คคปส.ค้านนำเงินประกันสังคมอุ้มจำนำข้าว จี้ขอคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษร
‘ชาลี ลอยสูง’ เตรียมนำคคปส.พบปลัดกระทรวงแรงงานยื่นหนังสือค้านนำเงินประกันสังคมช่วยจำนำข้าว 28 ม.ค. 57 จี้คำตอบลายลักษณ์อักษรเผยเเพร่ด่วน หวั่นองค์กรขาดเสถียรภาพ
สืบเนื่องจากเกิดกระแสข่าวรัฐบาลได้มอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รง.) หารือกับนายจิรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เตรียมนำเงินกองทุนประกันสังคม 1 แสนล้านบาท มาจ่ายชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เครือข่ายแรงงานคัดค้านปกป้องกองทุนประกันสังคม (คคปส.) ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าว
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ภายหลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คคปส.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ที่สำนักงานความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตลิ่งชัน แต่ปรากฏว่าท่านติดภารกิจที่ต่างจังหวัด เราจึงโทรศัพท์ไปเจรจาโดยนัดวันยื่นหนังสือใหม่ วันที่ 28 มกราคม 2557 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงแรงงาน
โดย คคปส.มองว่าการที่รัฐบาลจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้ในโครงการจำนำข้าวนั้น จะทำให้กองทุนอาจขาดเสถียรภาพ เพราะไม่แน่ใจว่าหากรัฐบาลนำเงินไปแล้วจะได้นำเงินมาคืนได้หรือไม่ ฉะนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจะต้องนำเงินมาจ่ายชาวนาด้วยวิธีการขายข้าวแทน
ประธาน คสรท. กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการยืนยันจากปลัดกระทรวงแรงงานเลยจะไม่มีการปล่อยกู้เงิน ฉะนั้นวันพรุ่งนี้จะต้องให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงออกมาพูดกับสาธารณชนให้ได้ว่าจะไม่มีนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้น โดยต้องออกเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคำยืนยันออกมาแล้ว เราก็ยังไม่ไว้วางใจอยู่ดี
เมื่อถามว่าปกติรัฐบาลสามารถมาขอกู้เงินกองทุนประกันสังคมได้หรือไม่ นายชาลี อธิบายว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์จะขอกู้เงินเช่นนี้ เพราะองค์กรเป็นไตรภาคีที่มีระบบระเบียบตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าการจะนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้นั้นได้ในกรณีใดบ้าง หรือกรณีแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น ลงทุนซื้อหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการต่าง ๆ ที่มีความมั่นคง หรือกรณีลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดล้วนต้องผ่านบอร์ด สปส. จากนั้นเมื่อมีมติเห็นชอบก็จะสามารถดำเนินการ
นอกจากนี้เงินในกองทุนประกันสังคมยังนำไปใช้จ่ายในส่วนของการบริหารจัดการองค์กรและสิทธิประโยชน์ของแรงงาน จึงยืนยันได้ว่ารัฐบาลไม่สามารถจะกู้เงินได้โดยตรงอยู่แล้ว แต่หากรัฐบาลจะนำเงินไปให้ได้จะต้องนำเงินในกองทุนประกันสังคมไปใช้ผ่านธนาคารเพื่อให้ปล่อยให้รัฐบาลกู้เพื่อออกเป็นพันธบัตร ซึ่งไม่ถือว่ามาโดยตรง
“การปล่อยให้รัฐบาลกู้นั้นจะต้องมีขั้นตอนอยู่ตามกฎหมาย แต่เรายังไม่ไว้ใจในขั้นตอนดังกล่าว โดยเชื่อว่าคนมีอำนาจอาจจะใช้วิธีลัดทางด่วนได้ เพราะเราไม่รู้ว่าภายในนั้นได้หารือร่วมกันอย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องออกมาเฝ้าระวังในฐานะที่เป็นเจ้าของเงิน” ประธาน คสรท. ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คคปส. ออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยให้เหตุผล 5 ข้อ ดังนี้ 1.การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมเช่นนี้ ยิ่งทำให้กองทุนประกันสังคมขาดความเป็นอิสระ ไม่มีการถ่วงดุล ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีความโปร่งใส และทำให้เกิดปัญหาเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน
2. อำนาจการตัดสินใจในการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ ขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของ บอร์ด สปส. แต่ที่ผ่านมาการได้มาซึ่งบอร์ด สปส.มีความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด โอกาสที่จะนำเงินไปใช้จ่ายแบบไม่โปร่งใสก็จะมีสูง และยิ่งเป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น
3. เงินกองทุนประกันสังคมเป็นเงินของผู้ประกันตน รวม 12,433,412 คน แต่การตัดสินใจต่าง ๆ ผู้ประกันตนไม่เคยได้รับรู้ข้อมูล ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และขอประชามติจากผู้ประกันตน กล่าวได้ว่าสำนักงานประกันสังคมเป็นสำนักงานที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนมากที่สุด
4. ในปี 2557 เป็นปีแรกที่ต้องมีการจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 126,110 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,270 ล้านบาท และในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นในปีต่อ ๆ มา ดังนั้นการที่รัฐบาลยิ่งนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้และอาจไม่ได้คืนกลับมา ยิ่งจะสร้างความเสียหายและสร้างความเสี่ยงต่อการทำให้กองทุนอาจล้มได้ในอนาคต และไม่สามารถจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างครบถ้วน
5. กองทุนประกันสังคมมาจากการสมทบเงิน 3 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง นายจ้าง รัฐบาล อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2553-2556 รัฐบาลได้ค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมกว่า 63,200 ล้านบาทเศษ และจนบัดนี้รัฐบาลยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ยิ่งเป็นการสะท้อนถึงการให้อำนาจบุคคลเพียงบางคน บางกลุ่มในการนำเงินของผู้ประกันตนไปใช้ โดยขาดความรอบคอบและความโปร่งใสอย่างแท้จริง ทั้งที่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงินกลับไม่มีส่วนตัดสินใจ แต่กลับต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเพียงฝ่ายเดียว .