การเมืองเรื่องข้าว 'อภิชัย พันธเสน' วิพากษ์ปัญหาควรจบตั้งแต่ยุค 'ป๋าเปรม'
“ เรื่องธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน รัฐบาลนี้ไม่เคยสนใจ เขาสนใจแต่เรื่องฉาบฉวย ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ รู้หรือไม่รู้ แต่ปัญหาคือจะโกงหรือไม่โกงต่างหาก”
จากสถานการณ์ที่รัฐบาลกำลังอยู่ในอาการ 'ถังแตก' ค้างจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาที่เข้าโครงการจำนำข้าว ส่งผลให้ชาวนาในหลายจังหวัดรวมตัวกันปิดถนนจนกลายเป็นข่าวรายวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ติดต่อกันนั้น
การเมืองเรื่องข้าวได้ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดในยุคนี้ สำนักข่าวอิศรา พาไปพูดคุยกับ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท ผู้มองเห็นปัญหานี้มานานกว่า 26 ปีแล้ว
เริ่มต้น ศ.ดร.อภิชัย ย้อนประวัติศาสตร์เพื่อฉายภาพตั้งแต่สมัยยังเป็นระบบศักดินาแบบรวมศูนย์ คือ คนที่อำนาจมากที่สุดคือพระเจ้าแผ่นดิน และอาชีพชาวนาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ด้วยเพราะพระเจ้าแผ่นดินแบ่งที่ให้คนทำนาแล้วให้ผลตอบแทนเป็นข้าวที่ปลูก
ไล่มาถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศแพ้สงครามมีการส่งออกข้าวขายยังต่างประเทศ และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ชาวนาไทยร่ำรวยมาก นั่นก็คือ ยุคหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษดากร ที่มีการปล่อยการค้าข้าวเป็นระบบเสรี ถือเป็นยุคที่ชาวนาร่ำรวยมากสามารถที่จะซื้อรถฟอร์ดในยุคนั้นมาขับได้เลยทีเดียว
แต่หลังจากนั้นนโยบายของรัฐบาลในยุคหลังๆ ศ.ดร.อภิชัย ชี้ว่า เริ่มทำให้ชาวนาไทยยากจนลงเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่เสกสรร ประเสริฐกุล นำขบวนสามประสานออกมาต่อต้านนายทุนขูดรีด ซึ่งขณะนั้นเรามองว่า ชาวนาจะได้ประโยชน์ แต่กลายเป็นว่า ชาวนายิ่งเดือดร้อน เพราะช่วงเวลานั้นมีแกนนำชาวนาตายไป 40-50 คน อีกทั้งยังพบว่า ผู้ที่ผูกขาดระบบข้าวของเราจริงๆ คือ ผู้ส่งออกและโรงสีขนาดใหญ่
“แม้ในระหว่างทางจะมีนวัตกรรมเกิดขึ้น แต่ชาวนาส่วนใหญ่ยิ่งทำนาก็ยิ่งขาดทุน ยิ่งยุคปฏิวัติเขียวที่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลง พอทำแล้วขาดทุนในที่สุดชาวนาก็ขายที่ จึงทำให้ตอนนี้มีชาวนา 80% ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง”
ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคของการพัฒนาประเทศ จากที่คิดว่า น่าจะทำให้รายได้ชาวนานั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั้น กลับพบว่า จากชาวนาที่เคยลงมือลงแรงบ่มเพาะต้นกล้าจนเก็บเกี่ยวได้เอง ปัจจุบันนี้ชาวนาปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี กลายเป็น "ชาวนามือถือ" ที่อยากได้อะไรก็สั่ง
ตั้งแต่จ้างคนมาไถ่ จ้างคนมาหว่าน เมื่อต้องดูแลก็พึ่งพาปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เมื่อต้นข้าวออกรวงเป็นสีเขียว ก็เตรียมเก็บเกี่ยวทันที ซึ่งในอดีตกำหนดค่าความชื้นของข้าวไว้ที่ 5% แต่ในปัจจุบันกำหนดไว้สูงถึง 30%
จากมาตรฐานเดิมของชาวนาที่หลังเก็บเกี่ยวเสร็จต้องตากข้าวไว้ก่อน กลายเป็นว่า เมื่อรวงข้าวเขียวก็เรียกรถเกี่ยวมาดำเนินการในทันที ซึ่งการทำนาในลักษณะนี้ส่งผลให้คุณภาพตกต่ำ
มาถึงการออกนโยบายการรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ทำให้มีชาวนาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากใครๆ ต่างก็อยากได้เงินจากโครงการรับจำนำด้วยเหตุผลที่ว่า ชาวนาทำนาต้นทุนสูงคือตกไร่ละ 8,000 บาท ถ้าเข้าโครงการก็ได้กำไรค่อนข้างเยอะ
ทั้งๆที่ "ฝนแล้งเกินไป น้ำมากเกินไป และปัญหาโรคแมลง" คือปัญหาและความเสี่ยงของชาวนาไทย
ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท วิเคราะห์ถึงเหตุที่ชาวนาไทย ยังต้องปลูกข้าวกัน เพราะข้าวเปรียบเสมือน "เครดิต" สามารถใช้เป็นเครดิตในการกู้ยืมเงินมาได้
"เวลานี้สิ่งที่รัฐบาลใช้อยู่คือทำให้ชาวนาติดใจในนโยบายประชานิยม และในบางครั้งชาวนาไม่ได้เข้าถึงข่าวสาร ซึ่งเรื่องข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำอย่างไรให้ชาวนาไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน”
สำหรับเรื่องการเมืองที่เข้ามาเชื่อมโยงกับข้าวนั้น ดร.อภิชัย ยกตัวอย่างเรื่อง "เขื่อนชัยนาท" ที่จะสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คือดัชต์เก่งเรื่องการสร้างเขื่อนเขาเสนอให้สร้าง แต่ที่ปรึกษาของเราคืออังกฤษไม่ให้สร้าง เพราะไม่ต้องการให้ดัชต์เข้ามามีอิทธิพล
"การที่ไม่มีเขื่อนก็ทำให้ชาวนาชั้นกลางไม่เกิด ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็เป็นพวกขุนนางพากันจองที่ไว้ที่รังสิต ซึ่งวิธีการหากินของเหล่าขุนนางคือขุดคลองแล้วจองที่ วิธีการคือให้คนไม่มีที่ไปถางป่าแล้วเก็บค่าเช่า พวกขุนนางพวกนี้กลัวว่า การเปิดเขื่อนชัยนาทจะมีพื้นที่ใหม่แล้วกลุ่มชาวนาจะหนีไปเลยไม่ต้องการให้สร้าง กว่าจะมาสร้างได้ก็สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การเมืองจะเป็นแบบนี้ตลอด"
"ความจริงปัญหาเรื่องข้าวเราน่าจะจบไปตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เห็นช่องทางคือในช่วงแรกราคาในตลาดโลกจะไล่เลี่ยกัน นโยบายอาจจะมีการโกงบ้างแต่ไม่มาก
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือในช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ มีการเปิดบริษัทเพรสซิเด้น หรือสยามอินดิก้าในปัจจุบันที่ซื้อข้าวแพงกว่าราคาตลาดประมาณ 2,000 บาท แล้วนำไปขายในตลาดโลกได้ยกราคาขึ้น ซึ่งเขาสามารถทำได้จริงเนื่องจากขณะนั้นราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น
พอมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับนำเอานโยบายนี้มาใช้ เพื่อดึงคะแนนเสียงชาวนา
ทักษิณถึงแม้เขาจะฉลาด แต่เขากลับเป็นคนที่รู้ไม่จริง เขาเข้าใจว่า ข้าวมีอยู่ไม่กี่ประเทศถ้าดึงราคาในตลาดบ้านเราขึ้นได้ก็สามารถจะขึ้นราคาในตลาดโลกได้ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ คือ ปริมาณข้าวทั่วโลกมีมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม พม่า คือใครๆ ก็ผลิตได้
จริงอยู่ที่ความต้องการซื้อข้าวยังมีอยู่มาก แต่ในความต้องการซื้อประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีเงินจะซื้อ เช่นประเทศแอฟริกา เป็นต้น
นโยบายจำนำข้าวคือสิ่งที่ทักษิณคิดผิด คิดผิดอีกอย่างคือสร้างโกดังมาเก็บข้าวเพราะคิดว่าข้าวเก็บได้อย่างน้อย 2-3 ปีต้องมีปีใดปีหนึ่งที่ฟลุกขายข้าวได้ ซึ่งผลที่ออกมาขณะนี้คือขายไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ โดยเฉพาะคุณภาพข้าวของไทยที่ดิ่งลงอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทุกวันนี้เน้นพยายามปลูกเข้าว่า ส่วนคุณภาพไม่มีใครสนใจอีกแล้ว”
สุดท้าย ดร.อภิชัย เชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ คงไม่คิดกลับตัวกลับใจ เพราะคิดอย่างเดียวคือทำอย่างไรที่จะหาเงินมาให้ชาวนาทันก่อนการเลือกตั้ง เขาคิดอย่างเดียวว่า ถ้าลากไปถึงเลือกตั้งแล้วชนะ แล้วปัญหาทั้งหมดจะควบคุมได้
"นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นนโยบายที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อ้างว่า เพื่อแก้ปัญหายกระดับให้กับชาวนานั้นก็เป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน เนื่องจากชาวนา80% เช่าที่เพื่อทำนา ฉะนั้นจะไปทำอะไรได้"
ขณะที่การแก้ปัญหาที่แท้จริงให้ถึงราก ประธานที่ปรึกษามูลนิธิบูรณะชนบท เห็นว่า ต้องปฏิวัติการเกษตรของไทย ทำเรื่องเกษตรทางเลือก เช่นพวกครูที่เกษียณก่อนอายุราชการแล้วไปซื้อที่ดินศึกษาเรื่องเกษตรทางเลือก เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งต่อไปชาวนาไทยก็จะเป็นกลุ่มคนพวกนี้ หรืออีกพวกหนึ่งคือเป็นพวกลูกหลานชาวนาที่มีฐานะดีแล้วไม่อยากรับราชการ ชอบชีวิตชนบท ฉะนั้นการทำนาโดยใช้ความรู้ ต้นทุนก็ต่ำ และไม่ต้องทำตลอดเวลา
"ต่อไปคนที่จะปลูกข้าว คือ คนพวกนี้คือเหล่าข้าราชการวัยเกษียณ และไม่เดือดร้อนเพราะมีเงินเดือนอยู่แล้วส่วนหนึ่ง จะเหมือนชาวนาญี่ปุ่นที่ขับรถเบนซ์มาดำนา ปลูกข้าว แต่ว่าญี่ปุ่นเป็นคนละแบบ เนื่องจากเป็นประเทศอุตสาหกรรมและเขามีความพยายามอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวไว้"
สุดท้าย ดร.อภิชัย เสนอแนะว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องชาวนาอย่างจริงจัง ต้องไม่ใช่การยกระดับ 'กรมการข้าว' ขึ้นเป็นกระทรวง ปัญหาคือคนในกระทรวงเกษตรส่วนใหญ่เป็นพวกนักวิชาการเกษตรเน้นดูแต่เรื่องเทคนิคการผลิต แต่กลับไม่เข้าใจข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจและมองข้าม
ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดวันนี้คือต้องทำให้ชาวนามีที่ดินเป็นของตนเองก่อน อาจไม่ต้องมีมาก นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ประเมินว่าแค่ 2 ไร่ก็พอแล้ว ก็พอจะอยู่ได้ ถ้าชาวนามีที่ดินเป็นของตนเอง เขาก็จะสามารถทำเกษตรผสมผสานได้
“รวมไปถึงเรื่องที่สำคัญ คือ เรื่องธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่เคยสนใจเลย เขาสนใจแต่เรื่องที่ฉาบฉวย ปัญหาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาว่า รู้หรือไม่รู้ แต่ปัญหาคือจะโกงหรือไม่โกงต่างหาก”