้ำประกันเพื่อมากู้เงิน ซึ่งแม้แต่วิธีการออกพันธบัตรที่กะทันหันเช่นนี้ เครือข่ายฯ ยิ่งไม่ไว้วางใจ เพราะเชื่อเหลือเกินว่า ปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวจะส่งผลต่อกองทุนประสังคม
“เวลาที่ต้องการให้มีการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม รัฐบาลกลับถีบกฎหมายของเราตกสภา นั่นแสดงว่า ได้มีการปฏิเสธผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนแล้ว แต่ถึงคราวต้องการเงินของผู้ประกันตนกลับมาเอา รัฐบาลไม่ละอายแก่ใจหรืออย่างไร” รองประธาน คสรท. กล่าว และว่า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะตีความเห็นชอบสามารถกู้เงินได้ แต่ในเมื่อเป็นเงินของพวกเราไม่ยอม รัฐบาลไปแล้วก็มา แต่ชีวิตของคนงานจะต้องจมอยู่ในกองทุนประกันสังคมตลอด ต่อให้รัฐบาลไปหยิบยืมเงินที่องค์กรใด ทุกคนก็ไม่ไว้วางใจ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ หายนะ
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา อาจมีการใช้จ่ายเงินในกองทุนประกันสังคมผิดวัตถุประสงค์ด้วย โดยเฉพาะในนโยบายของรัฐบาล เช่น การค้ามนุษย์ การปราบปรามยาเสพติด ฉะนั้นเครือข่ายฯ เตรียมเข้าปรึกษากับคณะกรรมการการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ผ่านมา
ท้ายที่สุด ฝากถึงร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) ให้ยุติแนวคิดการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้ เพราะหากยังเดินหน้าต่อไปจะส่งผลให้เกิดความไม่ชอบธรรมกับรัฐบาลอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 11.15 น. นายจิรศักดิ์ พร้อมด้วยนางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และข้าราชการระดับสูงได้ลงมาพบผู้ประท้วง โดยได้หารือกันราว 1 ชั่วโมง ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ นายจิรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ตนเองยังไม่เคยได้รับการติดต่อจากใครให้นำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว และถึงแม้จะมีการติดต่อมาจริงก็ไม่สามารถจะนำเงินไปใช้ได้ เพราะมีกฎหมายระบุชัดเจน อย่างไรก็ตาม หากจะให้ทำบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นเครื่องยืนยันนั้นคงไม่สามารถจะทำได้ แต่จะให้มีการออกหนังสือราชการซึ่งมีผลตามกฎหมายแทน แต่สำหรับวันนี้จะทำบันทึกการประชุมออกไปก่อน
ส่วนประเด็นรัฐบาลค้างจ่ายเงินกองทุนประกันสังคม 7 หมื่นล้านบาท ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ค้าง โดยบางครั้งรัฐบาลตั้งงบประมาณไปแล้ว แต่กลับไปถูกตัดในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นรัฐบาลไม่ได้ละเลย ถึงขนาดบางปีตั้งชดเชยให้อีก แต่สภาฯ กลับเห็นว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นเลยขอนำไปใช้ด้านอื่นก่อน
(จิรศักดิ์ สุคนธชาติ ประธานบอร์ด สปส.-อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม)
‘สปส.’ ร่อนแถลงการณ์แจงสื่อไม่ปล่อยกู้จำนำข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันเดียวกัน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีกู้เงินจากกองทุนประกันสังคมไปช่วยโครงการรับจำนำข้าว มีรายละเอียด ดังนี้
ณ สิ้นปี 2556 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวนประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย 90% ของเงินจำนวนนี้เป็นเงินออมของผู้ประกันตนจำนวนกว่า 11 ล้านคน ที่สำนักงานสะสมไว้รอจ่ายเป็นสิทธิประโยชน์บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ
เปรียบเทียบง่าย ๆ ได้ว่า กองทุนประกันสังคม คือ ‘กระปุกออมสิน’ ทำหน้าที่จัดเก็บเงินจากผู้ประกันตนที่ยังอยู่ในวัยทำงานและมีรายได้ นำมาสะสมไว้ก่อน เมื่อเจ้าของเงินเกษียณจากการทำงานและไม่มีรายได้แล้ว ก็จะได้รับเงินก้อนนี้กลับคืนไปเป็นบำเหน็จหรือบำนาญ
ในระหว่างที่เงินออมอยู่ใน ‘กระปุกออมสิน’ ทีมงานลงทุนของสำนักงานประกันสังคมก็มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องนำเงินออมทั้งหมดนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ดอกผล เงินก้อนนี้จะได้เติบโตขึ้นเพื่อช่วยรองรับภาระการจ่ายบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเจ้าของเงินเกษียณ
ในเงินลงทุนจำนวนกว่า 1.1 ล้านล้านบาท สำนักงานประกันสังคม นำไปลงทุนมีสัดส่วนคร่าว ๆ ดังนี้
-ตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรวิสาหกิจ หุ้นกู้เอกชน) 88%
-ตราสารทุน (หุ้น) 9%
-การลงทุนทางเลือก (กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน) 1%
-เงินฝากธนาคารและอื่น ๆ 2%
การลงทุนทั้งหมดอยู่ภายใต้ระเบียบการลงทุนที่เคร่งครัด ซึ่งกำหนดให้ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรมากกว่า 60% ลงทุนในหุ้นและทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงได้ไม่เกิน 40% ระเบียบแลแผนการลงทุนต้องได้รับอนุมัติจากบอร์ด สปส. ซึ่งเป็นตัวแทนเจ้าของเงิน ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน ฉะนั้นตามที่มีกระแสข่าวขอกู้เงินโดยตรงจากกองทุนเพื่อช่วยโครงการรับจำนำข้าว จึงไม่สามารถจะทำได้ตามระเบียบที่ใช้อยู่
"...ไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องการที่รัฐบาลจะขอกู้เงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว และเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อระเบียบการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งกำหนดให้ลงทุนในหุ้นและทรัพย์สินที่ไม่มีความเสี่ยง ทรัพย์สินที่มีความมั่นคงและหุ้น พันธบัตร และการอนุมัติเงินลงทุนจำนวนถึง 1 แสนล้านบาท จะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปส. และจนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้มีการประชุมกันเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะขอกู้เงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาทนำมาจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว" เเถลงการณ์ระบุ .
(ชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.)
(วิไลวรรณ เเซ่เตีย รองประธาน คสรท.)